โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิเคราะห์ : "ปะการังฟอกขาว" สัญญาเตือนใหญ่วิกฤตสภาพอากาศมาถึงจุดอันตราย

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 21 พ.ค. 2562 เวลา 09.34 น.
สิ่งแวดล้อม 2022

เคยลงดำน้ำไปดูปะการังใต้ทะเลใกล้ๆ เกาะพีพีเมื่อหลายปีก่อน มองเห็นหมู่ปะการังพลิ้วไปมาตามกระแสคลื่น มีฝูงปลาเล็กใหญ่สีสันสดใสว่ายไปมารอบๆ ตื่นตาตื่นใจ

เกิดความรู้สึกว่าธรรมชาติสรรค์สร้างโลกใบนี้ได้อย่างอัศจรรย์

หลังจากนั้นมีข่าวปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยแทบทุกปี แต่ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อปะการังอยู่ใต้ทะเลอย่างน้อยๆ 4-5 เมตร มีแสงอาทิตย์ส่องลงมาสลัวๆ

เพิ่งมารู้ว่าแสงแดดสาดลงมายังผิวน้ำทะเลมีอุณหภูมิร้อนจัด แผ่ทะลุไปถึงหมู่ปะการัง

ความร้อนระอุตลอดทั้งวันทำให้สภาพแวดล้อมของหมู่ปะการังเปลี่ยนแปลงไป

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลทำให้สาหร่ายที่มีชื่อว่าซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) ซึ่งเป็นสาหร่ายขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการังผละทิ้งหนีเพื่อความอยู่รอด

ปะการังเหลือแค่เนื้อเยื่อใสๆ เผยให้เห็นสีขาวของโครงสร้างหินปูนที่อยู่ภายใน

เมื่อสีสันอันสดใสของปะการังหมดไป

โครงสีขาวจึงไม่ต่างจากโครงกระดูก

ซากปะการังฟอกขาวเหล่านี้เป็นเหมือนสุสานใต้ทะเล

 

เมื่อไม่กี่วันก่อน “ทรงธรรม สุขสว่าง” ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ แถลงว่า ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จ.ภูเก็ต ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ภัยพิบัติ พบอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 30 องศาเซลเซียส ทางศูนย์จึงสำรวจสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา พบว่าน้ำทะเลมีอุณหภูมิ 31 ํc ในระดับความลึกประมาณ 1-4 เมตร

เจ้าหน้าที่ดำลงไปสำรวจใต้ทะเลบริเวณดังกล่าว พบปะการังเขากวางและปะการังดอกเห็ดเริ่มฟอกขาวประมาณ 10%

ปะการังโขดเริ่มมีสีซีดในบางโคโลนี (colony : การอยู่รวมกันของกลุ่มปะการัง) แต่ยังไม่พบการตายของปะการัง

ส่วนผลสำรวจใต้ทะเลจุดอื่นๆ ในทะเลอันดามัน 7 สถานี ที่ระดับความลึก 2-5 เมตร มีอุณหภูมิ 30-31 ํc พบปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวแตกต่างกันในแต่ละสถานี

ที่เกาะสตอร์ก มีปะการังฟอกขาวร้อยละ 10 ส่วนใหญ่เป็นปะการังโขด (Porites lutea) และปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora sp.)

อ่าวจาก มีปะการังฟอกขาวร้อยละ 40 ส่วนใหญ่เป็นปะการังโขด ปะการังดอกกะหล่ำ และปะการังเขากวางพุ่ม (Acropora sp.)

หินแพ มีปะการังฟอกขาวร้อยละ 30 ส่วนใหญ่เป็นปะการังผิวยู่ยี่ (Synaraea rus) และปะการังดอกเห็ด (Fungia sp.)

