โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิเคราะห์ | "ไทย" ท่ามกลางดุลอำนาจ "พญามังกร-พญาอินทรี" จาก "Yuan Class" ถึง "Stryker"

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 20 ก.ย 2562 เวลา 02.17 น. • เผยแพร่ 20 ก.ย 2562 เวลา 02.17 น.
เปลี่ยนผ่าน

สหรัฐอเมริกากลับมายังถิ่นเดิม “ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” ในสภาวะที่ “สงครามเย็นครั้งใหม่” กำลังก่อตัวขึ้นจากสงครามเศรษฐกิจระหว่างอเมริกากับจีน ส่งผลให้ไทยอยู่ในสภาวะเนื้อหอม ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ใจกลางภูมิภาค

ในด้านการทหาร ไทยกับสหรัฐเป็นพันธมิตรเก่าแก่มาตั้งแต่ยุค “สงครามเย็นครั้งเก่า” ในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย นำโดยอเมริกากับสหภาพโซเวียต

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในยุค คสช. มาถึงมีการเลือกตั้ง ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ ที่เคยถูกลดระดับหลังไทยมีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

สหรัฐมีกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติที่ไม่ให้มีปฏิสัมพันธ์กับประเทศที่มีการทำรัฐประหาร เช่น การให้เงินช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งมีความเข้มข้นมากในยุค “ประธานาธิบดีบารัค โอบามา” ที่ยึดถือเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

แต่แม้จะมีกฎหมายนี้อยู่ เรื่องการค้าการลงทุนก็ยังคงดำเนินไปตามปกติเพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเอาไว้

เมื่อเข้าสู่ยุค “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” จึงได้ฟื้นความสัมพันธ์กับไทยอีกครั้ง ด้วยการเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ขณะนั้นไปเยือนสหรัฐที่ทำเนียบขาว ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2560 เพื่อหารือทวิภาคี

ทั้งนี้ ต้องอย่าลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังคงเป็น “หัวหน้าคณะรัฐประหาร” ในเวลานั้น รวมทั้งกำหนดการที่ไทยจะมีการเลือกตั้งก็ยังไม่ชัดเจน

ต่อมาเดือนเมษายน 2561 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมขณะนั้นก็ได้เดินทางเยือนสหรัฐ เพื่อเข้าพบและหารือกับ พล.อ.เจมส์ แมตทิส รมว.กลาโหมสหรัฐ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ควรหมายเหตุว่า ในยุค คสช.ที่สหรัฐลดระดับความสัมพันธ์กับไทย จีนได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามายังอาเซียนมากขึ้น ส่งผลให้ไทยมีความสัมพันธ์ที่แนบชิดจีน

โดยในด้านการทหาร จะเห็นว่าไทยได้จัดซื้อยุทโธปกรณ์จากจีนจำนวนมาก ทั้งรถถัง VT-4 ยานเกราะล้อยาง VN-1 และเรือดำน้ำ Yuan Class S26T เป็นต้น

เมื่อไทยมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ประกอบกับสหรัฐกับจีนกำลังมีสงครามการค้าระหว่างกัน รวมทั้งปัญหาในทะเลจีนใต้ ทำให้สหรัฐใช้โอกาสนี้ในการขยับเข้าหาไทยมากขึ้น เพราะไทยเป็นประธานอาเซียนและมีบทบาทที่สามารถประสานประเทศอื่นๆ ได้ ดังนั้น อเมริกาจึงพยายามใช้ไทยเป็นฐานสำคัญในภูมิภาค

สิ่งที่เป็นสัญญาณชัดเจนทางการทหารคือการที่กองทัพบกไทยจัดซื้อยานเกราะสไตรเกอร์ รุ่น M1126 และ M1127 จากสหรัฐ

โดยล็อตแรกในปีงบประมาณ 2562 ทบ.ไทยจัดซื้อ 37 คัน แต่ทาง ทบ.สหรัฐสนับสนุนเพิ่มอีก 23 คัน รวม 60 คัน ส่วนล็อตที่ 2 ปีงบประมาณ 2563 คาดว่า ทบ.ไทยจะจัดซื้อราว 50 คัน และทาง ทบ.สหรัฐสนับสนุนอีก 30 คัน

