โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'ศรีอัมพร' วิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจรัฐ ส่อเดินหลงทาง

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 25 ส.ค. 2562 เวลา 09.45 น.

นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโส ในฐานะส่วนตัวให้ความเห็น พร้อมแสดงข้อห่วงใย ถึงการเสนอนโยบายของฝ่ายรัฐบาลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาเป็นข่าวใหญ่ในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า GDP , การเร่งส่งเสริมหารายได้เข้าประเทศทางการท่องเที่ยวโดยการเสนอให้เปิดการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าเข้าประเทศของพลเมืองจีนและอินเดียเพื่อเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวหารายได้เข้าประเทศ ทดแทนการส่งสินค้าออกที่มีปัญหาหดตัวจากเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้าระหว่างจีนสหรัฐ , การขอให้รัฐอนุโลมให้สถานบันเทิงเปิด ถึงเวลา 04.00 น. , การหามาตรการช่วยเหลือการส่งสินค้าออกนอกประเทศเพราะกลัวการพลาดเป้าส่งออก ,โครงการถมทะเลบริเวณแหลมฉบัง อีก 300 ไร่เพื่อให้ บริษัท เอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น ลงทุนประกอบอุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหญ่เกี่ยวกับด้านน้ำมันและผลิตผลจากการผลิต-กลั่นน้ำมัน มาเป็นโพลีพลาสติก เป็นต้น รวมทั้งมาตรการการประกันราคาพืชผลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินคนจน

โดย นายศรีอัมพร กล่าวว่า นโยบายของรัฐเหล่านี้ดูเผินๆ ก็อาจจะเข้าใจว่าเป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามหลักวิชาการ อีกทั้งยังมีนักวิชาการกูรูและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง การปฏิบัติตามนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลออกมาอธิบายถึงประโยชน์ได้-เสียที่รัฐนำนโยบายไปปฏิบัติเป็นแผนงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน และทำให้เศรษฐกิจของประเทศชาติเข้มแข็ง แต่หากจะวิเคราะห์เข้าถึงเนื้อในของนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐในขณะนี้แล้วเป็นเรื่องที่น่าตกใจว่า วิสัยทัศน์และมุมมองความเห็นถ้าเป็นการหลงทาง หรือเป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดและสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้สถานะเศรษฐกิจของประเทศตกสู่หล่มหรือกับดักของวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ภายในไม่ถึง 2 ปี ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้เพราะหากวิเคราะห์เจาะลึก โครงสร้างการผลิตของประเทศแล้ว พบว่าเรามี โครงสร้างอยู่ที่สำคัญ 2 อย่าง คือ 1.เกษตร ซึ่งเป็นบุคคลส่วนใหญ่ของประเทศ 2.ภาคอุตสาหกรรมและการค้า ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ของผู้ประกอบการมีไม่เกิน 5% และเมื่อดูโครงสร้างการผลิตอุตสาหกรรมไทย คงเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ขาดการวิจัยและพัฒนาไม่ว่าอุตสาหกรรมหนักหรือเบา , อุตสาหกรรมเคมี และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ หรือเครื่องมือทางการแพทย์ ก็ไม่ได้มีความก้าวหน้าทัดเทียมประเทศชั้นนำอื่นๆ ดังนั้นมูลค่าสินค้าจึงต่ำ และยากแก่การแข่งขันกับประเทศต่างๆ ที่มีระดับอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน สำหรับภาคเกษตรของประเทศไทย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกร จะทำเกษตรมากที่สุดก็พบว่ามีรายได้ต่ำ และไม่สามารถเพิ่มผลผลิตให้สูง ไม่สามารถลดต้นทุนได้เทียบเท่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซียและอินโดนีเซีย อาทิ การปลูกปาล์มน้ำมัน , ยางพารา หรือการปลูกข้าวเราก็สู้เวียดนามและจีนไม่ได้เพราะ เรามีเทคโนโลยีการเกษตรที่ต่ำกว่าจนไม่สามารถพัฒนาพืชผลให้เทียบเท่ากับประเทศอื่น ตัวอย่างผักผลไม้เราก็ไม่สามารถผลิตสู้ประเทศจีนได้ดังจะเห็นได้ว่าในแต่ละปีประเทศจีนจะส่งผักผลไม้มาขายในประเทศไทย กว่า 1 ล้านตัน โดยผลิตผลดังกล่าวมีคุณภาพดี ราคาถูกกว่า เช่น กระเทียม , แครอท ผลไม้ ก็มีราคาถูกกว่าประเทศไทยทั้งสิ้นเนื่องจากกระบวนการจัดการการผลิตและเทคโนโลยีสูงกว่าอันเป็นจุดแข็งของเขา จนผลิตผลของประเทศไทย แข่งขันไม่ได้ต้องตั้งกำแพงภาษีหรือจำกัดจำนวนนำเข้า หรือจำกัดเขตการจำหน่าย เป็นต้น

