โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศัลยา ประชาชาติ : "ผู้ดี" อังกฤษแขวนป้าย "ทารุณลิง" แบนกะทิไทย หวั่นลามอียู-สหรัฐ

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 12 ก.ค. 2563 เวลา 01.41 น. • เผยแพร่ 12 ก.ค. 2563 เวลา 01.41 น.
200704-01

หนึ่งในประเด็นดราม่าสุดร้อนแรงนาทีนี้คงหนีไม่พ้นกรณีการกล่าวหาประเทศไทยกระทำทารุณกรรมแรงงานลิงเก็บมะพร้าว

จากข้อมูลล่าสุดที่องค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม หรือ PETA ให้กับ BBC ไทยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา กล่าวหาว่ามีสวนมะพร้าวในประเทศไทยอย่างน้อย 8 แห่งปฏิบัติกับลิงไม่ต่างจาก “เครื่องเก็บมะพร้าว” โดยการจับลิงมาจากป่าแล้วนำมาฝึกฝนเพื่อเก็บมะพร้าวให้ได้ถึงวันละ 1,000 ลูก

พร้อมกันนี้ PETA ยังเรียกร้องให้ “คนดี” ทั้งหลายไม่สนับสนุนการใช้แรงงานลิงด้วยการให้ “เลิกซื้อ” ผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทย

ส่งผลให้มีซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในสหราชอาณาจักร ได้แก่ เวทโทรส, โอคาโด, โค-ออป และบู๊ทส์ ต่างขานรับข้อเรียกร้องของ PETA หยุดนำเข้าผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศไทยโดยสมัครใจ ครอบคลุมตั้งแต่มะพร้าว-น้ำมะพร้าว-น้ำมันมะพร้าว ไปจนกระทั่งถึงกะทิ

โดยทยอยนำผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยออกจากชั้นวางสินค้าอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ PETA ออกมารณรงค์ให้ผู้บริโภค “แบน” สินค้าไทย

ก่อนหน้านี้ได้เคยเกิดกรณีที่ PETA เรียกร้องให้มาเลเซียประกาศแบนนำเข้า “ปลากัดไทย” เมื่อเดือนธันวาคม 2562 โดยใช้คลิปวิดีโอเผยแพร่ข้อมูลกล่าวหาว่า ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลากัดในไทยเลี้ยงดูปลากัดในสภาพที่รับไม่ได้ ปล่อยให้นอนพะงาบๆ ในตะกร้าที่ไม่มีน้ำ ขณะที่รอการขนส่ง

โดยมีข้อน่าสังเกตว่า ข้อกล่าวหาของ PETA จะอาศัยคลิปวิดีโอเป็นสื่อในการเข้าถึงผู้บริโภค รวมทั้งการอาศัยช่องทางกระจายข่าวของสื่อมวลชน เพื่อทำการ “กดดัน” ให้ผู้นำเข้าหรือผู้จัดจำหน่ายหรือผู้บริโภคเลิกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการทารุณสัตว์โดยไม่มีการสอบสวนทวนความกับผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

ครั้งนี้ก็เช่นกันที่ PETA อาศัยวิธีการเดิมๆ ในการเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริโภคในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่มีความ “อ่อนไหว” เป็นพิเศษกับเรื่องราวการทารุณสัตว์

ตรงกันข้ามกับสังคมไทยที่ทันทีที่ข้อกล่าวหาของ PETA ในเรื่องลิงเก็บมะพร้าวปรากฏขึ้น “สังคมไทยต่างรับไม่ได้” เนื่องจากเป็นที่เข้าใจกันดีว่า ภาพการเลี้ยงลิงเก็บมะพร้าวเป็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่ถูกดำเนินการมาเป็นเวลาเนิ่นนาน ถึงกับมีโรงเรียนสอนลิงเก็บมะพร้าวขึ้นในภาคใต้

