โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"ว่างงาน" โจทย์ใหญ่ค้าปลีก ตัวแปรใหม่ฉุดตลาด "ติดลบ"

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 14 ก.ค. 2563 เวลา 04.33 น. • เผยแพร่ 13 ก.ค. 2563 เวลา 23.24 น.
13-2p1

จับกระแสตลาด

ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์สู่ระยะที่ 5 ไฟเขียวให้หลาย ๆ ธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ

แต่ถึงวันนี้กลับดูเหมือนว่าในแง่ของภาพรวมธุรกิจต่าง ๆ จะยังไม่ฟื้นตัวและกลับมาดำเนินธุรกิจได้เหมือนก่อนช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งไทย ที่มีมูลค่ากว่า 3.5 ล้านล้านบาท ที่ยังตกอยู่ในภาวะถดถอยต่อเนื่อง

ไตรมาส 2 ตัวเลขร่วงต่อ

“ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์” ที่ปรึกษาสมาคมค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า หากย้อนกลับไปจะพบว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลาง ๆ ไตรมาสแรก และทางการมีมาตรการล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 21 มีนาคม จนถึง 17 พฤษภาคม ทางการอนุญาตให้เปิดได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เท่ากับว่าห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ต้องปิดบริการนานเกือบ 2 เดือน ซึ่งส่งผลกระทบกับซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมค้าปลีกทั้งระบบ และยอดขายสินค้ากลุ่มต่าง ๆ ลดลงมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าสินค้าแฟชั่น เครื่องใช้ในบ้าน มีเพียงอาหารสด-อาหารแห้ง และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่ยังขายได้

อีกด้านหนึ่ง ผู้ประกอบการต่างเร่งปรับตัวด้วยการหันมาเพิ่มน้ำหนักขายผ่านออนไลน์ ซึ่งก็ช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะโดยธรรมชาติของค้าปลีก รายได้หลักจะมาจากหน้าร้านมากกว่า 98%

ที่ปรึกษาสมาคมค้าปลีกระบุว่า ถึงวันนี้แม้ว่า ศบค.จะปลดล็อกให้กับธุรกิจเฟส 5 แล้ว แต่อาจจะใช้คำว่า ยังไม่เข้าที่เข้าทางดีนัก เนื่องจากระบบทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่อีกหลาย ๆ อย่างยังทำงานไม่เต็มที่ทั้งหมด ตอนนี้มหาวิทยาลัยยังไม่เปิด ออฟฟิศต่าง ๆ ยังทำงานไม่เต็มร้อย บางส่วนยังทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮม รวมถึงหลาย ๆ ประเทศยังล็อกดาวน์ไม่มีการเดินทางระหว่างประเทศ ดังนั้นอาจจะยังประเมินหรือวิเคราะห์สถานการณ์ที่ชัดเจนไม่ได้ อาจจะต้องรอให้ระบบต่าง ๆ เหล่านี้เปิดไปได้สัก 1-2 อาทิตย์

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจากการติดตามสถานการณ์หลังจากที่เปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านค้าต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดให้บริการตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมจนถึงตอนนี้ ภาพโดยรวมค่อย ๆ ดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ที่จำนวนผู้เข้าใช้บริการหรือทราฟฟิกเพิ่มขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่สะดวกใจเต็ม 100% ในการที่จะเดินช็อปปิ้ง หรือนั่งกินข้าวตามร้านอาหารต่าง ๆ อาจจะเนื่องมาจากความกังวลและยังไม่วางใจกับสถานการณ์โควิดเท่าที่ควร

“จากการประเมินสถานการณ์ของอุตสาหกรรมค้าปลีกในช่วงไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน) เบื้องต้นคาดว่าจะเติบโตลดลง 25-45% จากไตรมาส 1 ที่ตัวเลขติดลบ 5-10% ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทของธุรกิจ โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

โจทย์ใหม่-ปัญหาใหญ่

ที่ปรึกษาสมาคมค้าปลีกไทยระบุว่า สำหรับไตรมาส 3 สิ่งที่ผู้ประกอบการค้าปลีกป็นห่วงและจับตามองอย่างใกล้ชิดในขณะนี้ก็คือ ปัญหาการว่างงาน คนตกงาน ที่คาดว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีภาพนี้เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ และที่น่าจะต้องจับตาเป็นพิเศษคือ กลุ่มเอสเอ็มอี เพราะนอกจากผลกระทบจากโควิดแล้ว ธุรกิจกลุ่มนี้ยังมีปัญหาทางด้านเงินทุน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยังเป็นอุปสรรคใหญ่

“ที่ผ่านมาประชาชนกำลังซื้อมีปัญหา รัฐบาลใส่เงินเข้ามาช่วยก็ยังพอช่วยบรรเทาหรือประคับประคองได้ แต่การว่างงาน การตกงานเป็นปัญหาที่ใหญ่และหนักกว่า” ที่ปรึกษาสมาคมค้าปลีกไทยระบุ

สอดคล้องกับการประเมินเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลก เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาระบุว่า ผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะหดตัว 5% และคาดการณ์ว่าจะต้องใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิมในช่วงก่อนหน้าที่จะมีโควิด โดยมีประเด็นหนึ่งที่เวิลด์แบงก์แสดงความกังวลมาก คือ ปัญหาการว่างงานที่อาจจะมีตัวเลขสูงถึง 8.3 ล้านคน โดยเฉพาะแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการที่มีความเสี่ยงสูง

เช่นเดียวกับ “ธนิต โสรัตน์” รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ที่แสดงความกังวลว่า ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้นายจ้างไม่มีนโยบายรับคนเพิ่ม อาจจะทำให้จำนวนนักศึกษาจบใหม่ปีการศึกษา 2563 ประมาณ 500,000 คน อาจกลายเป็นผู้ว่างงานถาวร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อีกด้านหนึ่งก็พบว่าขณะนี้ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีตัวเลขอยู่ในระดับ 3.3 แสนคน ซึ่งพบว่าในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่ถูกเลิกจ้างในเดือนเมษายนที่สูงถึง 1.1 แสนคน

นี่ยังไม่นับรวมคนที่อยู่นอกระบบประกันสังคมอีกจำนวนมหาศาล

ถึงวันนี้ในความเป็นจริงก็ยังมีภาพของผู้ประกอบการรายเล็กรายใหญ่ในหลากหลายอุตสาหกรรมต่างทยอยประกาศปิดกิจการ เลิกจ้างงานเป็นระยะ ๆ และมีข่าวให้เห็นแทบทุกสัปดาห์

วันนี้แม้โควิด-19 ในประเทศอาจจะดูคลี่คลายลงในแง่ของการแพร่ระบาด แต่ในแง่เศรษฐกิจ กำลังซื้อ กลับตรงกันข้าม ยังมีอาการที่น่าเป็นห่วงและมีสัญญาณว่าจะรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ

และอาจจะส่งผลกระทบกับภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกตลอดทั้งปี จนทำให้การเติบโต “ติดลบ” เป็นปีแรกในรอบหลาย ๆ ปี

ต้องเตรียมตั้งรับและรับมือให้ดี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0