โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

วิเคราะห์ 5G ในมุมมอง "เศรษฐพงค์"

Manager Online

อัพเดต 17 ม.ค. 2562 เวลา 23.15 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2562 เวลา 23.15 น. • MGR Online

วันนี้ "พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" อดีตประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม และรองประธานกสทช. ให้แนวคิด 5G ในหลายมุมมอง ทั้งโรดแมป และ ระบบนิเวศสำหรับ 5G ที่เหมาะสมกับประเทศไทย รวมทั้งการทลายกับดักการประมูลคลื่นราคาสูงเว่อร์ที่กำลังเป็นอุปสรรคสำคัญในการลงทุนของผู้ประกอบการ และ การเร่งปรับตัวของภาคแรงงานก่อนจะตกยุค ไร้ความสามารถ และ ไร้งานในที่สุด

***โรดแมป 5G และการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะกับประเทศไทย

ประเทศไทยไม่สามารถปฏิเสธและหลีกพ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมที่รวดเร็วได้ เนื่องจากไทยจะต้องก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ในยุคดิจิทัลพร้อมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพราะทุกประเทศทั่วโลกได้เชื่อมโยงกันด้วยอินเทอร์เน็ต จึงทำให้การค้าระหว่างประเทศขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวินาที แต่ไทยกำลังประสบกับอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยี 5G ได้เหมือนกับที่เคยทำสำเร็จในยุค 4G มาแล้ว ดังนั้นการกำหนดโรดแมป 5G ของประเทศไทยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง

ความไม่เข้าใจภาพใหญ่ของผลประโยชน์ของชาติ…ประเด็นสำคัญที่สุดอยู่ที่ความเข้าใจผิดในสังคมที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดคือ การประมูลคลื่นความถี่ที่มีราคาสูงมากจะเกิดประโยชน์กับประเทศโดยรวม เพราะสามารถนำเงินเข้ารัฐ และสามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศได้นั้น กำลังเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะ หากราคาการประมูลสูงมากผิดปกติดังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งประเทศไทยมีมูลค่าการประมูลความถี่ 4G ที่แพงที่สุดติดอันดับหนึ่งในสามของโลก จึงจะเป็นสาเหตุให้ต้นทุนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานในกิจการโทรคมนาคมสูงมากจนไม่สามารถที่จะมีผู้ประกอบการรายใดสามารถเข้ามาประมูลได้ในอนาคตได้ต่อไป

ความเข้าใจและมุมมองภาครัฐจะต้องไม่ใช่มุมมองเดิมแบบ 3G หรือ 4G ที่รัฐให้ความสำคัญกับเงินที่ได้จากการจัดสรรความถี่เป็นสำคัญ เพราะรัฐบาลในหลายประเทศที่เข้าใจเรื่องระบบนิเวศ 5G ทั้งในยุโรปและเอเชีย เช่นจีนและอินเดีย ได้ลงมากระตุ้นเพื่อให้เกิด 5G ขึ้นโดยเร็ว

ประการที่สำคัญอีกอย่างคือ การเร่งอัปเกรดและขยายเครือข่ายไฟเบอร์ออฟติก และโครงสร้างอินเทอร์เน็ตของประเทศเพื่อเป็น backbone รองรับระบบ 5G ในการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ "เศรษฐกิจ 5G" โดยต้องมีการเตรียมความถี่ให้เพียงพอและสอดคล้องกับหลักสากล ต้องมีการกระตุ้นจากภาครัฐเพื่อให้ผู้ประกอบการลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยรัฐไม่มุ่งเน้นหารายได้จากการประมูลความถี่ แต่มุ่งเน้นการสร้างเศรษฐกิจ สร้างงาน และสร้างรายได้ให้ประชาชนอย่างแท้จริง

ด้วยการแก้ไขปรับปรุง พรบ. ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ของ กสทช. และคณะกรรมการดีอีแห่งชาติ ในประเด็นการจัดสรรความถี่ให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี 5G และการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งต้องมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าเงินที่ได้มาจะต้องใช้เพื่อการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านใด เช่น ระบบสาธารณสุข ระบบการศึกษา และการเกษตร

