โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศัลยา ประชาชาติ : ธุรกิจผวา "ค่าแรง 400" SME อ่วม-ต่างชาติย้ายฐาน โจทย์หินรัฐบาล "ประยุทธ์ 2"

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 20 ก.ค. 2562 เวลา 22.21 น. • เผยแพร่ 20 ก.ค. 2562 เวลา 22.21 น.
ศัลยา 2031

ด้วยเสียงที่ปริ่มน้ำ ทำให้ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” รัฐบาลผสม 19 พรรค ถูกคาดการณ์ว่าจะอายุสั้น ประคองรัฐนาวาได้ไม่นานก็ต้องเลือกตั้งใหม่

สร้างแรงกดดันในการวางแผนกลยุทธ์และการวางนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ว่าต้องจัดเต็ม ทั้งนโยบายแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า นโยบายในระยะกลาง ระยะยาว และมองข้ามช็อตไปถึงการตุนคะแนนเสียงในสนามเลือกตั้งรอบต่อไปด้วย

แม้บางเรื่องจะกลายเป็นเผือกร้อน โดยเฉพาะ “นโยบายปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน”

 

ทันทีที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เผยผลการประชุมกับพรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค เพื่อร่างนโยบายรัฐบาลว่า ทิศทางของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคการเมืองชัดเจนว่าจะปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาททั่วประเทศ เสียงท้วงติงจากนายจ้าง ผู้ประกอบการก็ดังกระหึ่ม โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาพันธ์เอสเอ็มอี ฯลฯ เป็นหัวหอกออกโรงค้าน

เหตุผลสำคัญที่ภาคเอกชนเน้นย้ำคือ การปรับขึ้นค่าแรงงานวันละ 400 บาททั่วประเทศในอัตราเดียวกัน ไม่สอดคล้องกับระเบียบการปฏิบัติ ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งกำหนดว่าในการปรับขึ้นค่าแรงงานแต่ละครั้งจะต้องหารือกันระหว่างตัวแทน “ไตรภาคี” คือ ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และคนกลาง และต้องนำดัชนีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ดัชนีเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ฯลฯ มาใช้เป็นองค์ประกอบในการคำนวณ ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

เดิมทีคาดว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ แต่ยังไม่ทันจะได้หารือ รัฐบาลกลับตีปี๊บรวบรัดมัดมือชกเสียก่อน

ที่สำคัญยังประกาศค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ทั้งที่ต้องกำหนดตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ขณะเดียวกันเอกชนจะยอมรับเงื่อนไขปรับขึ้นค่าแรงได้ก็ต่อเมื่อต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับองค์กรด้วย

นอกจากนี้ ก่อนหน้าที่คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดได้ร่างโมเดลจะปรับขึ้นอัตรา 2-10 บาท ตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ เช่น จังหวัดที่ค่าครองชีพสูง อย่างกรุงเทพมหานครหรือภูเก็ต ขึ้นค่าแรง 10 บาท/วัน จังหวัดที่ฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรม อย่างสมุทรปราการ อาจปรับขึ้น 7 บาท ชลบุรี, ระยอง ปรับขึ้น 5 บาท

เสียงโอดครวญในทำนองหากรัฐบาลยืนยันจะปรับค่าแรงจะกระทบต้นทุนการผลิตทันที 10-20% และถือเป็นการซ้ำเติมภาคธุรกิจที่กำลังเผชิญมรสุมรอบด้าน ผลพวงจากการส่งออกชะลอตัวจากสงครามทางการค้า ค่าบาทแข็ง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก

 

“นายกลินท์ สารสิน” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงควรเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ต้องประชุมหารือไตรภาคีจังหวัด เพื่อพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัด คงเป็นไปไม่ได้ที่แต่ละจังหวัดจะปรับขึ้นในอัตราเดียวกัน หากปรับขึ้นโดยไม่ได้ประชุมหารือไตรภาคีจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสจะย้ายฐานการผลิตหรือการให้บริการไปต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น หรืออาจนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ทดแทนแรงงาน