นายศรีอัมพร เห็นว่า ปัญหาของรัฐที่ต้องตั้งโจทย์มีว่า อะไรที่เป็นจุดแข็งของกระบวนการการผลิตของประเทศไทย ที่จะสามารถนำไปแข่งขันและสู้กับประเทศอื่นได้ ในขณะที่เศรษฐกิจของโลกกำลังมีปัญหา และยังมีปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐอันมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งไทยต้องแก้ ปัญหามันเป็นโจทย์ที่ยากยิ่ง จึงขอถามว่าอะไรที่เป็นจุดแข็งของสินค้าไทยที่จะนำไปแข่งขันกับประเทศอื่น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีมรสุม และมีกูรูทำนายว่าอาจเกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ภายในไม่เกิน 3-5 ปีนี้ รัฐบาลและคนไทย กลับลืมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ให้ไว้ตั้งแต่ปี 2543 คือเราไม่พยายามสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนคนไทยทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เราไม่เคยค้นคว้าหรือหาจุดแข็ง หรือความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศอื่นทั่วโลก เราไม่ได้ศึกษาและวิจัยในเรื่องการผลิตสินค้าหรือบริการ ตลอดจนภาคเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมว่าสินค้าใดเป็นสินค้าที่เป็นจุดแข็ง และสู้เขาได้ สินค้าและบริการที่เป็นจุดแข็ง คือสินค้าที่เราสามารถผลิตได้โดยเทคโนโลยีของเราเอง มีราคาสูง มีคุณภาพสูงและประเทศอื่นไม่สามารถผลิตเพื่อแข่งขันได้ จะขอยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้เราได้พบว่าน้ำมันกัญชา เป็นพืชทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยมีความสามารถสูงในการปลูกผลิต และสกัดทำน้ำมันกัญชาเพื่อนำไปใช้เป็นยารักษาโรคที่มีประสิทธิภาพสูง ที่สามารถสู้ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์จากชาติยุโรป , สหรัฐอเมริกา , ญี่ปุ่นและจีนได้ แต่รัฐก็ไม่มีวิสัยทัศน์หรือความกล้าที่จะนำจุดแข็งของประเทศไทย มาเป็น การผลิตสินค้า เพื่อเป็นสินค้าชนิด Champion Products และสามารถส่งออกเป็นมูลค่าสูงหลายล้านล้านบาทต่อปีได้ อันเนื่องจากความหวาดระแวง , ความ ขี้ขลาดและไม่กล้าหาญของผู้นำประเทศ ที่จะกล้าตัดสินใจให้ประเทศไทย เป็นผู้ผลิตสินค้าประเภท Champion of Product คือน้ำมันกัญชา ให้เป็นอุตสาหกรรม

นายศรีอัมพร กล่าวอีกว่า เรื่องต่อไป คือการที่ประเทศไทยกลับไปส่งเสริมเกษตรกรรมประเภทที่เราสู้เขาไม่ได้ เช่นส่งเสริมให้ปลูกผลผลิตประเภทกระเทียม , ถั่วเหลือง , น้ำมันปาล์ม และยาง แทนที่จะ ส่งเสริมให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชที่สามารถแข่งขันและผลิตเป็นสินค้าชั้นสูงได้กลับไม่กระทำ แต่กลับไปรับจำนำสินค้าเกษตรบ้าง ประกันราคาพืชผลบ้าง ทั้งๆที่สินค้าเหล่านี้เราไม่สามารถที่จะส่งออกหรือแข่งขันในการส่งออกได้ ทั้งราคาก็ต่ำไม่คุ้มค่า สิ่งที่ลูกค้าทั่วโลกต้องการก็คือ ยาสมุนไพรที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการผลิต ตลอดจนมีวัตถุดิบมากเนื่องจากประเทศไทยมีพืชสมุนไพรและพืชอื่นๆ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถนำไปผลิตยาที่มีคุณภาพสูง และมีผลข้างเคียงน้อยอันเป็นที่นิยมของตลาดโลก แต่รัฐก็ไม่ส่งเสริมและระดมทุนในการวิจัยพัฒนา ทั้งที่สินค้าประเภทนี้ตลาดโลกต้องการสูง , ราคาสูง และไม่มีคู่ต่อสู้ที่จะมาแข่งขันกับเราได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาสนใจปลูกและผลิตยาสมุนไพรแต่อย่างใด

"คนไทยเก่งในการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และสามารถผลิตต้นกล้าพันธุ์ที่เป็นสินค้าอันมีคู่แข่งขันน้อย มีราคาสูง และสามารถเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ แต่ก็ไม่ปรากฏการส่งเสริมของรัฐแต่อย่างใด คนไทยมีฝีมือ หรือศิลปะในการผลิตสินค้าชนิด Handmade การวิจัยพัฒนา ประกอบการฝึกอาชีพและฝีมือสามารถทำให้สินค้าประเภทนี้สามารถแข่งขันกับสินค้าประเทศอื่นได้ ก็ไม่ได้สนใจในการส่งเสริมการลงทุนประเภทนี้ ด้านการแพทย์แผนโบราณของไทย เราก็สามารถผลิตยาไทยที่มีคุณภาพทัดเทียมยาแผนปัจจุบัน สามารถส่งเสริมการลงทุนและส่งออกได้โดยง่าย โดยมีราคาสูง มีผลข้างเคียงน้อย การรักษาด้วยวิชาการนวดแผนโบราณ และการรักษาด้วยสปาเราก็สามารถแข่งขันได้ และยังเป็นการส่งออกซึ่งสินค้าและบริการได้ด้วย"