ทั้งนี้ 5G ไม่ใช่ธุรกิจที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมกับผู้ใช้บริการอีกต่อไป แต่จำเป็นจะต้องมีการสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ จึงทำให้เราต้องนึกถึงผู้ประกอบการอีกหนึ่งประเภทที่ต้องการส่งเสริมจากภาครัฐเป็นอย่างมากคือผู้สร้างบริการ (Service Creativity) ที่จะสร้างบริการดิจิทัลให้กับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์บนโครงข่าย 5G ผู้ประกอบการประเภทนี้อาจต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตหรือออกแบบอุปกรณ์ปลายทางด้วย เนื่องจาก 5G ในภาคธุรกิจต่างๆ อุปกรณ์ปลายทางจะไม่ใช่โทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว ซึ่งเรื่องนี้ประเทศของเราขาดการส่งเสริมมานานแล้ว

อีกสิ่งที่ต้องสร้างในระบบนิเวศ 5G คือการทำให้ประชาชนใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างชาญฉลาด ทำให้สามารถสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจำนวนมากได้ ทั้งในภาคส่วนอุตสาหกรรมดิจิทัลเองและอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถทำงานได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ประชาชนสามารถรักษาตำแหน่งงานเดิมเอาไว้ได้ และหากจะต้องสูญเสียตำแหน่งงานไปจริงๆ ก็จะสามารถนำประชาชนเหล่านี้ไปสู่อาชีพใหม่ๆ ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญในปัจจุบันก็คืองานที่ไม่ประยุกต์ใช้ทักษะด้านดิจิทัล จะเริ่มหายไปจากตลาดของการจ้างงาน ดังนั้นการนำเอาดิจิทัลไปใช้อย่างกว้างขวาง จะช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในตลาดแรงงานอย่างรวดเร็ว

***ระหว่างการสร้างระบบนิเวศ 5G ให้พร้อมล่วงหน้า กับการมุ่งเน้นประมูลความถี่ อะไรสำคัญมากน้อยกว่ากันแค่ไหน

ตอบได้เลยว่า ต้องมีการเตรียมการและมีการลงทุนในการอัปเกรดโครงข่ายพื้นฐานก่อนการประมูล และยังต้องทำต่อเนื่องหลังการประมูลต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด

แม้การสร้างระบบนิเวศ มีความสำคัญ แต่นโยบายการจัดสรรความถี่ (เน้นการจัดสรรความถี่ ไม่ใช่การประมูลความถี่เพียงอย่างเดียว) การออกแบบ Spectrum Roadmap ที่สอดคล้องและเข้ากับมาตรฐานสากล (Global Harmonization) ก็มีความสำคัญ

การสร้าง Ecosystem มีเรื่องของการอัปเกรดโครงข่ายบรอดแบนด์ (National Broadband Backbone) เพราะ 5G มีความโดดเด่นในเรื่องความเร็ว และ ความหน่วงของเวลา (Latency) ที่สั้นมาก โดยทำความเร็วให้กับผู้ใช้บริการจากระดับ Mbps ไปสู่ระดับ Gbps หรือ หลายสิบ Gbps

ดังนั้นโครงข่ายบรอดแบนด์พื้นฐานที่เป็นแค่ระดับ 100 Mbps ย่อมไม่เพียงพอสำหรับระบบ 5G ดังนั้นผู้ประกอบการที่จะทำ 5G จำเป็นจะต้องมีการอัปเกรดโครงข่ายบรอดแบนด์ที่เชื่อมสถานีฐานหลายหมื่นแห่งขึ้นมาก่อน ซึ่งจะเป็นการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท

และถ้ามีการประมูลคลื่นความถี่ 5G ที่เอาเงินออกจากอุตสาหกรรมมากเกินไป ผู้ประกอบการจะไม่มีเงินอัปเกรดโครงข่าย ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะมีความถี่ 5G ซึ่งประเทศก็จะสูญเสียโอกาสในการก้าวกระโดดเข้าสู่ยุคดิจิทัลไปอย่างน่าเสียดาย