โดย ทบ.ไทยจะมีการจัดตั้ง “กรมยานเกราะสไตรเกอร์” ขึ้นมาด้วย โดยยานเกราะสไตรเกอร์จะนำไปประจำที่หน่วยทหารราบที่ 112 ของ พล.ร.11 จ.ฉะเชิงเทรา รวม 2 กองพัน

หลังมีการปรับโครงสร้างหน่วย โดยยึดโมเดลมาจาก “กองพลน้อย” ของ ทบ.สหรัฐ-ออสเตรเลีย หรือ Stryker Brigade Combat Team ที่ทำให้หน่วยมีความพร้อมรบในตัวเองมากขึ้น

ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ระบุว่า ยานเกราะสไตรเกอร์ล็อตแรกมี 2 รุ่น คือ M1126 และ M1127 ซึ่งแต่ละรุ่นภารกิจต่างกัน เช่น การยิงสนับสนุน รถกู้ซ่อม เป็นต้น

โดยเป็นการจัดซื้อผ่านระบบ Foreign Military Sales หรือ FMS ในฐานะที่ไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ พร้อมส่งกำลังพลของไทยไปฝึกที่อเมริกากว่า 30 นาย

พล.อ.อภิรัชต์ระบุอีกว่า ยานเกราะสไตรเกอร์ที่ ทบ.ไทยจัดซื้อยังเป็นยุทโธปกรณ์ที่ประจำการใน ทบ.สหรัฐ โดยหลายคันเพิ่งกลับมาจากภารกิจที่อิรักและอัฟกานิสถาน แต่ทางอเมริกาได้ “Refurbished” ให้ไทย หรือ “Set Zero” ระบบเครื่องยนต์ให้ใหม่ ทำสี ทำเบาะ รวมถึงติดตั้งไฟท้ายใหม่

ดังนั้น จึงไม่ได้จัดซื้อในสภาพเดิม

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ยานเกราะสไตรเกอร์ 4 คันแรกได้เดินทางถึงไทย โดยกองทัพสหรัฐได้บรรทุกมากับเครื่องบินลำเลียง ซี-17 จากฮาวายมายังกองบิน 2 ดอนเมือง

มี พล.อ.อภิรัชต์เป็นประธานในพิธีรับมอบ และ พล.ร.อ.ฟิล เดวิดสัน ผบ.หน่วยบัญชาการอินโด-แปซิฟิกสหรัฐ เป็นตัวแทน เดินทางมาส่งมอบ

โดยสหรัฐได้นำยานเกราะสไตรเกอร์จัดส่งให้ ทบ.ไทย ล็อตแรก 10 คัน และทำพิธีส่งมอบในวันที่ 12 กันยายน ที่ บก.ทบ. ราชดำเนิน โดยมี พล.อ.โรเบิร์ต บราวน์ ผู้บัญชากองกำลังทางบก ประจำภาคพื้นแปซิฟิก เป็นประธานร่วมในพิธีส่งมอบ

เรียกได้ว่า “ยานเกราะสไตรเกอร์” เป็นสัญลักษณ์คล้องใจและซื้อใจระหว่างกองทัพไทย-สหรัฐนั่นเอง

อย่างที่ทราบกันว่า พล.อ.อภิรัชต์เป็นนายทหารอเมริกันสไตล์ หลังขึ้นเป็น ผบ.ทบ.มาเกือบ 1 ปี ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐก็มีมากขึ้น เห็นได้จากการส่งกำลังพล ทบ.ไปร่วมฝึกและแลกเปลี่ยนกับ ทบ.สหรัฐ หลายรหัสฝึกและหลายหลักสูตร

รวมทั้งสั่งให้อัพเดตแนวคิด หลักนิยม และตำราของ ทบ. เพื่อปรับปรุงหลักสูตรทหารตามอย่างสหรัฐที่มีการปรับปรุงเอกสาร ตำราเรียน และหลักนิยมทางทหาร ให้เข้ากับภารกิจภัยคุกคาม และสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็น “Complex Wars” และสงครามลูกผสม (Hybrid Warfare)

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนก็ไม่ได้ลดลงไป หนึ่งในความร่วมมือสำคัญคือนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road) หรือโครงการเส้นทางสายไหม ที่จีนจะเชื่อมโยงประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง

นี่ถือเป็นสิ่งที่จีนมีความพอใจต่อไทย เป็นอีกจุดที่ทำให้เห็นว่าไทยยังวางสมดุลตรงกลางระหว่างสองขั้วมหาอำนาจได้ดี

