โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิเคราะห์ : แคมเปญงดแจกถุงพลาสติก แก้ปัญหามลพิษขยะได้หมดจริงหรือ?

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 21 ต.ค. 2562 เวลา 02.42 น. • เผยแพร่ 21 ต.ค. 2562 เวลา 02.42 น.
ideas-to-reduce-pollution-say-no-to-plastic-bag-that-is-why-the-greenhouse-effect-the-campaign-to-reduce-the-use-of-plastic-bags-to-put-vector

นับจากวันที่เขียนต้นฉบับ เหลือเวลาเพียง 77 วัน ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ เลิกแจกถุงพลาสติกให้ลูกค้าอย่างถาวร หลายฝ่ายตื่นตัวให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างคึกคัก แต่เป้าหมายเรื่องนี้ยังอยู่อีกไกล

ตามข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ คนไทยใช้ถุงพลาสติกปีละ 45,000 ล้านใบ เป็นปริมาณที่สูงมากน่าตกใจ

ที่มาของถุงพลาสติกมาจากตลาดสดเทศบาล เอกชน และแผงลอย จำนวน 18,000 ล้านใบต่อปี

ร้านขายของชำ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี และมาจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี

เฉพาะกรุงเทพฯ มีการใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน ขยะพลาสติกจึงมีวันละ 80 ล้านใบ

ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า คนไทยใช้ถุงพลาสติกอย่างพร่ำเพรื่อ

ในทางกลับกัน สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายการบริหารจัดการกับขยะพลาสติกของรัฐในอดีตล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

เพราะหากหน่วยรัฐมีวิสัยทัศน์มองเห็นอันตรายของการใช้ถุงพลาสติก วันนี้ประเทศไทยคงไม่ติดอันดับ 6 ของประเทศที่มีขยะพลาสติกใต้ทะเลมากที่สุดในโลก

พะยูนมาเรียม เต่าทะเล คงไม่ตายเพราะกินเศษพลาสติกอย่างที่เป็นข่าว

ฉะนั้น การประกาศให้วันที่ 1 มกราคมปีหน้า ให้ร้านค้าเลิกแจกถุงพลาสติกและชักชวนให้ประชาชนพกถุงผ้ามาเอง จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความหวังว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่แผนการจัดการกับขยะพลาสติกอย่างจริงจัง

 

ดูจากโรดแม็ปการจัดการขยะพลาสติกของรัฐบาลตั้งเป้าว่า ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2573 จะลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ภายในปี 2565 ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100%

ภายในปี 2570 ซึ่งจะช่วยลดปริมาณพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณปีละ 780,000 ตัน ลดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยปีละ 3,900 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,200,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

แต่กระนั้นก็ไม่รู้ว่าทำสำเร็จได้ตามเป้าหมายหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่า ถุงพลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้กับคนไทยมานานมากแล้ว

การรณรงค์เลิกแจกถุงพลาสติกจึงไม่ใช่เรื่องง่ายดาย

มีการรณรงค์เรื่องไม่ใช้ถุงพลาสติกมาไม่น้อยกว่า 10 ปี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะเป็นการรณรงค์แบบสมัครใจ ไม่มีกฎหมายบังคับ

ร้านค้ายังเป็นห่วงยอดขายถ้าไม่แจกถุงให้ลูกค้า

ขณะเดียวกัน ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมากับการทิ้งถุงขยะในที่สาธารณะ

มาครั้งนี้มีการวางเป้าให้ห้างร้านเลิกแจกถุงพลาสติกพร้อมๆ กันทั่วประเทศ

ร้านค้าพร้อมใจอดทนกับเสียงต่อว่าต่อขานของลูกค้าบางคนซึ่งไม่สนใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและไม่พอใจกับการเลิกแจกถุงพลาสติกได้แค่ไหน

ต้องตามไปดูกัน

 

แน่นอนว่า ถุงพลาสติกยังมีประโยชน์กับสังคมไทย

การผลิตถุงพลาสติกเป็นเรื่องจำเป็น แต่รัฐต้องมีนโยบายเรื่องพลาสติกอย่างมีระบบตั้งแต่ต้นทางคือผู้ผลิต ผู้ใช้และผู้จัดเก็บขยะนำกลับมาใช้ประโยชน์หรือทำลายอย่างมีมาตรฐาน

รัฐจะต้องมีระบบติดตามตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตพลาสติก เช่น การเรียกเก็บภาษีรีไซเคิลหรือการให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่โรงงานที่แปรรูปพลาสติก

รัฐต้องควบคุมและจัดเก็บภาษีการนำเข้าพลาสติกหรือวัตถุดิบสำหรับการผลิตพลาสติกอย่างเข้มข้น

ส่วนประชาชนร้านค้าที่ยังใช้ถุงพลาสติกแล้วไม่ทิ้งในระบบรีไซเคิลหรือนำไปเผาทำลายไม่ถูกต้องตามกระบวนการ จะต้องเพิ่มบทลงโทษฐานทำลายสภาพแวดล้อมหรือไม่

นี่เป็นเรื่องต้องขบคิดกันต่อ เพราะการจัดการขยะพลาสติกเป็นอีกหนทางที่จะช่วยลดปัญหาโลกร้อนและลดผลกระทบกับระบบนิเวศ

 

ในรายงานของสหประชาชาติ ระบุว่า จาก 192 ประเทศทั่วโลก มี 127 ประเทศออกกฎหมายเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกับถุงพลาสติก

แต่มีเพียง 27 ประเทศเท่านั้นที่ออกกฎหมายเฉพาะ ห้ามใช้ถ้วยจานชามพลาสติก หลอดพลาสติก รวมถึงวัสดุที่ทำจากโพลีสไตรีน

และมี 27 ประเทศที่ออกกฎหมายกำหนดการจัดเก็บภาษีกับโรงงานและผู้ผลิตถุงพลาสติก

30 ประเทศหันมาเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถุงพลาสติก

43 ประเทศกำหนดให้โรงงานผู้ผลิตถุงพลาสติกต้องเสียค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะพลาสติก

63 ประเทศกำหนดให้โรงงานที่ผลิตถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนค่ารีไซเคิล

มีเพียง 8 ประเทศเท่านั้นที่ออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกขนาดจิ๋ว (microbeads) ที่ใช้ในวงการเครื่องสำอาง

ถ้าดูตามรายงานของยูเอ็น นอกจากแผนกำจัดขยะแล้ว ประเทศไทยยังต้องกำหนดอีกหลายเป้าหมายเพื่อเข้าสู่วงจรประเทศที่พัฒนาอย่างยั่งยืน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0