โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศาลเปิดพิจารณาคดีเต็มรูปแบบ หลังเลื่อนคดีนาน 3 เดือนหลบโควิด

ไทยโพสต์

อัพเดต 01 มิ.ย. 2563 เวลา 13.03 น. • เผยแพร่ 01 มิ.ย. 2563 เวลา 13.03 น. • ไทยโพสต์

1 มิ.ย.63 - นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยข้อมูลสถิติคดีความผิดตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้รวบรวมสถิติคดีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังรัฐบาลออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

โดยภาพรวมสถิติคดีสะสมตั้งแต่วันที่ 1 - 31 พ.ค. 2563 มีจำนวนคดีที่เข้าสู่การพิจารณาในกลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง ทั้งหมด 14,727 คดี พิพากษาแล้วเสร็จ ทั้งหมด 14,176 คดี (คิดเป็นร้อยละ 96.26) จำนวนจำเลยที่ขึ้นสู่การพิจารณาทั้งหมด 21,113 คน ข้อหาที่มีการกระทำความผิดสูงสุด คือ ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จำนวน 20,736 คน ส่วนจังหวัดที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุดในการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,797 คน ส่วนในกลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว มีจำนวนคำร้องที่ขอตรวจสอบการจับ รวมทั้งสิ้น 813 คำร้อง จำนวนเยาวชนที่เข้าสู่การตรวจจับที่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด 891 คน ข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบจับกุมสูงสุด คือ ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  จำนวน 884 คน

นายสราวุธ กล่าวว่า ภายหลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเห็นได้ว่าสถิติคดีในกลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง ในเดือน เม.ย. ตลอดทั้งเดือนมีปริมาณคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาทั้งหมด 17,466 คดี เดือน พ.ค. จำนวน 14,727 คดี เมื่อนำมาเปรียบเทียบพบว่าสถิติคดีมีปริมาณลดลง 2,739 คดี ขณะที่ในส่วนของกลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว สถิติการจับกุมในเดือน เม.ย. มีจำนวน 1,262 คดี เดือน พ.ค. มีจำนวน 813 คดี เมื่อเปรียบเทียบทั้งสองเดือนพบว่าสถิติมีการลดลง จำนวน 449 คดี ซึ่งสาเหตุอาจเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และประชาชนเข้าใจในแนวทางปฏิบัติ เริ่มมีการปรับตัวให้อยู่กับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น พร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อย่างจริงจัง

สำหรับคดีที่มีการเลื่อนนัดพิจารณาคดีในช่วงเดือน มี.ค. - พ.ค. เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ขณะนี้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศมีความพร้อมที่จะเริ่มกลับมาพิจารณาคดีเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มิ.ย. 2563 โดยคณะอนุกรรมการศึกษาติดตามและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของศาลยุติธรรม ซึ่งมีนางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ได้กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดี และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งสถานที่และบุคลากรสำหรับการพิจารณาคดีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในเดือน มิ.ย. 2563 เช่น กำหนดให้คู่ความและผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องพิจารณาใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สวมหน้ากาอนามัยตลอดเวลา และให้อยู่ห่างจากบุคคลอื่นในระยะอย่างน้อย 1 - 1.5 เมตร หรือให้เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์จัดให้อยู่ในบริเวณที่เหมาะสม จัดให้มีจุดบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) เพื่อให้คู่ความหรือทนายความสามารถยื่นคำคู่ความหรือเอกสารใดๆ โดยที่มีเจ้าหน้าที่รับและมีระบบการติดตามทราบคำสั่งหรือความคืบหน้าของคดี

ศาลที่มีทางเดินรถภายในที่สะดวก กว้างขวาง อาจจัดให้มีการบริการ Drive Thru เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาติดต่อโดยไม่ต้องลงจากรถ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ที่เข้าไปในอาคาร สะดวกแก่การดูแลสุขอนามัยภายในศาล สำหรับการติดต่องานบริเวณจุดรับบริการหรือเคาน์เตอร์ระหว่างเจ้าหน้าที่ศาลกับผู้มาติดต่อราชการ กำหนดให้มีเส้นแบ่งหรืออุปกรณ์เพื่อการเว้นระยะห่างบุคคลอื่น (Social Distancing) และให้ศาลจัดเตรียมหน้ากากอนามัยสำรองไว้เพื่อให้บริการแก่คู่ความหรือผู้มาติดต่อราชการในกรณีที่ไม่ได้นำหน้ากากอนามัยติดตัวมาศาลด้วย

นอกจากนี้ ในการออกหมายและส่งหมายแจ้งวันนัดสำหรับคดีทุกประเภทให้ใช้ความระมัดระวัง และบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางและสถานที่ตามที่ได้ดำเนินการให้ละเอียดชัดเจน สำหรับคดีจัดการพิเศษที่รับฟ้องใหม่ ควรกำหนดนัดพิจารณาแบบเหลื่อมเวลา รวมถึงในกรณีออกหมายเรียกพยานบุคคลมาเบิกความที่ศาล ให้ระบุเวลาไว้ในหมายเรียกให้สอดคล้องกับเวลานัดหรือเวลาที่พยานจะต้องเข้าเบิกความ เพื่อลดระยะเวลาที่คู่ความ ทนายความ และผู้เกี่ยวข้องต้องรอการพิจารณาและลดความแออัดในห้องพิจารณา เป็นต้น

“ส่วนที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีมาตรการผ่อนปรนให้กิจกรรม/กิจการบางประเภทเปิดทำการเพิ่มเติมได้ (ผ่อนปรนเฟส 3) และให้การเดินทางข้ามจังหวัดภายใต้มาตรการที่ราชการกำหนด รวมถึงลดเวลาการออกนอกเคหสถานลง 1 ชั่วโมง เป็นเวลา 23:00 น.- 03:00 น.ของวันรุ่งขึ้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันนี้เป็นวันแรก ขอให้พี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการยึดหลักสาธารณสุขเป็นหลัก รวมถึงศึกษาข้อกำหนดของมาตรการการผ่อนปรนอย่างละเอียด เพื่อป้องกันการระบาดระลอกสอง หรือ second wave ที่อาจจะเกิดขึ้นเหมือนหลายๆ ประเทศ” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0