โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ว่าด้วยผู้พิการกับพื้นที่ในการจอดรถ : หรือเพราะไม่มีกฎและบทลงโทษให้คนที่จอดรถผิดที่?

The MATTER

เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2562 เวลา 03.30 น. • Thinkers

พออยู่ห่างประเทศบ้านเกิดตัวเองมานานๆ บางทีก็รู้สึกตกใจเวลาเจอข่าวที่เกิดขึ้นในประเทศตัวเอง แล้วขัดกับความรู้สึกหรือความเข้าใจในปัจจุบัน เพราะมันต่างกับมาตรฐานของประเทศที่กำลังอาศัยอยู่ หรือประเทศญี่ปุ่นนี่เอง ก็ทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามว่า ตกลงนี่อันไหนคือมาตรฐานที่ควรเป็นมากๆ ตัวอย่างก็เช่นถ้าขโมยของมาแล้ว หาประโยชน์จากมันมาหลายปี จู่ๆ มีคนพบว่านี่คือของที่ขโมยมา ก็ส่งของคืนเฉยๆ ไม่ต้องรับโทษ หรือโดนปรับอะไรเลย จบๆ กันไป เจอแบบนี้แล้วก็ต้องมาคิดว่า นี่ถ้าเป็นญี่ปุ่นแล้วมันจะเป็นอย่างไร

และข่าวที่เห็นแล้วต้องแวบย้อนกลับมามองญี่ปุ่น คือข่าวที่ผู้พิการทต้องใช้รถวีลแชร์ตัดสินใจทุบรถยนต์ที่จอดในที่จอดของผู้พิการเป็นเวลานาน ซึ่งตัวผู้พิการก็รอแล้วรออีก จนสุดท้ายตัดสินใจทุบ กลายเป็นข่าวกระเพื่อมในสังคม ทำให้คนสนใจเรื่องนี้ขึ้นมา บางมุมก็มองว่าสะใจ สมควรแล้ว ซึ่งก็พอเข้าใจได้ถ้าหากติดตามเพจ Accessibility is Freedom ซึ่งเจ้าของเพจก็พูดเรื่องนี้เสมอ และเข้าใจถึงความอึดอัดของผู้พิการที่ต้องทนกับความไม่รักษาระเบียบและมักง่ายของผู้คน จนทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้พิการที่ปกติยากอยู่แล้ว ให้ยากยิ่งขึ้นไปอีก

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมองด้วยว่า แม้การจอดรถในที่จอดคนพิการเป็นเรื่องผิดระเบียบ แต่การทุบรถทำลายทรัพย์สินผู้อื่น เป็นการกระทำผิดกฎหมาย หรือจะเรียกว่าศาลเตี้ยก็ได้ มันก็ทำให้ชวนปวดหัวตรงนี้ล่ะครับ

พอเจอเรื่องแบบนี้แล้ว ก็ต้องมานึกย้อนว่า ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ญี่ปุ่นนี่เป็นอย่างไร ตอนย้ายมาโตเกียวนี่ยังไม่เท่าไหร่ครับ เพราะว่าผมไม่ได้ใช้รถส่วนตัว แต่ตอนที่ยังอยู่กิฟุนี่คือใช้รถส่วนตัวบ่อยมาก (รถบ้านพ่อตาน่ะครับ) และก็จัดว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะผมต้องใช้ 'รถเข็นเด็ก' เพื่อพาลูกไปนู่นนี่ล่ะครับ

เท่าที่สังเกต ที่ญี่ปุ่นเขามีการเตรียมที่จอดรถสำหรับผู้พิการไว้ไม่น้อยเหมือนกัน ยิ่งสถานที่ใหญ่แค่ไหน ยิ่งมีเยอะครับ แต่ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะผมอยู่ที่กิฟุที่มีพื้นที่มากมายด้วย แต่ละที่เลยมักจะมีการเตรียมที่จอดไว้อย่างเกินพอ ตัวอย่างเช่นที่โรงพยาบาลของเมือง หรือสำนักงานของเมืองก็มีที่จอดสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ใช้รถวีลแชร์ สตรีมีครรภ์ และครอบครัวที่เด็กแบเบาะอยู่พอเพียง และเขาก็มักจะตั้งไว้ใกล้ทางเขาที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งทุกที่ก็จะมีเครื่องหมายชี้แจงให้ทราบอย่างชัดเจนว่าที่นี่คือช่องจอดรถสำหรับใคร โดยก็มักจะทำคล้ายๆ กันหมดนั่นล่ะครับคือ มีป้ายตั้งแจ้งให้เห็นด้วยเครื่องหมายภาพ และที่พื้นก็มีการเพ้นต์ลาย