หากต่างชาติมองว่าการเลี้ยงลิงเก็บมะพร้าวเป็นเรื่องกระทำทารุณกรรมต่อสัตว์แล้ว กรณีที่สหภาพยุโรปเลี้ยงม้าเพื่อใช้ลากรถม้า หรือเลี้ยงหมูเพื่อไว้ใช้เก็บเห็ดทรัฟเฟิล รวมถึงการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำไปแสดงในคณะละครสัตว์ต่างๆ เรื่องเหล่านี้จะอธิบายกันอย่างไร

แน่นอนว่า ข้อกล่าวหาลิงเก็บมะพร้าวกระทบกับ “ภาพลักษณ์” และการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศไทยทันที จากข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศไทยมีการส่งออกมะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าวคิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท

เป็นการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐ (35%), ออสเตรเลีย (9%) และสหราชอาณาจักร (8%) จากผลผลิตมะพร้าวภายในประเทศประมาณปีละ 700,000 ตัน ซึ่งน้อยกว่าประเทศคู่แข่งที่ส่งออกมะพร้าวและผลิตภัณฑ์เหมือนๆ กับไทย คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่ไม่ถูก PETA กล่าวหาในกรณีเดียวกันนี้

ส่งผลให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งให้เรียกประชุมภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมข้อมูลชี้แจงผู้นำเข้า โดยมอบให้ “ทูตพาณิชย์” ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวกับผู้นำเข้า พร้อมเตรียมนำคณะเอกอัครราชทูตในประเทศผู้นำเข้าลงพื้นที่เพื่อจะได้ทราบขั้นตอนการเก็บมะพร้าวที่แท้จริงว่า การเลี้ยงลิงเพื่อเก็บมะพร้าวในไทยถือเป็นวิถีชีวิตของชุมชนอย่างไร

“ชาวบ้านเลี้ยงและดูแลลิงไม่ต่างจากลูกหลาน ไม่ได้มีการทารุณกรรมตามที่เป็นข่าว ส่วนภาพที่ปรากฏเป็นข่าวออกมานั้นเป็นความเข้าใจผิดจากการนำภาพโปรโมตการท่องเที่ยวไทยไปใช้ ทำให้คิดว่าเป็นการทารุณกรรมต่อลิง ซึ่งเราหวังว่า บรรดาทูตประเทศผู้นำเข้าเหล่านี้จะเข้าใจ”

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการแก้ข้อกล่าวหาโดยผ่านทูตพาณิชย์ หรือการเรียกทูตมาทำความเข้าใจ ดูเหมือนว่า “จะช้าเกินไป” เนื่องจากความเสียหายจากการ “ถอด” ผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยออกจากชั้นวางสินค้าเกิดขึ้นแล้ว

นางสาวชนัญชิดา บุรุษเลี่ยม ซีเนียร์เซลซูเปอร์ไวเซอร์ บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารเมอริท ผู้ผลิตกะทิสำเร็จรูปส่งออกอันดับ 3 ไปยังสหราชอาณาจักร กล่าวถึงกรณีนี้ว่า PETA โจมตีประเทศไทยคราวนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 และเป็นการสร้างมาตรการกีดกันทางการค้าโดยตรง

“ไทยต้องเริ่มพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าบ้าง เพราะหากปล่อยให้มีการใช้วิธีการแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็จะกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้าไทย”

กลายมาเป็นต้องแก้ข้อกล่าวหากันไม่มีที่สิ้นสุด จากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง โดยผู้กล่าวหาไม่ได้รับผิดชอบแต่อย่างใด

ในส่วนของบริษัทอาหารเมอริทไม่ได้รับการดำเนินการของรัฐบาล โดยบริษัทได้ชี้แจงและให้ข้อมูลกับผู้นำเข้าไปแล้วว่า สวนมะพร้าวของบริษัทปัจจุบันหันมาใช้แรงงานคนเก็บมะพร้าว ไม่ว่าจะเป็นแหล่งปลูก จ.ประจวบคีรีขันธ์ หรือ จ.สมุทรสาคร สามารถลงไปตรวจสอบได้ ทำให้คู่ค้าเข้าใจและ “ไม่ยกเลิกออร์เดอร์ของบริษัท”

