โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ศรีลังกา ประเทศที่เคย “รวย” กว่าไทย

ลงทุนแมน

อัพเดต 20 ม.ค. 2563 เวลา 09.43 น. • เผยแพร่ 20 ม.ค. 2563 เวลา 11.40 น. • ลงทุนแมน

ศรีลังกา ประเทศที่เคย “รวย” กว่าไทย /โดย ลงทุนแมน

ประเทศนี้เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ถูกเรียกว่า “ซีลอน”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า อังกฤษได้เข้ามาวางรากฐานหลายๆ อย่างให้กับประเทศเกาะเล็กๆ แห่งนี้
ทั้งระบบการศึกษา ถนน และทางรถไฟที่ครอบคลุมทั่วทั้งเกาะ

จนทำให้หลังได้รับเอกราช
ศรีลังกาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการศึกษาดีเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย

เมื่อ 60 ปีที่แล้ว คนศรีลังกามี GDP ต่อหัวมากกว่าคนไทยเกือบ 1.5 เท่า

ปี 1960 GDP ต่อหัวของคนศรีลังกาอยู่ที่ 3,010 บาทต่อปี
ในขณะที่ GDP ต่อหัวของคนไทยมีเพียง 2,140 บาทต่อปี

เกาะแห่งนี้เป็นแหล่งเพาะปลูกชาที่สำคัญของโลก ซึ่งเราคุ้นหูกันว่า ชาซีลอน
มีทั้งอัญมณีเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ
มีทำเลที่ตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการขนส่งกลางมหาสมุทรอินเดีย

ทั้งๆ ที่ทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้ดี..

แต่ศรีลังกากลับต้องประสบปัญหาที่นำมาสู่สงครามกลางเมืองที่ยาวนานเกือบ 30 ปี
ฉุดให้เศรษฐกิจของประเทศไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร

จนทำให้คนศรีลังกามี GDP ต่อหัวอยู่ที่ 122,770 บาท ในปี 2018
ซึ่งน้อยกว่าคนไทยถึง 2 เท่า

ปัญหาที่ว่านั้นคืออะไร?

ยินดีต้อนรับเข้าสู่ ซีรีส์บทความ ประเทศที่ “เคยรวยกว่า” ไทย ตอน ศรีลังกา
╔═══════════╗
Blockdit แอปเขียนบล็อกอันดับ 1
http://www.blockdit.com
╚═══════════╝
ปัญหาที่กัดกร่อนเศรษฐกิจของศรีลังกามาตลอดก็คือ “ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ”

ประชากรศรีลังกาแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ 2 กลุ่ม ได้แก่

ชาวสิงหล ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีสัดส่วน 74% ของประชากรทั้งหมด
ชาวทมิฬ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู มีสัดส่วน 18% ของประชากรทั้งหมด

ยังมีชาวมัวร์ที่นับถือศาสนาอิสลามอีกประมาณ 7%

โดยปัญหาระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬ มีรากฐานมาตั้งแต่ครั้งศรีลังกายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และใช้ชื่อว่า ซีลอน

แม้อังกฤษจะช่วยวางรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งระบบการศึกษา ระบบขนส่ง และการทำการเกษตร แต่ภาคการเกษตรโดยเฉพาะไร่ชาขนาดใหญ่นั้น
ต้องการแรงงานจำนวนมาก

ชาวสิงหล และชาวทมิฬเดิม ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของซีลอน ไม่สนใจทำงานในไร่ชาของอังกฤษ

อังกฤษจึงได้นำแรงงานชาวทมิฬอินเดีย ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองทางตอนใต้ของอินเดีย
เข้ามาทำงานในไร่ชาที่เกาะซีลอน

และสิ่งนี้เองที่สร้างรอยร้าวให้กับผู้คนบนเกาะแห่งนี้

ชาวทมิฬอินเดียที่ถูกนำเข้ามาทำงานในไร่ของอังกฤษ
มักได้รับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีกว่าชาวพื้นเมืองเดิม

โรงเรียนแบบตะวันตกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ ซึ่งมีชาวทมิฬอาศัยอยู่หนาแน่น

ชาวทมิฬจึงได้รับการศึกษาที่ดีกว่า
นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของคนทั้ง 2 กลุ่ม

หลังจากซีลอนได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948
แม้เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จะค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามลําดับ
แต่ความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬยังคงอยู่

ชาวทมิฬซึ่งมีการศึกษาดีกว่า ฐานะดีกว่า ผูกขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
สร้างความไม่พอใจให้กับชาวสิงหล ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เมื่อรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งเป็นชาวสิงหล
จึงมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ซีลอน มาเป็น ศรีลังกา ในปี 1972
พร้อมกับการกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

และเริ่มดำเนินนโยบายกีดกันชาวทมิฬ ทั้งการบังคับไม่ให้มีการเรียนการสอนภาษาทมิฬ
การบรรจุเข้ารับราชการต้องใช้ภาษาสิงหลเท่านั้น

ทำให้เกิดการต่อต้านรุนแรงจากชาวทมิฬ
ชาวทมิฬจึงมารวมกันอยู่ทางตอนเหนือของประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ

จนมีการก่อตั้ง กลุ่มเสรีภาพพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Ealam) ในปี 1976
จุดประสงค์หลักของการก่อตั้งกลุ่มนี้ คือ การแบ่งแยกดินแดนทางตอนเหนือของศรีลังกา
ซึ่งประชากร 3 ล้านคนส่วนใหญ่เป็นชาวทมิฬ

กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมมีกองทัพเป็นของตัวเอง
มีกองกำลังครบทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ มีการฝึกซ้อมทหารเข้ารบอย่างเป็นระบบ
เพื่อผลิตคนที่มีความเชี่ยวชาญในการโจมตี

โดยมีเงินทุนสนับสนุนจากชาวทมิฬที่ตั้งรกรากในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
และจากธุรกิจผิดกฎหมาย

จนกระทั่งในปี 1983 เหตุการณ์ได้รุนแรงถึงขั้นลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมือง
กลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ได้ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการกับรัฐบาล

วิธีการต่อสู้ของกลุ่มกบฏที่แพร่หลายที่สุดก็คือ การก่อการร้ายโดยการก่อวินาศกรรม
และการระเบิดพลีชีพ

ตลอดระยะเวลาการสู้รบที่ยาวนานนับตั้งแต่ปี 1983 – 2009

ผลจากสงครามทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 65,000 คน
และผู้คนนับล้านต้องลี้ภัย และสูญเสียทรัพย์สิน

เศรษฐกิจของศรีลังกาได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ทั้งภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิต

ในภาคการท่องเที่ยว ศรีลังกาเป็นแหล่งวัฒนธรรม มีทั้งโบราณสถาน เมืองเก่า
และชายหาดที่สวยงาม

แต่จากเหตุการณ์ก่อการร้าย
ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีอยู่เพียง 300,000 – 500,000 คนต่อปี
ตลอดช่วงเวลายาวนานของสงคราม

ในภาคการผลิต ความรุนแรงจากสงครามกลางเมืองทำให้ศรีลังกาดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้น้อย

อุตสาหกรรมหลักของประเทศมีเพียงอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศจวบจนปัจจุบัน

ทั้งที่ศักยภาพและการศึกษาของแรงงานชาวศรีลังกาสามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้

เมื่อสินค้าส่งออกหลักมีเพียง สิ่งทอ ชา อัญมณี
ในขณะที่ศรีลังกาจำเป็นต้องนำเข้าสินค้ามากมาย
ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องจักร และเชื้อเพลิง

ศรีลังกาจึงขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องยาวนานมานับตั้งแต่ปี 1983

การขาดดุลการค้าทำให้เงินตราต่างประเทศร่อยหรอ
ในขณะที่รัฐบาลต้องมีค่าใช้จ่ายในงบประมาณป้องกันประเทศที่สูงถึง 6% ของ GDP ในปี 1995 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามกลางเมืองรุนแรงที่สุด

รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศ
หนี้สาธารณะของศรีลังกาจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาอยู่ที่ระดับ 86% ของ GDP ในปี 2009

แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2009 นี้เอง
กองทัพศรีลังกาภายใต้การนำของรัฐบาล นายมหินทรา ราชปักษา
ได้บุกปิดล้อมปราบปรามกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมอย่างหนัก

จนทำให้ฝ่ายกบฏต้องยอมยุติการสู้รบกับฝ่ายรัฐบาล
เป็นการยุติสงครามกลางเมืองที่ยาวนานมากว่า 26 ปี

หลังสงครามกลางเมือง เศรษฐกิจของศรีลังกาเริ่มดีขึ้น อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น

มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะจากอินเดีย

ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็เติบโตขึ้น จนมีนักท่องเที่ยวมาเยือนศรีลังกากว่า 2.3 ล้านคน ในปี 2018

GDP ที่เพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เริ่มลดลง

แต่อย่างไรก็ตาม ศรีลังกาจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกทำลายไปในช่วงสงคราม
ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะกลับมาเพิ่มสูงอีกครั้ง

ในขณะที่ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติครั้งใหม่ก็ได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง
แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ระหว่างชาวพุทธกับชาวฮินดู

แต่เป็นปัญหาระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม..

ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไป ว่าเศรษฐกิจของศรีลังกาจะเป็นอย่างไร
ท่ามกลางความขัดแย้งครั้งใหม่ที่ก่อตัวขึ้น..

ในสัปดาห์หน้า จะเป็นตอนสุดท้าย ของซีรีส์ประเทศที่เคย “รวย” กว่าไทย

เป็นเรื่องราวของประเทศหนึ่ง ที่เคยเป็นที่ตั้งของจักรวรรดิโบราณแห่งเทือกเขาแอนดีส
มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างแร่ทองแดงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ

ผู้คนในประเทศนี้เคยมี GDP ต่อหัวมากกว่าคนไทยถึง 2.5 เท่า
แต่ทุกวันนี้กลับจนกว่าไทย

ประเทศนั้นคือ “สาธารณรัฐเปรู”…

ติดตาม ซีรีส์ ประเทศที่ เคย “รวย” กว่า ไทย ตอนต่อไปได้ในสัปดาห์หน้า
โหลดแอป Blockdit เพื่ออ่านซีรีส์ตอนก่อนหน้านี้ ได้ที่ Blockdit.com/download
———————-
Blockdit แอปเขียนบล็อกอันดับ 1
http://www.blockdit.com
———————-

References
-http://ejournals.swu.ac.th/index.php/JOH/article/download/1282/1291
-https://www.adb.org/sites/default/files/publication/373316/sri-lankan-economy.pdf
-https://toi.boi.go.th/information/download/465
-https://en.wikipedia.org/wiki/Demographics_of_Sri_Lanka
-https://en.wikipedia.org/wiki/Tourism_in_Sri_Lanka
-https://www.indexmundi.com/facts/sri-lanka/military-expenditure
-https://www.ceicdata.com/en/indicator/sri-lanka/trade-balance

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0