ประเด็นติดล็อคในเรื่องการจัดสรรความถี่ จำเป็นจะต้องมีการวางแผนอย่างเหมาะสม เพราะถ้าจะมีการเข้าสู่ 5G ในปี 2020 ความถี่ที่เหมาะสมก็จะเป็นย่าน 3.5GHz ที่มีอุปกรณ์ทุกอย่างในตลาดแล้ว และเป็นความถี่ที่ใช้กันทั่วโลกในการเข้าสู่ 5G แต่ปัญหาของไทย ความถี่ย่านนี้ ไปซ้อนทับกับกิจการดาวเทียมประจำที่ ดังนั้นภาครัฐต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้ว่าจะวางแผนการ migration อย่างไร หรือจะเยียวยาชดเชยอย่างไรกับกิจการดาวเทียมประจำที่เหมือนกับที่หลายประเทศได้มีนโยบายที่ชัดเจนออกมาแล้ว

ส่วนการจะนำเอาความถี่ในระดับ millimeterwave เช่นย่าน 26GHz หรือ 28GHz มาจัดสรรก่อน ทั้งนี้ภาครัฐต้องมีความเข้าใจว่าความถี่ย่าน millimeterwave กับ 3.5GHz จะรองรับรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างกัน และปัจจัยเรื่องความสอดคล้องก็มีผล เพราะปัจจุบันความถี่ย่าน 28GHz เป็นปัญหาเรื่องของความสอดคล้องในแถบภูมิภาคต่างๆ ของโลกที่ยังไม่ชัดเจน

คลื่นไหนก่อน คลื่นไหนหลัง ก็สำคัญ การเตรียมการประมูลคลื่นย่าน 700MHz และ 2600 MHz เพื่อทำ 4G แล้วพัฒนาต่อยอดไปเป็น 5G ในภายหลัง อาจเป็นเรื่อง "Good reason but bad timing" เพราะคลื่นย่าน 700MHz นับเป็นคลื่นที่ดีเช่นเดียวกับคลื่นย่าน 800MHz และ 900MHz ที่จะทำให้มีการครอบคลุม 4G ทำได้ทั่วถึงและลงทุนน้อย

แต่ในความเป็นจริง ปัจจุบันผู้ประกอบการมีการตัดสินใจลงทุนโครงข่าย 4G ที่ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 90% บนย่านความถี่ 1800MHz, 2100MHz และ 2300MHz ไปแล้ว ดังนั้นความน่าสนใจของคลื่นย่านนั้นจะลดลงเป็นอย่างมาก และถ้าราคาการประมูลยังเทียบเท่ากับย่าน 900MHz ก็ยากที่จะมีรายใดสนใจในการเข้าร่วม และถ้าเป็นรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดจะเข้าร่วมประมูล ก็ต้องพิจารณาสภาพธุรกิจในปัจจุบัน

เพราะธุรกิจแบบเดิมของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ Margin หายไปเป็นอย่างมาก เพราะผู้ให้บริการ OTT ที่ให้บริการ Telecom Like Service ทุกวันนี้รายได้ Roaming SMS ก็หายไปนานแล้ว รายได้ Voice ก็จะทยอยลดลง เพราะประชาชนจะหันไปใช้ Voice call บน OTT แทน เช่น Line, Whatapps, messenger ซึ่งโครงข่ายของผู้ให้บริการในปัจจุบันจะต้องรองรับทราฟิกจำนวนมากของวิดีโอของ Facebook และ YouTube และในทุกๆ ปีจะต้องทำการอัปเกรดโครงข่ายตนเองเพื่อรองรับวิดีโอที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมแทบไม่ได้ผลประโยชน์หรือถ้าได้ก็น้อยมากจาก Facebook และ Youtube หรือ social media อื่นๆ ซึ่งก็เป็นเวลาที่ยากลำบากของกิจการโทรคมนาคมทั่วโลก

***ในแง่ของแรงงานไม่ว่าระดับไหนก็ตาม เมื่อเกิด 5G ธุรกิจอุตสาหกรรมไหนที่แรงงานจะเกิดผลกระทบมากที่สุดถึงขั้นหากไม่ปรับตัวจะอยู่รอดไม่ได้