ส่วนข้อมูลที่ระบุว่า ลิง 1 ตัวเก็บมะพร้าวได้ถึง 1,000 ลูก/วันนั้น ก็ไม่เป็นความจริงเลย เพราะลิง 1 ตัวเก็บมะพร้าวได้มากที่สุดแค่ 100 ลูกเท่านั้น หากจะให้ได้ปริมาณสูงขนาดนั้นต้องใช้ “คน” เก็บมะพร้าว ส่วนภาพที่นำมาใช้เป็นภาพข่าวประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวไทย ไม่ใช่ภาพลิงเก็บมะพร้าว

พร้อมกันนี้บริษัทได้รับการสอบถามจากผู้นำเข้าประเทศอื่นๆ อาทิ สหรัฐ ถึงกรณีดังกล่าวด้วย จนตอนนี้ในวงการผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยเกรงว่าเรื่องราวจะลุกลามบานปลายไปยังประเทศอื่นๆ

 

ด้านนายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงเหตุผลสำคัญที่ PETA ยกเรื่องนี้ขึ้นมา โดยบางส่วนมองเชื่อมโยงไปถึงกรณีที่ภริยาของนายกรัฐมนตรีอังกฤษเป็นนักอนุรักษ์หรือไม่ หรือเป็นเพื่อหวังผลทางการค้า

แน่นอนว่า ข่าวนี้อาจจะส่งผลเชิงจิตวิทยาต่อภาพลักษณ์มะพร้าวไทยในสายตาคู่ค้ามากกว่า ส่วนผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกมะพร้าวไปสหราชอาณาจักร แม้จะมีมูลค่าที่คิดเป็นสัดส่วนไม่มากนัก หากเทียบกับการส่งออกรวมก็ตาม

ประเด็นสำคัญคือ ในอนาคตมีโอกาสที่ประเทศคู่ค้าจะหยิบยกประเด็นเรื่องแรงงานเด็ก สตรี แรงงานผิดกฎหมาย หรือการจับสัตว์ทะเล หรือสิ่งแวดล้อม ขึ้นมาใช้เป็นเหตุผลในการใช้มาตรการทางการค้ากับประเทศไทยมากขึ้น

ดังนั้น ไทยต้องเตรียมแนวทางแก้ไขเชิงรับและเชิงรุก โดยสิ่งแรกที่ไทยควรทำคือ ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับคู่ค้า-ผู้นำเข้า

อีกด้านหนึ่ง ไทยต้องเตรียมมาตรการตอบโต้คู่ขนานไปด้วย หากพิจารณาถึงความเหมาะสมแล้วจำเป็นต้องใช้มาตรการตอบโต้สินค้านำเข้าจากสหราชอาณาจักร เช่น แอปเปิล องุ่น ไวน์ อาหารสแน็ก หรือเสื้อผ้าแบรนด์เนม ด้วยหรือไม่

และหากรุนแรงขั้นสุดท้าย ไทยอาจจะต้องพิจารณาเรียกร้องความยุติธรรมจากกลไกองค์การการค้าโลก (WTO)

 

สุดท้ายการวางมาตรการตอบโต้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถรักษาตลาดได้

“ประเทศไทย” ต้องพัฒนาตัวเองด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาสินค้าเกษตรในอนาคต ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาการกีดกันทางการค้าอย่างเดียว แต่ต้องรับมือปัญหาทั้งเรื่องการขาดแคลนแรงงาน และค่าแรงสูงที่เพิ่มขึ้นด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นจากดราม่านี้ไม่ใช่แค่เรื่อง “กะทิ” แต่ส่งผลในเชิงจิตวิทยากับผู้นำเข้าสินค้าไทยในตลาดอื่น และโจทย์ใหญ่ต่อไปคือ

ไทยจะรับมือมาตรการทางการค้าที่เกิดขึ้นอย่างไร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0