แต่ของเขาไม่ค่อยเหมือนไทยที่เน้นเพ้นต์สีน้ำเงิน

เพราะที่นี่เขาไมได้เพ้นต์สีครับ แต่ว่าตรงสองฝั่งของที่จอด

จะมีการเพ้นต์ลายทแยงตลอดระยะของช่องจอด

เพื่อให้รู้ว่าห้ามจอดทับตรงนี้ เพราะตรงพื้นที่ลาย นั่นคือพื้นที่ที่เว้นไว้สำหรับการเตรียมรถวีลแชร์ หรือรถเข็นเด็ก และเอาจริงๆ แล้ว ส่วนใหญ่ที่จอดแบบนี้ก็มักจะเน้นให้ความสำคัญกับผู้ใช้วีลแชร์ก่อนนั่นล่ะครับ เพราะมีความจำเป็นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการที่ขับรถเอง หรือผู้พิการที่มากับครอบครัว รวมถึงผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใช้วีลแชร์ด้วย

ซึ่งญี่ปุ่นเองก็มีการวางระเบียบของการจัดทำที่จอดรถแบบนี้ไว้นะครับ นั่นคือ ที่จอดรถทั่วไปต้องมีความกว้างประมาณ 2.5 เมตร แต่ที่จอดประเภทนี้จะต้องมีความกว้าง 3.5 เมตรเป็นอย่างน้อย โดยพื้นที่ทาสีเป็นลายทแยงต้องมีความกว้าง 1.4 เมตรเป็นอย่างน้อย ตัวอย่างคือ พื้นที่จอดรถ 2.1 เมตร และมีพื้นที่เว้นว่างไว้ 1.4 เมตร รวมเป็น 3.5 เมตร พอดี เป็นต้น แต่หลายกรณีที่เขาก็มักจะเผื่อไว้มากขึ้น บางที่ก็เว้นไว้ทั้งสองฝั่งเลย แต่อันนี้ก็ถือว่าแล้วแต่ความใจดีของเจ้าของสถานที่ครับ

ซึ่งการจะจอดรถในช่องจอดแบบนี้ ชาวญี่ปุ่นเขาก็มักจะติดสติ๊กเกอร์เครื่องหมายผู้พิการหรือผู้มีความจำเป็นต้องใช้วีลแชร์ไว้ที่รถ เพื่อให้แยกได้ว่าเป็นรถที่เหมาะที่จะจอดในช่องดังกล่าว ทำให้เข้าใจได้ง่าย

แล้วปัญหาคือ มีคนญี่ปุ่นไม่รักษาระเบียบ แล้วแทรกมาจอดในที่เหล่านี้ไหม

คำตอบคือ “มีสิครับ”

ของแบบนี้ ไม่แปลกหรอกครับ ไม่ว่าจะที่ไหน

ก็มีคนมักง่ายแบบนี้เสมอ ที่ญี่ปุ่นเองก็เพิ่งมีประเด็นไปหมาดๆ

เมื่อหญิงสาวที่ใช้วีลแชร์ทวีตภาพรถคนปกติที่มาแย่งที่จอดรถ หรือโดนรถคนธรรมดามาจอดชิดในพื้นที่ทาสีแทยงจนออกจากรถไม่ได้ ซึ่งก็คงเป็นการทวีตด้วยความเหลือทน และกลายเป็นทวีตที่ไวรัลและทำให้คนหลายคนต้องกลับมามองประเด็นนี้อีกที ว่านี่ก็เป็นปัญหาในสังคมญี่ปุ่น

ตัวผมเองก็เห็นคนจอดแบบมักง่ายเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นในห้างสรรพสินค้า หรือในลานจอดรถของร้านสะดวกซื้อ เพราะที่ช่องจอดรถพิเศษมักจะใกล้ทางเข้าร้านเสมอ ทำให้คนมักง่ายชอบจอดกันหน้าด้านๆ นี่ล่ะครับ บางทีก็ไม่อยากให้คนชื่นชอบญี่ปุ่นวิ่งในทุ่งลาเวนเดอร์มากไป เพราะที่นี่ก็มีคนมักง่ายแบบนี้เยอะ

