โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ศิลปะของการปฏิเสธ - หมอเอิ้น พิยะดา

THINK TODAY

อัพเดต 22 ม.ค. 2562 เวลา 05.00 น. • เผยแพร่ 22 ม.ค. 2562 เวลา 04.19 น. • หมอเอิ้น พิยะดา

คุณรู้สึกอย่างไรเวลาที่ต้องปฏิเสธใครสักคน? บางคนอาจรู้สึกว่ามันง่ายดายมาก (แต่เราเคยเช็คความสัมพันธ์หลังจากนั้นหรือไม่) บางคนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยากเย็นเหลือหลาย (เพราะกลัวผลที่จะตามมาหลังจากการปฏิเสธโดยเฉพาะเรื่องการเสียความสัมพันธ์ ข้อนี้บางคนรู้ตัวบางคนไม่รู้ตัว)

คุณรู้สึกอย่างไรเวลาที่ถูกปฏิเสธ? บางคนรู้สึกดีที่อีกฝ่ายกล้าพูด แต่หลายคนก็รู้สึกไม่ดีกับคนที่ปฏิเสธเรา ถ้าเปรียบการปฏิเสธเป็นคนคนนึง ก็คงจะเป็นคนที่ไม่มีใครอยากจะคบสักเท่าไร แต่ชีวิตที่ไม่มีการปฏิเสธเลยก็พยากรณ์ได้เลยว่าคงเป็นชีวิตที่ทั้งหนักและเหนื่อยเพราะต้องแบกรับอะไรมากมายที่คนอื่นนำมามอบให้

ข้อดีของการปฏิเสธคือ การทำให้ชีวิตมีทางเลือกมากขึ้น การที่งานอาจมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการที่เราไม่ต้องทำในสิ่งที่ไม่ถนัดหรือเกินกำลังจนเกินไป การที่เรามีเวลาทำสิ่งที่ควรทำมากขึ้น การที่ชีวิตมีโอกาสสมดุลมากขึ้น เป็นต้น และที่สำคัญเราอาจมีความสุขมากขึ้นจากการเป็นตัวของตัวเอง    

ดังนั้นอาจพูดได้ว่า การที่เรารู้จักปฏิเสธก็เป็นหนทางที่ทำให้เรามีความสุขและประสบความสำเร็จได้อย่างหนึ่ง แต่จะปฏิเสธอย่างไรให้สายสัมพันธ์ไม่เสียหายและเราได้เข้าใจกันมากขึ้น อาจจะต้องเริ่มจาก

         1. มีทัศนะคติที่ดีกับการปฏิเสธ (Mindset) : การที่ไม่ชอบหรือไม่กล้าปฏิเสธนั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะลึกๆแล้วเราทุกคนต้องการ การยอมรับจากผู้อื่น การปฏิเสธจึงเป็นจำเลยของความกลัวว่าคนอื่นจะไม่ยอมรับเรา ให้เรากลับมาตระหนักใหม่ว่า การไม่ยอมรับกับการปฏิเสธนั้นเป็นคนละเรื่องกัน*

         2. ตรวจสอบแรงผลักดันในการปฏิเสธของเราให้ชัดเจน (Drive) : เช่น หัวหน้าของเอิ้นเคยมอบหมายให้หมอเป็นประธานในการตรวจสอบอาคารแทน ทั้งที่การก่อสร้างได้เริ่มไปแล้วมากกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ และเราไม่ได้ดูแลโครงการนี้ตั้งแต่แรกด้วยเหตุผลที่ว่า ตำแหน่งของเราสูงกว่าคนอื่น  ที่มีประสบการณ์มากกว่าทีม 

          แรงขับในการปฏิเสธคือ ความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ปลอดภัยกับตัวเอง ในแง่ความถูกต้องที่มารับงานกลางคันและไม่อยู่ในทีมตั้งแต่แรกไม่ปลอดภัยกับคนอื่น เพราะเราไม่มีความรู้เรื่องการตรวจสอบงานก่อสร้างเลย ดังนั้นแรงผลักดันนี้ชัดเจนและสมเหตุสมผล

          3. กล่าวปฏิเสธอย่างมีสติ (Action) : เนื่องจากการปฏิเสธเป็นการกล่าวที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร ดังนั้นก่อนที่เราจะกล่าวปฏิเสธใคร อย่างน้อยเราควรเป็นภาวะที่ผ่อนคลายและเป็นเหตุเป็นผล ใช้ถ้อยคำที่สั้น กระชับและชัดเจน แต่นุ่มนวล เช่น ขอบคุณหัวหน้าที่วางใจมอบงานสำคัญให้ (ปรับบรรยายกาศการสนทนาให้เป็นบวก) 

          แต่ต้องขอโทษหัวหน้าด้วย ที่ต้องขอไม่รับงานนี้ ( ขอโทษเพราะใครอีกคนกำลังต้องผิดหวัง) เพราะงานนี้สำคัญกับความปลอดภัยทั้งขององค์กรในแง่การถูกตรวจสอบ และความปลอดภัยของคนที่เข้าใช้อาคาร เอิ้นจึงไม่อยากให้เกิดความผิดพลาดและเอิ้นมองแล้วว่าในทีมมีคนที่มีความรู้ความสามารถมากกว่าอยู่

          4. จบให้ยอมรับและเข้าใจกัน (Acceptance and Understand) : การปฏิเสธของเราในครั้งนั้นจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าสุดท้ายแล้วลงท้ายด้วยความบาดหมาง ดังนั้นหลังจากที่เราตัดสินใจกล่าวการปฏิเสธไปแล้วเราควรโอบอุ้มความรู้สึกของฝ่ายที่ถูกปฏิเสธด้วย เราโอบอุ้มความรู้สึกได้ด้วยการถามสะท้อนความรู้สึก และสร้างทางเลือกให้ในแบบที่เราทำได้ เช่น หัวหน้าคิดอย่างไรบ้าง มีอะไรที่เอิ้นพอช่วยได้อีกมั้ยนอกจากการรับหน้าที่นี้  

เพราะเวลาในชีวิตของพวกเราทุกคนนั้นช่างมีคุณค่านัก การปฏิเสธนอกจากจะทำให้เวลาของทุกคนมีมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เราได้รู้จักขอบเขตของตัวเองและผู้อื่นชัดเจนขึ้น แล้วเราก็จะรู้จักกันและกันมากขึ้น แค่ปฏิเสธทั้งทีต้องมีศิลปะในการปฏิเสธเท่านั้นเอง

หมอเอิ้น พิยะดา

Unlocking Happiness

จิตแพทย์/นักแต่งเพลง/วิทยาการสื่อสารเพื่อความสุขและสำเร็จ

Page FB ดีต่อใจ โดย หมอเอิ้น พิยะดา : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10156783544953550&id=306538978549

----------------------------------------------------------------------------

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCUkLOuK0DwOyIsb6ho8G_ew

----------------------------------------------------------------------------

IG : https://www.instagram.com/earnpiyada/

----------------------------------------------------------------------------

Website : http://www.earnpiyada.com/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0