โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศาลโลกสั่งเมียนมาใช้ทุกมาตรการปกป้องชาวโรฮิงญา พร้อมรายงานผลกลับมาภายใน 4 เดือน

The Momentum

อัพเดต 24 ม.ค. 2563 เวลา 05.13 น. • เผยแพร่ 24 ม.ค. 2563 เวลา 00.11 น. • THE MOMENTUM TEAM

ในปี 2017 ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของประเทศเมียนมาถูกทหารเมียนมาและกลุ่มติดอาวุธไล่ฆ่า เผาบ้าน ข่มขืน จนทำให้ชาวโรฮิงญาอพยพเข้าไปอาศัยอยู่ในบังกลาเทศกว่า 740,00 คน ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนปี 2019 แกมเบีย ในนามของ องค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ได้ยื่นฟ้องศาลโลกว่าเมียนมาละเมิดอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ ซึ่งได้ทำไว้กับสหประชาชาติ

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2020 ผู้พิพากษาทั้ง 17 คนของศาลโลกมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เมียนมาออกมาตรการโดยเร็วที่สุด เพื่อปกป้องชาวโรฮิงญาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยรัฐบาลเมียนมาต้องมารายงานผลการดำเนินการภายใน 4 เดือน หลังจากนั้น ต้องใช้อิทธิพลควบคุมไม่ให้ทหารและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจชาวโรฮิงญาและต้องส่งรายงานกลับมาทุก 6 เดือน จนกว่าคดีจะสิ้นสุดซึ่งอาจใช้เวลาอีกหลายปี อย่างไรก็ตาม ศาลโลกไม่มีอำนาจในการบังคับให้เมียนมาปฏิบัติตามคำตัดสินดังกล่าว 

ศาลกล่าวว่า “ชาวโรฮิงญากำลังเผชิญกับภัยคุกคามและรัฐบาลเมียนมาต้องปกป้องพวกเขา มาตรการเฉพาะหน้านี้เป็นไปเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาที่ยังตกอยู่ในความเสี่ยง” 

อับดุลกาวี อาห์เม็ก ยูซุฟ องค์ประธานผู้พิพากษาในคดีนี้ กล่าวว่า “เมียนมาได้ทำในสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับชาวโรฮิงญาแล้ว” อย่างไรก็ตาม เขาเน้นว่าคำสั่งเรื่องมาตรการเฉพาะหน้านี้ไม่ใช่การตัดสินล่วงหน้าแล้วว่าคดีจะเป็นไปในทิศทางไหน และไม่ได้หมายความว่าศาลตัดสินตามคำร้องขอของแกมเบีย นอกจากนี้ ยูซุฟยังระบุด้วยว่า ศาลไม่พอใจกับความพยายามของเมียนมาที่จะพยายามนำชาวโรฮิงญา ซึ่งหนีมาอยู่ที่บังกลาเทศกลับบ้านเกิด เพื่อโปรโมทสันติภาพ ความมั่นคงและความสมานฉันท์ของชาติพันธุ์ในรัฐยะไข่

ทั้งนี้ ทางการเมียนมายืนยันตลอดว่า กองทัพใช้กำลังเพราะต้องจัดการกับกลุ่มติดอาวุธที่เป็นภัยคุกคามในรัฐยะไข่ ไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่ชาวโรฮิงญา ทางด้านอองซาน ซูจีกล่าวในระหว่างการไต่สวนเมื่อเดือนธันวาคม 2019 ว่า กลุ่มติดอาวุธสร้างความรุนแรงทำให้ ซึ่งเป็นเหตุมาจากการที่ทหารโรฮิงญาโจมตีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐบาล นอกจากนี้ ระหว่างการไต่สวนซูจียังได้ขอให้ศาลโลกยุติการพิจารณาคดี เนื่องจากกระบวนการที่ไม่สมบูรณ์และไม่ถูกต้อง

นักกฎหมายต่างออกมาชื่นชมการตัดสินครั้งนี้ของศาลโลก โดยรีด โบรดี คณะกรรมการนิติศาสตร์สากลได้กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “ยังมีอะไรต้องทำอีกมากกว่าที่คำสั่งนี้จะเห็นผลและอีกมากกว่าชาวโรฮิงญาจะได้รับคุณภาพชีวิที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามวันนี้พวกเขา (เมียนมา) ก็ได้รับรู้ถึงรสสัมผัสแรกของความยุติธรรมแล้ว” 

รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของแกมเบียยินดีกับคำสั่งนี้และบอกว่าเป็นชัยชนะของความยุติธรรมระหว่างประเทศ ส่วนรัฐบาลเมียนมายังไม่ออกมาแสดงความเห็นใดๆ 

โมฮัมมัด นัวร์ ชาวโรฮิงญาที่หลบหนีเข้าไปอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพในบังกลาเทศ โห่รองยินดีร่วมกับเพื่อนขณะที่นั่งดูศาลอ่านคำตัดสินผ่านหน้าจอโทรศัพท์ เขากล่าวว่า “เป็นครั้งแรกที่พวกเราได้รับความยุติธรรม มันเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สำหรับชาวโรฮิงญาทุกคน” อย่างไรก็ตาม ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในเมียนมายังคงเรียกร้องการปกป้อง และหวังว่ารัฐบาลเมียนมาจะควบคุมสถานการณ์ภายในให้ดีขึ้น  

 

ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2020/01/icj-orders-myanmar-steps-protect-rohingya-200120121659438.html

https://www.bbc.com/news/world-asia-51221029

https://www.reuters.com/article/us-myanmar-rohingya-world-court/world-court-orders-myanmar-t

.o-take-steps-to-protect-rohingya-idUSKBN1ZM00H

 

ภาพ: STR / AFP

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0