โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศาลแพ่ง ยกฟ้อง “ประยุทธ์” ไม่ละเมิดสิทธิออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมคัดกรองสกัดโควิด

SpringNews

เผยแพร่ 04 เม.ย. 2563 เวลา 06.11 น.
ศาลแพ่ง ยกฟ้อง “ประยุทธ์” ไม่ละเมิดสิทธิออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมคัดกรองสกัดโควิด

วันที่ 3 เม.ย. ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก มีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง คดีหมายเลขดำ พ.1864/2563 ที่นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์ อายุ 40 ปี คนไทยซึ่งพำนักอยู่ในเมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย ได้มอบอำนาจให้นายพศินทัศน์ สินโสภณเกษม เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในความผิดเรื่องละเมิด ต่อโจทก์ทำให้ได้รับความเสียหายที่ไม่สามารถกลับเข้าประเทศได้

จากการที่มีการออกข้อกำหนด ข้อ 3 การเปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ในการใช้ยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นอากาศยาน เรือรถยนต์ หรือพาหนะใด หรือในการใช้เส้นทางคมนาคมไม่ว่าทางอากาศ ทางน้ำ หรือทางบก เพื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ปิดช่องทางเข้า-ออก , ด่าน , จุดผ่านแดน หรือจุดผ่อนปรน ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อและกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง สำหรับผู้โดยสารหรือผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่ (6) เป็นผู้มีสัญชาติไทย ในกรณีเช่นนี้ให้ติดต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในประเทศที่พำนัก เพื่อออกหนังสือรับรอง หรือมีใบรับรองแพทย์และปฏิบัติตามวรรคสอง

โดยให้สถานทูตไทยและสถานกงสุลไทยในต่างประเทศให้ข้อมูล และอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสัญชาติไทยในการเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักร โดยข้อ 3 วรรคสอง ระบุ บุคคลซึ่งได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผันตาม (4), (5) หรือ (6) ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (Fit To Fly Health Certificate) ซึ่งได้รับการตรวจรับรองหรือออกให้มีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง และเมื่อเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดไว้ ในข้อ 11 โดยอนุโลม ซึ่งการออกข้อกำหนดดังกล่าว อาศัยความจากมาตรา 9 พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 1 ที่จำเลยประกาศ โดยคดีนี้ โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อกำหนด ข้อ 3 วรรคหนึ่ง (6) และวรรคสอง ที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ฉบับลงวันที่ 25 มี.ค.63 ให้เหลือข้อความเพียงว่า "เป็นผู้มีสัญชาติไทย" และ "บุคคลซึ่งได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผัน ตาม (4) หรือ (5) ต้องมีใบรับรองแพทย์ ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (Fit To Fly Health Certificate) ซึ่งได้รับการตรวจ" และขอให้ศาลพิพากษา ห้ามจำเลยหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ออกกฎหมายหรือแนวทางปฏิบัติที่มีลักษณะเดียวกับข้อ 3 วรรคหนึ่ง (6) และวรรคสอง

รวมทั้งห้ามออกกฎหมายหรือแนวทางปฏิบัติที่บังคับให้บุคคลสัญชาติไทยต้องแสดงเอกสารอื่นใดนอกจากหนังสือเดินทางในการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย หรือออกกฎหรือคำสั่งใดๆ อันมีลักษณะห้ามบุคคลสัญชาติไทยเดินทางกลับประเทศไทย หรือให้กลับประเทศไทยได้แต่ต้องได้รับอนุญาตก่อนและให้ศาลห้ามจำเลยหรือผู้ใต้บังคับบัญชาออกกฎหมาย หรือแนวทางปฏิบัติอื่นใด อันมีผลบังคับให้โจทก์และบุคคลสัญชาติไทยที่พำนักอยู่ในต่างประเทศต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในการเดินทางเข้าประเทศนอกเหนือไปจากการดำเนินการตามปกติ ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวออกตาม มาตรา 9, 11 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ซึ่งมาตรา 9 (4) ให้อำนาจ จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ ดังนั้นข้อกำหนดข้อ 3 (6) เป็นการออกข้อกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย

จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายที่จะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้นโจทก์ไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 55 (บัญญัติว่าเมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลบุคคลนั้น ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่ง และป.วิ.พ.นี้) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษาให้ยกฟ้อง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล คนไทยที่พำนักอยู่ประเทศไอร์แลนด์ ก่อนหน้านี้ ก็ได้เคยยื่นฟ้อง ผอ.กพท. , สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. (CAAT) ต่อศาลปกครองกลางด้วย เพื่อขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอน ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศ ที่ทำการบินมายังประเทศไทย ลงวันที่ 19 มี.ค.63 ซึ่งนายอาทิตย์ เห็นว่าส่วนหนึ่งมีเนื้อหาที่กำหนดในข้อ 4 ให้ผู้โดยสารที่มีสัญชาติไทยที่จะเดินทางเข้ามา จะต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมการเดินทาง (Fit to Fly) และข้อ 5 กำหนดว่า หากพบว่าผู้โดยสาร ไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามข้อ 3 (กำหนดให้เวลาที่ผู้โดยสารแสดงตัวออกบัตรเพื่อขึ้นเครื่อง Check in ให้ตรวจใบรับรอบแพทย์ ที่ออกโดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางซึ่งยืนยันว่ามีการตรวจผู้โดยสารแล้วไม่พบเชิ้อไวรัส COVID-19) หรือ ข้อ 4 ก็ให้ปฏิเสธการขึ้นเครื่องและงดการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) อันมีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพและสร้างภาระเกินสมควแก่ผู้ฟ้องในการเดินทางกลับมายังประเทศไทย รวมทั้งขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยทุเลาการบังคับตามประกาศดังกล่าว

แต่ศาลปกครองกลาง ก็มีคำสั่งไม่รับฟ้อง โดยเห็นว่า รายละเอียดของข้อกำหนดหลักเกณฑ์ของประกาศการบินพลเรือน มีลักษณะเดียวกันกับข้อกำหนด ข้อ 3 วรรคหนึ่ง (6) และวรรคสอง ซึ่งออกตาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) มาตรา 9 ที่ประกาศวันที่ 25 มี.ค.63 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 เป็นต้นไป โดยมาตรา 16 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้บัญญัติว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง การกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ข้อพิพาทตามคำฟ้องในคดีนี้ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0