ผลสำรวจพบว่า กว่า 80% ของผู้ที่จอดรถในช่องจอดพิเศษ คือคนธรรมดาสามัญ ฟังแล้วชวนปาดเหงื่อแทน อาจจะเป็นการทำลายภาพความระเบียบจ๋าของสังคมญี่ปุ่นไม่น้อย แต่ผมมองว่า ที่เขามีระเบียบ เพราะเขาวางกฎเกณฑ์ไว้ชัดๆ มากกว่าครับ แต่ปัญหาคือ บางอย่างพอไม่ได้มีกฎที่ชัดเจนแล้ว ก็กลายเป็นแบบนี้ไป

เพราะปัญหาก็คือ ญี่ปุ่นเขามีระเบียบในการกำหนดที่จอดสำหรับผู้จำเป็นต้องใช้วีลแชร์ มีกฎว่าต้องออกแบบอย่างไร มีปริมาณเท่าไหร่ แต่กลับไม่มีกฎหมายลงโทษผู้ที่จอดรถในช่องจอดพิเศษโดยไม่มีความจำเป็น มันก็เลยกลายเป็นเรื่องงงๆ แบบนี้ล่ะครับ ใช้กฎหมายในการกำหนดให้มีช่องจอด แต่เรื่องการจอดกลับปล่อยให้เป็นเรื่องของ 'มารยาท' ไปแทน

ซึ่งพอเป็นแบบนี้แล้ว ก็ทำให้เกิดช่องโหว่ทางศีลธรรม ยิ่งกับที่จอดรถแบบนี้ ที่ 'ความอยากสบาย' มักจะเอาชนะ 'ความเกรงใจ' และ 'ความต้องการรักษาระเบียบสังคม' ได้ เพราะหลายครั้งที่ คนที่จอดช่องแบบนี้ก็มักจะบอกตัวเองว่า แป๊บเดียวเอง หรือไม่ก็มองแค่ว่าคนที่จำเป็นก็หาที่จอดที่อื่นได้

ปัญหามันก็เลยเกิดขึ้นแบบนี้ล่ะครับ ยิ่งในญี่ปุ่นที่เป็นสังคมที่ไม่นิยมการเผชิญหน้ากัน คนที่จอดก็มักจะรอดไปได้สบายๆ ถ้าไปเตือน คนจอดก็อาจจะโกรธและพาลหาเรื่องกลับอีก เลยกลายเป็นว่าไม่ค่อยมีใครไปห้าม ทำให้เกิดปัญหาแบบนี้ได้ ซึ่งปัจจุบันก็ยังดีที่มีโซเชียลเน็ตเวิร์กคอยช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้อีกทาง แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีเสียงเรียกร้องว่าควรกำหนดเป็นกฎหมายให้มีความผิด อย่างน้อยก็มีค่าปรับเสียที ซึ่งก็อาจจะต้องพิจารณากันเยอะ เพราะหลายที่นั้นก็เป็นสถานที่เอกชนครับ

ของแบบนี้ บางทีก็คงต้องอาศัยการจัดการทางกฎหมายอย่างเป็นระเบียบ ไม่อย่างนั้นก็คงจะวุ่นวาย กลายเป็นเรื่องกระทบกระทั่งกันแบบนี้ ไม่ว่าจะในสังคมไหน ซึ่งการวางระเบียบที่ดี และมีการบังคับใช้ที่เหมาะสมและเท่าเทียมกัน ก็จะช่วยส่งให้สังคมพัฒนาไปข้างหน้าได้ รวมถึงลดความขัดแย้งและการแย่งกันเอาเปรียบได้ไม่มากก็น้อย แต่สิ่งแรกที่ควรมีคือ ความเห็นใจ และเข้าใจความลำบากของผู้มีความจำเป็นต้องใช้ที่จอดพิเศษนี่ล่ะครับ ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งอาจจะเป็นเราที่จำเป็นต้องใช้ที่จอดเหล่านี้บ้างเหมือนกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก

ouchiyushin.com

www.j-cast.com

otakei.otakuma.net

matome.naver.jp

ud-shizuoka.jp

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0