โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ศาลปกครองสูงสุด สั่งรัฐจ่าย ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ 12,000 ล้านบาท

TODAY

อัพเดต 22 เม.ย. 2562 เวลา 06.07 น. • เผยแพร่ 22 เม.ย. 2562 เวลา 05.47 น. • Workpoint News
ศาลปกครองสูงสุด สั่งรัฐจ่าย ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ 12,000 ล้านบาท

ศาลปกครองสูงสุด กลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น สั่งให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศ ทำตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ จ่ายเงินคืนบริษัทโฮปเวลล์พร้อมดอกเบี้ย 12,000 ล้านบาท ภายใน 180 วัน

วันที่ 22 เม.ย. ศาลปกครอง นัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีพิพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ระหว่าง บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กับ กระทรวงคมนาคม (ที่ 1) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ที่ 2)

เรื่องเดิมกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ร้องว่า คณะอนุญาโตตุลาการ มีคำชี้ขาดตามข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ให้ผู้ร้องทั้งสอง คืนเงินค่าตอบแทนและเงินอื่นให้แก่ บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด

โดยอ้างว่า ผู้ร้องทั้งสองบอกเลิกสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานครและการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) โดยไม่ชอบ ซึ่งผู้ร้องทั้งสอง เห็นว่า ข้อพิพาทดังกล่าวไม่อยู่ในขอบเขตของอนุญาโตตุลาการที่สามารถระงับข้อพิพาทได้ เนื่องจากมิใช่ข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญา ในการนี้สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดให้ผู้ร้องทราบตามหนังสือ ลงวันที่ 3 ต.ค. 2551

คดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2557 เคยมีคำพิพากษาถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2551  และเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ต.ค. 2551 และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2551 (ที่วินิจฉัยให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ชำระเงินคืนให้โฮปเวลล์ 11,888 ล้านบาท) และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดผู้ร้องทั้งสอง

ศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 โดยให้ผู้ร้องทั้งสอง ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่ผู้คัดค้าน

(ภาพจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

  • ย้อนอดีต "โครงการโฮปเวลล์"

วิกิพีเดีย ให้ข้อมูลไว้ว่า"โครงการโฮปเวลล์" หรือ โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร เป็นโครงการก่อสร้างถนน ทางรถไฟ และรถไฟฟ้ายกระดับ บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการโดยบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ในเครือโฮปเวลล์โฮลดิงส์ บริษัทสัญชาติฮ่องกง ของ นายกอร์ดอน วู

เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีการเปิดประมูลสัมปทานก่อสร้างทางยกระดับ เพื่อแก้ปัญหาการจราจร

มีการลงนามในสัญญาโดยนายมนตรี พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคกิจสังคม กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2533 อายุของสัมปทาน 30 ปี มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2534 – 5 ธ.ค.2542 ในระยะแรกใช้ชื่อโครงการว่า Railways Mass Transit (Community Train) and Urban Free System (RAMTUFS) ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี มีกำหนดแล้วเสร็จ 5 ธ.ค. 2542

การก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์เป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากประสบปัญหาในการส่งมอบพื้นที่บริเวณริมทางรถไฟ ประกอบกับเศรษฐกิจของไทยไม่เติบโตเท่าที่ควร เหมือนในช่วงแรกของรัฐบาลชาติชาย ทำให้แนวโน้มการลงทุนธุรกิจในอสังหาริมทรัพย์ซบเซาลง ปัญหาเรื่องจุดตัดกับโครงการถนนยกระดับวิภาวดีรังสิต (ดอนเมืองโทลล์เวย์) และการก่อสร้างล่าช้าจนอัตราคืบหน้าของงานไม่เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้กับรัฐบาล

ภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ได้เข้ามาตรวจสอบสัญญาสัมปทานทั้งหมดที่มีเงื่อนไขการผูกขาด โครงการโฮปเวลล์ เป็นโครงการหนึ่งที่ถูกตรวจสอบโดยนายนุกูล ประจวบเหมาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น และได้ประกาศล้มโครงการโฮปเวลล์ พร้อมกับโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน และจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร ขึ้นมาดำเนินการแทน เมื่อ พ.ศ. 2535

รัฐบาล ชวน หลีกภัย สมัยที่ 1 โครงการโฮปเวลล์ได้รับการผลักดันต่อโดย พ.อ.วินัย สมพงษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่ยังประสบปัญหาสำคัญคือ ปัญหาเรื่องเงินทุน แหล่งเงินกู้ หลักทรัพย์ค้ำประกันสัญญา และปัญหาเรื่องแบบก่อสร้าง ระยะห่างระหว่างรางรถไฟกับไหล่ทางมีน้อยเกินไปเพราะข้อจำกัดของพื้นที่ และไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยสากล

อย่างไรก็ตามประเด็นหลัก ที่โครงการไม่สามารถถูกดำเนินการไปต่อได้ เนื่องจากการที่ไม่มีการระบุไว้ในสัญญาว่าโครงการจะต้องแล้วเสร็จเมื่อใด เป็นผลให้บริษัทโฮปเวลล์ มีสิทธิ์อันชอบทำที่จะไม่ทำโครงการให้แล้วเสร็จ

ต่อมาในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2540 ให้ความเห็นชอบบอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ หลังจากบริษัทโฮปเวลล์หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2540

 

อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีโฮปเวลล์ (ฉบับเต็ม) คลิกที่นี่  

สรุปมติครม.ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ คลิกที่นี่

 

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0