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าการเกษตรและเพื่อการผลิต รัฐจะละเลย แม้สินค้าประเภทนี้เราจะสู้เขาไม่ได้แต่เราต้องการการพึ่งพาตนเองในเรื่องความมั่นคงทางอาหารและการผลิตสินค้าเพื่อใช้ภายในประเทศเป็นหลัก ส่วนการส่งออกนั้นก็ไม่ควรจะส่งเสริมให้มากเกินไปเพราะอย่างไรก็ตามผลตอบแทนมีต่ำกว่าสินค้าที่ เป็นจุดแข็งของประเทศ โดย GDP และการส่งออกไม่ควรเป็นเป้าหมายที่สำคัญของประเทศ แต่รัฐต้องคำนึงถึงตัวเลขเศรษฐกิจว่าควรขยายตัวเพียงใด , ตัวเลข GDP มากหรือน้อย หรือสถิติการส่งออกควรขยายตัวเพียงใด เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่ตัวชี้วัดหรือบ่งชี้ถึงความสำเร็จในการบริหารงานของรัฐ

นายศรีอัมพร มองว่า นโยบายเศรษฐกิจที่แท้จริงต้องไม่ให้ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออก ไม่ต้องพึ่งพา ตัวเลข GDP ที่บรรดาผู้ประกอบการและเศรษฐีเพียงไม่ถึงร้อยละ 50 ของประเทศเป็นเจ้าของ แต่ต้องทำให้ประชาชนในประเทศมีความเข้มแข็งในการประกอบกิจการงานมีรายได้ที่สมควรพอกินพออยู่ มีความมั่นคงทางอาหาร อย่าไปส่งเสริมให้มีเศรษฐีใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ต้องทำให้ประชาชนรากหญ้าสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องเอาเงินมาแจกประชาชนเหมือนประชาชนเป็นคนขอทาน การกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดเศรษฐีใหม่อีก 1-2 % คงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง หากรัฐบาลสามารถทำให้ประชาชนเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการบริหารราชการแผ่นดิน เราไม่สามารถทําให้ทุกคนเป็นคนรวยได้ แต่อย่าพยายามใช้งบประมาณอย่างล้างผลาญเพื่อตัวเลข GDP การเติบโตทางเศรษฐกิจว่าด้วยการส่งออกและ การได้เปรียบดุลการค้า เพราะสิ่งนั้นไม่ใช่ภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจประเทศไทย ส่วนการเร่งหารายได้ จากการท่องเที่ยวด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า และการขอผ่อนผันให้เปิดสถานบันเทิงถึงเวลา 04.00 น.นั้น มองว่า รมว.ท่องเที่ยว ผู้เสนอนโยบายอาจจะหลงทาง เพราะแม้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนรายได้จากการส่งออก แต่การส่งเสริมการท่องเที่ยวจนมากเกินกว่าประเทศจะรับได้จะเป็นการทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยว เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอันเกิดจากการใช้ ของนักท่องเที่ยวมากเกินไป และยังก่อให้เกิดปัญหา ความขัดแย้ง ความไม่พึงพอใจ ระหว่างคนในประเทศกับนักท่องเที่ยวที่มีการแย่งกันใช้บริการ

นอกจากนี้การไม่คัดกรองนักท่องเที่ยว ยังเป็นปัญหาสุ่มเสี่ยงในการเกิดปัญหา ส่วนแนวทางจะผ่อนผันสถานบันเทิงเปิดถึง 04.00 น. ไม่ใช่รายได้หลักของการท่องเที่ยวเพราะผู้ที่มาใช้บริการนั้นเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มน้อย และเม็ดเงินที่ได้จากนักท่องเที่ยวในแหล่งสถานบันเทิงนี้ก็ไม่ได้กระจายไปยังประชาชนรากหญ้าแต่จะตกอยู่กับนายทุน ผู้ประกอบธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาสังคม ที่คนไทยในแหล่งที่มีการยกเว้นให้เปิดสถานบันเทิงเกินเวลาก็จะเข้ามาใช้บริการอันก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของคนไทยซึ่งไร้ระเบียบวินัยและการควบคุม ปัญหานี้จะย้อนกลับมาสู่คนไทยและไม่เกิดประโยชน์แก่รายได้ที่จะกระจายลงแก่ประชาชนทั่วไปจึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เป็นการมองแต่ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวเท่านั้นจึงเป็นนโยบายที่ไม่รอบคอบและไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0