ขณะเดียวกันสภาหอการค้าฯ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานด่วนเมื่อ 15 กรกฎาคม เพื่อวางแผนการดำเนินงาน โดยมีการหารือเกี่ยวกับปัญหาค่าแรง และกำหนดจัดการประชุมใหญ่วันที่ 19 กรกฎาคม เพื่อประเมินผลกระทบทั้งในส่วนของหอการค้าจังหวัด สมาคมการค้า สมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ และแนวทางการดำเนินการ เพราะหากมีการกำหนดนโยบายนี้ไว้ในนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภา จะเป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ส่งผลกระทบผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยว บริการ และกลุ่มเอสเอ็มอีจะกระทบหนัก

สอดคล้องกับที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ระบุว่าหากรัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท จะกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมทันที 10-20%

บริษัทที่สู้ไม่ไหวอาจลดคน หรืออาจหันไปใช้เครื่องจักรหรือนวัตกรรมต่างๆ แทน

ส่วนบริษัทต่างชาติคงพิจารณาทบทวนแผนการลงทุนในประเทศไทย หากนโยบายนี้ชัดเจนจะหยิบยกขึ้นหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ว่าต้องทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งหรือไม่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแนวทางดูแลผลกระทบนั้น ส.อ.ท.เคยหารือกับตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลทั้งพรรคพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์แล้วว่า การปรับขึ้นค่าแรงงานต้องเป็นไปตามทักษะฝีมือแรงงานเท่านั้น และขอให้ดำเนินตามแนวทางนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ หากจะปรับขึ้นค่าแรงจริงรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบส่วนต่างค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ผลักภาระให้เอกชน

ในมุมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด่านแรกที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบนั้น “นายแสงชัย ธีรกุลวานิช” เลขาธิการและประธานกรรมการสมาพันธ์ SME ไทยส่วนภูมิภาค สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ยอมรับว่าที่ผ่านมาเอสเอ็มอีถูกกระทบทั้งจากปัญหาการดิสรัปชั่นของเทคโนโลยี ซึ่งบางรายยังไม่สามารถปรับตัวได้ ต้องประคองตัว และประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอีก หากปรับขึ้นค่าแรงแบบเหมารวมโดยไม่จำแนกตามทักษะความสามารถหรือฝีมือการทำงาน จะทำให้เอสเอ็มอีซึ่งมีอยู่ 50,000 ราย มีการจ้างงานรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 500,000 คน ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนค่าแรงได้ กระทบถึงการจ้างงานและภาพรวมเศรษฐกิจ

สมาพันธ์จึงเตรียมสำรวจความเห็นผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงงานในกลุ่มเอสเอ็มอี 3,000-5,000 ราย ใน 3 ระดับ คือ ขนาดจิ๋ว (Micro) ขนาดเล็ก (Small) และขนาดกลาง (Medium) จากนั้นจะจัดทำรายงานผลเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 1-2 เดือนนี้

 

ที่น่าห่วงคือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้สถานการณ์การว่างงานที่เวลานี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นขยับพุ่งขึ้นอีก

โดยข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่า ช่วงตั้งแต่มกราคม-เมษายน 2562 มีผู้ประกันตนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 18,237 คน เพิ่มขึ้น 11.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้มีผู้ถูกเลิกจ้างในอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กิจการที่มีการเลิกจ้างจำนวนมาก ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์, อิเล็กทรอนิกส์, อุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์, การผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร และการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า

นอกจากผลกระทบอัตราว่างงงานเพิ่มแล้ว อีกด้านหนึ่งผู้ผลิตสินค้าก็อาจปรับราคาสินค้าให้สอดรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ท้ายที่สุด “ประชาชน” หนีไม่พ้นต้องแบกภาระ

ฉะนั้น ถึงนาทีนี้รัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ต้องเร่งแก้โจทย์ท้าทายปมค่าแรงขั้นต่ำให้จบแบบวิน-วินให้ได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0