โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กิน-ดื่ม

ศบค.ประเมินใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครบ 7 วัน หากจำเป็นต่ออายุ 3 เดือน

Thai PBS

อัพเดต 02 เม.ย. 2563 เวลา 03.24 น. • เผยแพร่ 02 เม.ย. 2563 เวลา 03.24 น. • Thai PBS
ศบค.ประเมินใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครบ 7 วัน หากจำเป็นต่ออายุ 3 เดือน

วันนี้ ( 2 เม.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวานนี้ ( 1 เม.ย.) ครบ 7 วันสำหรับการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งควบทั้งในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 หรือ ศบค. ตามโครงสร้างของกฎหมายพิเศษฉบับนี้

และจากการขับเคลื่อนแก้ปัญหาผ่าน ศบค. เมื่อครบ 7 วัน หรือหนึ่งสัปดาห์ ผอ.ศบค. ยืนยันในความพอใจระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถไว้วางใจสถานการณ์ทั้งหมดได้ ที่ยังต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด พร้อมกับการปรับเปลี่ยนตามข้อมูลด้านสาธารณสุข และความร่วมมือของประชาชน เพราะถ้าไม่ได้รับความร่วมมือ ก็ต้องเพิ่มมาตรการอีก

โดยนับแต่วันที่ 26 มี.ค. -30 เม.ย. คือระยะการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินช่วงแรก รวมแล้วเดือนเศษๆ แต่จากการผลประชุม ครม. มีรายงานแล้วว่า จะต่ออายุการประกาศใช้แบบเดือนต่อเดือน ตามโครงสร้างกฎหมาย การขอมติ ครม.เห็นชอบประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งละ 3 เดือน แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัส COVID-19  ครม.เลือกประเมินรายเดือนน่าจะดีกว่า 

​ถ้าย้อนกลับไปทบทวนเหตุการณ์..การแพร่ระบาดของ COVID-19   เป็นไปได้ว่า..การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงแรก..ราวเดือนเศษๆนั้น คือช่วงเวลาของการควบคุมและประเมินผล การแพร่ระบาดของเชื้อผ่านเวทีมวยตั้งแต่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา และตัวเลขการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19  กับการใช้กฎหมายพิเศษครบ 7 วัน ดูจะสอดรับกันได้..พอใจกันอยู่ หากใช้บังคับถึง 30 เมษายน จึงเป็นเหตุผลให้ต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแบบรายเดือน..น่าจะดีกว่ายึดแบบ 3 เดือน

จริงๆ ประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วจะยกเลิกในทันทีก็ได้ แต่ด้วยกระบวนการพิจารณาแล้วประกาศออกมา เลือกการต่ออายุการใช้กฎหมายพิเศษฉบับนี้เป็นรายเดือน ก็น่าจะส่งสัญญาณบวกกับสถานการณ์บ้านเมือง และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19  แล้วคือถ้าจะต่อก็ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมไป

แต่เดิมบังคับใช้  26 มี.ค.- 30 เม.ย. รวมเดือนเศษๆ ก็มีผลกระทบหลากหลายด้านอยู่แล้ว แต่การประเมินการบังคับใช้เมื่อครบ 7 วันแรก แล้วมีคำยืนยันจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผอ.ศบค. ว่าพอใจ แต่ถ้าจำเป็นก็พร้อมยกระดับมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้น ต่ออายุไปครบจน 3 เดือน

 

เมื่อ(31 มี.ค.) มีรายงานว่า ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง หรือ ศปม.ได้รายงานผลการปฏิบัติงานในช่วง 6 วันแรก โดยหยิบแผนควบคุมคัดกรองและตรวจสอบ มากางเทียบกับตัวเลขการแพร่ระบาดของ COVID-19 พบว่ากระจายไปกว่า 60 จังหวัด จึงมีแนวทางเสนอให้ประกาศ "เคอร์ฟิว" คือห้ามออกนอกเคหะสถาน

แต่จากแผนเดิม ที่เน้นกลางคืน ศปม.บอกอาจไม่มีผล จึงต้องพิจารณาใหม่ โดยเน้นกลางวัน แต่จากผลกระทบรอบด้าน จึงยังตกลงกันไม่ได้ แต่ยังเห็นตรงกันว่ายังไม่ถึงเวลา "ชัตดาวน์" กรุงเทพมหานคร และให้ยึด "ล็อกดาวน์" ไว้ก่อน และแม้จุดตรวจ-คัดกรอง ตามแผนเดิมจะมีผลต่อการระบาด แต่ ศปม. เห็นควรปฏิบัติการต่อ

แต่ให้เพิ่มความเข้มข้นให้มากขึ้น โดยเฉพาะกับฝ่ายปฏิบัติงานร่วม 4 ฝ่าย "ทหาร ตำรวจ พลเรือน และสาธารณสุข" ต้องเฝ้าระวังตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วย พร้อมคลอดแผนใหม่ โดยให้อำนาจมหาดไทยจัดกำลังประจำถิ่นสนับสนุน ทั้งระดับตำบลและอำเภอ ภายใต้แผนที่เรียกว่า “พิทักษ์มาตุภูมิ” ​

สรุปว่า 7 วันแรกของการใช้กฎหมายพิเศษยังคงมาตรการเข้มข้นด้านสาธารณสุขไว้ ยังคงเป็นไปตามแผนขอความร่วมมือในแบบที่ "ควรทำ-ไม่ควรทำ" ยังไม่ยกระดับเป็น "บังคับหรือห้าม" ตามข้อสังเกตที่พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทสส.อ้างอิงไว้ว่า นับแต่วันนี้ไป 30 วันของการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือการนับหนึ่งกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จากสนามมวยลุมพินี จากกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่กระจายตัวไป 60 จังหวัด และคงต้องตั้งข้อสังเกตไว้อีกว่า อาจจะเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อชุดแรก ว่าจะไปสู่ผู้ติดเชื้อชุดที่สอง เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องหมายถึงมาตรการที่เข้มข้น และต้องเข้มข้นขึ้นอีก หรืออาจต้องบังคับใช้กฎหมายพิเศษนี้อย่างเต็มรูปแบบ

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0