โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิเคราะห์ : ภท.ชักธงเปิดดีลขั้วที่ 3 "อนุทิน" ลุยเองจับมือ ปชป. งัดสูตรพาลูกงู(เห่า)กลับบ้าน

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 25 พ.ค. 2562 เวลา 22.09 น.
ในประเทศ 2023

สร้างความหวือหวา เป็นกระแสได้ตลอด ตั้งแต่มีข่าวขั้วที่ 3 ตั้งรัฐบาล สำหรับพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่ล่าสุด “หัวหน้าหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล แห่งค่ายเลือดน้ำเงิน พรรคภูมิใจไทย โพสต์รูปจับมือกับแม่บ้านค่ายสีฟ้า “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมแคปชั่นว่า “ทำงานกันอยู่นะครับ ไม่ได้มากินกันเฉยๆ” เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ทำเอาพรรคพลังประชารัฐถึงกับร้อนฉ่า…

และเป็นการตอกย้ำเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ ที่พรรคภูมิใจไทยขน ส.ส.ใหม่ 51 ชีวิตไปสัมมนาและปฐมนิเทศที่โรงแรมโมเดน่า บายเฟร์เซอร์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งก่อนการประชุม “อนุทิน” ประกาศชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนพรรคเสียงข้างน้อยจัดตั้งรัฐบาล

นั่นหมายถึง การไม่ยอมรับเสียง 250 ส.ว. มามีส่วนเกี่ยวข้องกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และเป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่ “อนุทิน” ได้ลั่นวาจาไว้ตอนหาเสียงช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมี ส.ส.เลือดใหม่ของภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยที่จะสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพราะ ส.ส.จำนวนมากของพรรคภูมิใจไทยได้มาจากภาคอีสาน แน่นอนว่าตอนหาเสียง หลายคนจะต้องชู “ไม่เอาลุงตู่กลับบ้าน”

ดังนั้น เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พรรคภูมิใจไทยประเมินตัวเองเช่นกันว่าจะเสียไม่ได้ เพราะถ้าก้าวขาผิด และยุบสภาเร็ว การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคภูมิใจไทยเก้าอี้หายแน่นอน…

 

ที่ผ่านมาหลังการเลือกตั้ง เห็นได้ชัดว่าพรรคภูมิใจไทยมีท่าทีสงบนิ่งมาโดยตลอด และไม่เคยผลีผลามออกตัวว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ได้แต่วิเคราะห์สถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลของแต่ละพรรค

ตั้งแต่พรรคเบอร์ 1 คือพรรคเพื่อไทย ที่รวมเสียงได้ 245 เสียง โดยมีพรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคพลังปวงชนไทย แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะตั้งรัฐบาลได้

ขณะที่พรรคเบอร์ 2 อย่างพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังไม่เคยประกาศตัวร่วมกับพรรคใหญ่ จะมีก็แต่ 11 พรรคเล็ก ทั้งพรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชานิยม พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคไทยรักธรรม ซึ่งรวมทั้งหมดได้ 126 เสียง ร่วมพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง พลังท้องถิ่นไท 3 เสียง พรรคประชาชนปฏิรูป 1 เสียง และหากรวมพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 5 เสียง จะมีเสียงทั้งหมด 137 เสียง

ส่วนขั้วที่ 3 คือพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ที่มีเสียงรวมกัน 103 เสียง หากนับรวมกับพรรคที่ยังไม่ประกาศท่าทีที่ชัดเจนว่าจะร่วมกับฝ่ายใด ยังมีพรรคชาติไทย 10 เสียง ชาติพัฒนา 3 เสียง รวมเป็น 116 เสียง

จะเป็นพลังสำคัญของการเลือกข้างว่าจะอยู่ฝ่ายใด

 

ขณะที่ขั้วที่ 1 ถอยสุดซอย ให้ทุกตำแหน่งแม้กระทั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ส่วนขั้วที่ 2 ยึดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงเกรดเอเกือบทั้งหมด จนโผที่ออกมาหน้าตาบิดเบี้ยว ไหนจะโควต้าเพื่อนลุงตู่กลับมาอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่าจะเป็น “ลุงป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ทำให้พรรคร่วมไม่เหลืออะไรเลย…

จนมีเสียงตั้งคำถามว่า พรรคพลังประชารัฐลืมไปหรือไม่ว่าการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ยึดอำนาจ ที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามามีบทบาทในการจัดสรรตำแหน่งเอากระทรวงสำคัญไปบริหารเอง เพราะประชาชนเห็นอยู่ว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศเดินไปอย่างไร…

ทำให้พรรคภูมิใจไทยต้องตั้งอยู่ในที่มั่น รอดูท่าทีและดีดลูกคิดวิเคราะห์ อะไรดีอะไรเสีย

 

หากไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ มีเสียงเพียง 253 เสียง ซึ่งเป็นเสียงที่ปริ่มน้ำมาก และหากใช้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ อีก 250 เสียง คะแนนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีถึง 503 เสียง แน่นอนว่าได้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ชัวร์

แต่ถ้าประชุมสภาผู้แทนฯ ไม่ว่าจะเป็นการผ่านงบประมาณ ไปจนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เสียงเพียงเท่านี้จะทำให้สภาอยู่ได้ไม่นาน

ดังนั้น อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่า หากเป็นเช่นนี้เลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะทำให้พรรคภูมิใจไทยสอบตก เพราะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และใช้เสียง ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ “อนุทิน” ลั่นวาจาไว้

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม ส.ส.ภูมิใจไทย ได้มีมติให้ “อนุทิน” มีอำนาจในการตัดสินเข้าร่วมรัฐบาลแต่เพียงผู้เดียว

และมาจนถึงวันนี้ ยังไม่เห็นว่ามีแกนนำระดับสูงจากพรรคพลังประชารัฐยกขันหมากไปหาหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยแต่อย่างใด

ขณะที่ทางพรรคเพื่อไทยก็เป็นเพียงการให้สัมภาษณ์ผ่านทางสื่อว่ายินดีร่วมรัฐบาล และพร้อมที่จะเสียสละให้ทุกตำแหน่งแบบไม่ยึดติด แต่ก็ยังไม่มีการเปิดดีลอย่างเป็นทางการ

อีกทั้งยังมีสถานการณ์สุ่มเสี่ยงกับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ก่อนหน้านี้ประกาศพร้อมเป็นนายกฯ และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ยังคงไร้วี่แวว และไม่รู้ว่าหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่จะโดนสอยหรือไม่จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมถือหุ้นสื่อ…

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของที่มาของขั้วที่ 3

 

ถ้าภูมิใจไทยจะประกาศจัดตั้งรัฐบาลเอง เริ่มโดยการดีลกับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคที่ยังไม่ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าจะอยู่ฝ่ายใด มีคะแนนต้นทุน 116 เสียง หากขั้วเพื่อไทยที่มีอยู่ 245 เสียง มาร่วมด้วยจะเพิ่มเป็น 361 เสียง ซึ่งจะขาดเพียงแค่ 15 เสียง ที่จะชนะเสียง ส.ว. ให้ได้เสียงถึง 376 เสียง และเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากที่ปลอดภัย ไร้ข้อครหา

มีคำถามที่ว่า อีก 15 เสียงจะไปเอามาจากไหน เพราะไม่มีทางที่ ส.ว. จะยกมือให้กับฝั่งประชาธิปไตย แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะยืนยันว่าไม่สามารถควบคุมเสียง ส.ว.ได้ แต่ทุกคนย่อมรู้ดีว่า ที่มาของ ส.ว.นั้นมาอย่างไร ไม่เพียงแต่เป็นสภาผัวเมีย แต่ยังเป็นถึงสภา พรรค พวก เพื่อน พี่น้อง ญาติ โยม ทั้งหลาย

ซึ่งไม่มีทางแตกแถวเป็นแน่…

ทว่า…หากเพื่อไทยดึงงูเห่าที่ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐกลับมาได้ ทุกอย่างจะวิน-วิน แต่ต้องเปิดดีลด้วยพรรคเพื่อไทยเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของ “วราเทพ รัตนากร” ที่กวาด ส.ส.กำแพงเพชรให้กับพลังประชารัฐได้ยกจังหวัด ซึ่งต้องไม่ลืมว่า “วราเทพ” เป็น 1 ในกลุ่ม 16 ในอดีต ที่มีความใกล้ชิดกับ “เนวิน ชิดชอบ” ครูใหญ่ของพรรคภูมิใจไทย หรือไม่ว่าจะเป็น “สันติ พร้อมพัฒน์” อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ที่มาจากพรรคเพื่อไทย

หากสังเกตจะเห็นว่าคนกลุ่มนี้นิ่งเงียบตั้งแต่เลือกตั้งเสร็จ โดยไม่มีการออกมาเรียกร้องหรือส่งเสียงอะไรให้เป็นเป้าสายตา…

และต้องไม่ลืมว่ายังมีกลุ่มโคราช ที่ทิ้งรังเพื่อไทยมาอีกมิใช่น้อย ดังนั้น ถ้าจะใช้ยุทธศาสตร์เรียกลูกงูกลับบ้าน ก็น่าจะมีความหวังให้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง…

ดังนั้น หากขั้วที่ 3 ปิดดีลได้สำเร็จ นายกฯ คนต่อไปอาจชื่อ “อนุทิน” ก็เป็นได้

แต่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ อยู่ที่หน้าตาประธานสภาว่าจะมาจากฝั่งใด จึงจะเป็นตัวชี้วัดหน้าตานายกรัฐมนตรี…

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0