ฟันธง!…ผลกระทบระลอกแรกคือธุรกิจสื่อและบันเทิง ตามมาด้วยการเงินการธนาคาร ค้าปลีก ไปจนถึงภาคการผลิตในลำดับต่อๆ มา

5G จะส่งผลกระทบเกินออกไปจากอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงที่ถูกกระทบอย่างหนักมาตั้งแต่ยุค 4G แล้วโดย 5G จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันในภาคธุรกิจต่างๆ โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปอย่างมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจมากมายจะต้องวางกลยุทธ์ที่จะนำเอาเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในทุกธุรกิจและจะเกิดมูลค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่หากธุรกิจและอุตสาหกรรมใดไม่สามารถปรับตัวได้ ก็จะเสื่อมสภาพลงและถูกทิ้งไว้ข้างหลังในที่สุด และที่สำคัญหากประเทศไทยและคนไทย ไม่สามารถเข้าสู่ 5G ได้ทันเวลาและไม่สามารถพัฒนาทักษะใหม่ให้ทันโลกได้ เศรษฐกิจของไทยก็อาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ภายในหนึ่งทศวรรษจากนี้

การปรับตัวและตั้งรับ การพัฒนาทักษะของคนไทยยุค 5G ในศตวรรษที่ 21 สามารถทำได้ด้วยวิธีการที่ดีที่สุด รวดเร็วที่สุด และลงทุนน้อยที่สุดด้วยการเปิดโอกาสทางการศึกษาทางเลือกให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ทางออนไลน์ที่ "ฟรี" ที่ง่ายดายและทันสมัยและได้รับการรับรองจากรัฐเทียบเท่ากับระบบปกติ เพียงใช้นิ้วสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นใคร อายุเท่าไร อยู่ที่ไหน และเวลาใดก็ตาม ซึ่งเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

อีกทั้งรูปแบบของการจ้างงานต้องปรับตัว เนื่องจากความก้าวหน้าของระบบสื่อสารบรอดแบนด์ในวันนี้ทำให้ประชาชนไม่มีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายเข้าเมือง โดยสามารถทำงานที่บ้านได้ ซึ่งหากภาครัฐและเอกชนยอมรับในระบบการทำงานในลักษณะดังกล่าวในหลายตำแหน่งงานที่สามารถทำได้ ก็จะทำให้เกิดอาชีพและงานใหม่ๆ มากมาย

คนที่ต้องปรับจริงๆ ผู้นำและผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในบทบาท Policymaker ในยุทธศาสตร์ระดับชาติ จะต้องเปิดกว้างที่จะยอมรับและศึกษาอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของโลกเข้าสู่ภูมิทัศน์ใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงยุทธศาสตร์ของชาติเป็นอย่างมาก อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต เพื่อทำให้การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติทุกมิติสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ต่อไป

***ไทย จะพลิกจากยุคที่ไล่ตาม 3G หรือ 4G เป็นประเทศผู้นำ5Gต้นๆได้หรือไม่

ทำได้!…อยู่ที่ตัวผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชน จะร่วมใจกันทำความเข้าใจและเอาจริงหรือไม่ เท่านั้น

***5G มาใครจะหนาว !!

คนที่หนาวก็อาจจะไม่ใช่รายบุคคล แต่อาจเป็นทั้งประเทศ เพราะถ้าประเทศใดไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ซึ่งในหลายประเทศได้มีแผนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ 5G แต่ในปัจจุบันเรายังไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ และถ้าไม่ชัดเจนจะทำให้ความน่าสนใจในการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลลดลงเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับปัจจัยในเรื่อง ไฟฟ้า ประปา สาธารณูปโภคต่าง ๆ ถ้าไม่ชัดเจน ไม่มีความเสถียร ก็ยากที่จะมีความมั่นใจในการลงทุน นักลงทุนต่างชาติก็อาจเลือกลงทุนในประเทศที่มีความชัดเจนและดำเนินการได้ดีกว่า สรุป…หนาวทั้งประเทศ ถ้ามองไม่เห็น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0