โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"ศักดิ์สยาม"สั่งยกเลิกสร้างเกาะกลางถนนทั่วไทย

เดลินิวส์

อัพเดต 18 ส.ค. 2562 เวลา 23.31 น. • เผยแพร่ 18 ส.ค. 2562 เวลา 10.01 น. • Dailynews
 “ศักดิ์สยาม” มอบ ทช. ทำทางลอดสี่แยกชุมชนสวายจีก บุรีรัมย์ ชูเป็นโมเดลลดอุบัติเหตุถนนชุมชน สั่ง ทล.-ทช.ยกเลิกสร้างเกาะกลางถนนใหม่ทั่วไทย ใช้แบริเออร์ยางพารากั้นแทน

 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจบริเวณจุดกลับรถบนทางหลวงหมายเลข 226 กม.128+200 และ กม.129+100 พร้อมรับฟังปัญหาจากชาวบ้านชุมชนสวายจีก อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ว่า บริเวณดังกล่าวอยู่ระหว่างการขยายถนนจาก 2 เลน เป็น 4 เลน(ไป-กลับ) ซึ่งจุดนี้เป็นทางโค้งยาว ประกอบกับเป็นจุดตัดสี่แยก และถนนจากทางสายรองเป็นเนิน ทำให้ต้องเร่งเครื่องยนต์ ขณะที่ทางโค้งเป็นจุดอับที่มองไม่เห็นด้วย ทำให้จุดนี้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตหลายครั้ง ตนจึงได้มอบให้กรมทางหลวงชนบท(ทช.) จัดทำทางลอด เพื่อลดอุบัติเหตุ สร้างความปลอดภัยในการเดินทางให้แก่ประชาชน โดยให้เริ่มดำเนินการในปี 63

    

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีการใช้แบริเออร์กั้นเพื่อปิดจุดสี่แยกดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านที่มาจากถนนสายรองทั้ง 2 ด้าน ร้องเรียนเข้ามามากว่าต้องไปกลับรถไกลถึง 2 กิโลเมตร(กม.) ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทาง อย่างไรก็ตามการทำทางลอดจุดนี้จะยกให้เป็นกรณีศึกษาในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุ ซึ่งจะใช้งบประมาณน้อยกว่าการทำสะพานข้ามแยกด้วย นอกจากนี้ยังมอบให้กรมทางหลวง (ทล.) และ ทช. ยกเลิกการลงทุนก่อสร้างเกาะกลางบนถนนทั่วประเทศสำหรับถนนที่จะก่อสร้างใหม่ โดยให้ใช้แบริเออร์ที่ทำจากยางพาราเป็นตัวกั้นถนนแทน และต้องสามารถรองรับการใช้ความเร็วรถที่ 120 กิโลเมตร(กม.)ต่อชั่วโมง(ชม.)ด้วย ไม่ให้เหมือนกับแบริเออร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุ และไม่ทำให้ถนนเสียหาย รวมทั้งสามารถนำงบประมาณที่จะใช้ก่อสร้างเกาะกลางถนนไปใช้ขยายถนน 4 เลนเพิ่มเติมให้ชาวบ้านได้ด้วย

Turn off for: Thai

    

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ในสัปดาห์นี้จะเรียกประชุมหน่วยงานเพื่อหารือการนำยางพาราไปใช้เป็นส่วนผสมในโครงการก่อสร้าง ทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กรมทางหลวง(ทล.) กรมทางหลวงชนบท(ทช.) การทางพิเศษแห่งประเทศ(กทพ.) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยหลังจากนี้โครงการก่อสร้างทุกโครงการต้องนำยางพารามาใช้ให้มากที่สุด ไม่ใช่เพียงแค่นำมาใช้กับงานถนนของ ทล. และทช. เท่านั้น อย่างไรก็ตามจากการรับรายงานในเบื้องต้นทราบว่าขณะนี้ ทช. และ ทล. ได้นำยางพารามาใช้แค่ 50,000 ตัน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก ทั้งนี้ตั้งเป้าว่ากระทรวงคมนาคมจะต้องนำยางพารามาใช้ให้ได้ปีละ 5-6 แสนตัน 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0