ในส่วนทางด้านการทหาร กองทัพไทย-จีนยังคงมีการฝึกร่วมกันหลายรหัสการฝึก รวมทั้งไทยยังมีแผนจัดซื้อเรือดำน้ำจีนอีก 2 ลำ ตามแผนทั้งหมด 3 ลำ ซึ่งถือเป็นการแสดงแสนยานุภาพทางทะเลในภูมิภาคของจีนไปในตัวด้วย

สำหรับช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล บก.กองทัพไทย ได้เป็นเจ้าภาพจัดการฝึกต้านก่อการร้ายกองทัพอาเซียน-คู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers” Meeting หรือ ADMM-Plus) รวม 18 ประเทศ

มีมหาอำนาจ “จีน-สหรัฐ-รัสเซีย” ร่วมฝึกระหว่างวันที่ 1-5 กันยายน โดยมีการฝึกแก้ไขปัญหาบนโต๊ะของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้าย (Table Top Exercise) และการฝึกการใช้กำลังในการปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายในเมือง

ซึ่งผลการฝึกในครั้งนี้จะนำไปเป็นแนวทางในการฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise) ที่ประเทศจีนช่วงวันที่ 9-22 พฤศจิกายน

ฟากฝั่งสหรัฐก็ได้ร่วมกับกองทัพเรืออาเซียน 10 ประเทศ ฝึกผสม ASEAN-U.S. Maritime Exercise ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 2-6 กันยายน โดยมีการจัดตั้ง “บก.กองกำลังเฉพาะกิจผสม” บนเรือหลวงกระบี่ และได้ทำพิธีเปิดการฝึกที่กองเรือยุทธการ จ.ชลบุรี

สำหรับขั้นตอนการฝึก ได้จำลองเหตุการณ์เรือต้องสงสัยกระทำผิดกฎหมาย 3 ลำแล่นเข้ามาในน่านน้ำอาเซียน โดยเดินทางจากบริเวณช่องแคบมะละกาสู่พื้นที่การฝึกแหลมกาเมาที่เวียดนาม และอีกส่วนมาจากบริเวณชายฝั่งของเวียดนาม

โดยมีการประสานข้อมูลกับส่วนติดตามสถานการณ์การฝึก ที่ศูนย์ Changi C2 Center ประเทศสิงคโปร์

อีกความเคลื่อนไหวของรัฐบาลสหรัฐ คือการเตรียมส่ง “เอกอัครราชทูตคนใหม่” มาประจำประเทศไทย หลังว่างเว้นมากว่า 1 ปี

โดยชื่อที่ถูกเสนอเพื่อให้วุฒิสมาชิกของสหรัฐพิจารณาคือ นาย “ไมเคิล จอร์จ เดอซอมเบรย์” อายุ 51 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่รัฐอิลลินอยส์ เป็นอดีตทนายความและเคยอาศัยอยู่ ณ ฮ่องกงมานาน 20 กว่าปี รวมทั้งเป็นนักสิทธิมนุษยชนด้วย จึงรู้เรื่องภายในทวีปเอเชียเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ แน่นอนว่าชื่อของ “เดอซอมเบรย์” ถูกเสนอมาจากฝ่ายการเมืองที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” เลือกมาเอง โดยนอกจากเป็นนักกฎหมายแล้ว ว่าที่ทูตประจำประเทศไทยคนใหม่ยังมีความเชี่ยวชาญในการเจรจาด้านการค้าอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงการวางสมดุลที่ทำให้ไทยมีความใกล้ชิดทั้งกับจีนและสหรัฐ ซึ่งในทางการทูตมองว่าเป็นเกมการเมืองที่ซับซ้อนอย่างมาก และไม่สามารถแบ่งสัดส่วนเป็น 50-50 ได้อย่างชัดเจนนัก

ดังนั้น การเมืองในภูมิภาคอาเซียนยังคงเข้มข้น ผ่านการกลับมาของสหรัฐตามยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก โดยมีไทยเป็นใจกลางในทางภูมิรัฐศาสตร์และเป็นจุดสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

เช่นเดียวกับการปรับดุลระหว่างมหาอำนาจของคนกลางอย่างไทย ซึ่งย่อมต้องมีพลวัตในทุกมิติต่อไปไม่หยุดหย่อน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0