หน้าช่องขาด มีปะการังฟอกขาวร้อยละ 50 ส่วนใหญ่เป็นปะการังโขด และปะการังผิวยู่ยี่

อ่าวเต่า มีปะการังฟอกขาวร้อยละ 70 ส่วนใหญ่เป็นปะการังผิวยู่ยี่และปะการังโขด

อ่าวผักกาด มีปะการังฟอกขาวร้อยละ 50 ส่วนใหญ่เป็นปะการังดอกเห็ดและปะการังดอกกะหล่ำ

ที่เกาะตอรินลา มีปะการังฟอกขาวร้อยละ 80 ส่วนใหญ่เป็นปะการังดอกเห็ด

ปะการังในแปลงทดลองมีสีซีดและเกิดการฟอกขาวทุกแปลงทดลอง

คุณทรงธรรมบอกว่า การตายของปะการังจากการฟอกขาว ในบางโคโลนีมีสาหร่ายสีน้ำตาลข้นปกคลุม คาดการณ์ว่าในกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไประดับความรุนแรงของการฟอกขาวจะเริ่มลดลงเนื่องจากมีลมมรสุม มีเมฆครึ้มและฝนตก แนวโน้มอุณหภูมิน้ำทะเลลดลง

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติจะสำรวจและประเมินการตายจากการฟอกขาวอีกครั้ง แต่ในชั้นนี้ควรมีมาตรการพักการใช้ประโยชน์บริเวณจุดที่มีการฟอกขาวที่ระดับน้ำตื้นกว่า 5 เมตร เพื่อลดการรบกวนแนวปะการัง

ส่วนศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง สำรวจติดตามสถานภาพปะการังในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม บริเวณเกาะกระดานทิศตะวันออก พบอุณหภูมิน้ำทะเลอยู่ในช่วง 32 ํc

ปะการังบางโคโลนีที่เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว เช่น ปะการังเขากวาง ปะการังผิวเกล็ดน้ำแข็ง ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังสมอง ปะการังกาแล็กซี่ ปะการังโขด ปะการังหนามขนุน ปะการังลายดอกไม้ ปะการังบูมเมอแรง ปะการังดอกเห็ด

ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณน้ำตื้นประมาณ 2-3 เมตร เฉลี่ยแนวปะการังที่เกิดการฟอกขาวประมาณ 5-10%

 

ที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 จ.ชุมพร ติดตามสถานการณ์ปะการังในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอ่าวไทยในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อุทยานแห่งชาติหาดวนกร อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร และอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม

ผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่าปะการังมีสีซีด และเกิดโรคบางชนิด ยังไม่พบการฟอกขาว อุณหภูมิน้ำทะเลเฉลี่ย 30-31 ํc สถานการณ์โดยรวมของปะการังในเขตอุทยานแห่งชาติฝั่งอ่าวไทยอยู่ในสถานภาพที่ต้องเฝ้าระวัง แม้ว่ายังไม่พบปะการังฟอกขาว

คุณทรงธรรมบอกว่า กรมอุทยานฯ สำรวจปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวตั้งแต่ปี 2549 เฝ้าติดตามมาตลอด แม้ว่าปีนี้ระดับจะไม่รุนแรง เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 หรือปี 2560 แต่ได้เห็นแนวโน้มน่าห่วง

คุณทรงธรรมชี้ว่า ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวไม่ใช่มีสาเหตุจากภาวะโลกร้อนเพียงอย่างเดียว แต่น้ำเน่าที่ชุมชนปล่อยทิ้งลงทะเลโดยไม่ผ่านการบำบัด ทำให้แหล่งปะการังพังเสียหายเช่นกัน

“คนส่วนใหญ่อาจมองว่าปะการังเป็นแค่สิ่งสวยงามใต้ท้องทะเล เป็นจุดท่องเที่ยว แต่ในความจริงแล้ว แหล่งปะการังมีความสำคัญมาก เป็นห่วงโซ่อาหาร สัตว์ใต้ทะเลทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นกุ้งหอยปูปลาร่วมชุมนุมกันที่นี่ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน แหล่งหลบภัย แหล่งอาหาร และยังช่วยป้องกันคลื่นยักษ์ซัดกระหน่ำชายฝั่ง” ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติอธิบาย

เมื่อแหล่งปะการังถูกทำลาย สัตว์น้ำหนีหายหรือสูญพันธุ์ ชาวประมงได้รับผลกระทบโดยตรง ชาวบ้านก็ไม่มีอาหารทะเลได้กินอย่างอุดมสมบูรณ์เหมือนก่อน

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว เป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า ถ้าอุณหภูมิของโลกยังเพิ่มสูงจนน้ำทะเลร้อนทะลุไปถึงหมู่ปะการังอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ใต้ทะเลอาจจะเหลือแค่ซากปะการัง เพราะไม่ใช่แค่ทะเลไทยแห่งเดียว แต่แหล่งปะการังทั่วโลกได้เกิดการฟอกขาวเหมือนๆ กัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0