โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิเคราะห์ : ปฏิกิริยาลูกโซ่จาก "เอล นีโญ"

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 17 ธ.ค. 2561 เวลา 03.47 น.
สิ่งแวดล้อม 1999

ศูนย์ทำนายสภาวะภูมิอากาศแห่งสหรัฐ (The Climate Prediction Centre) แถลงว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ “เอล นีโญ” แสดงอิทธิฤทธิ์ไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ในปีหน้าสภาวะภูมิอากาศโลกอาจจะร้อนสุดๆ และอุณหภูมิพุ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ผลอื่นๆ ที่ตามมาจากอิทธิฤทธิ์ “เอล นีโญ” จะเกิดคลื่นความร้อนหรือฮีตเวฟ พายุไซโคลน

ก่อนหน้านี้องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก กางสถิติในห้วง 22 ปีที่ผ่านมา มีสภาวะภูมิอากาศโลกร้อนถึงร้อนมาก 20 ปี

ในช่วง 4 ปีที่แล้ว อากาศร้อนที่สุดติดอันดับ 4

อุณหภูมิยิ่งเพิ่มสูงมากเท่าไหร่ ยิ่งเกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมโลกมากขึ้นเท่านั้น

เป็นผลลบกับสุขภาพร่างกายของคน แหล่งน้ำ พืชผักธัญญาหาร สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงสัตว์น้ำและปะการังใต้ท้องทะเล

 

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐจับปรากฏการณ์ “เอล นีโญ” ในขณะนี้มีสาเหตุจากน้ำทะเลอุ่นขึ้นอย่างผิดปกติบริเวณตอนกลางและตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน เนื่องเพราะลมค้า (trade wind) อ่อนกำลังลง

ตลอดช่วง 118 ปี เกิด “เอล นีโญ” ในลักษณะเช่นนี้มาแล้ว 27 ครั้ง

ผลจากเอล นีโญทำให้ชาวออสเตรเลียเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งและไฟป่าอย่างรุนแรงทำลายสถิติเก่าๆ ถึง 10 ครั้ง ขณะที่บริเวณทวีปอเมริกาเหนือมีอากาศหนาวเย็นยะเยือก

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนักอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียเห็นแย้งนักวิทยาศาสตร์สหรัฐว่า ยังไม่มีสัญญาณชี้ชัด “เอล นีโญ” จะแผ่อิทธิฤทธิ์รุนแรงเหมือนในอดีต

ฉะนั้นก็ต้องเฝ้าดูกันต่อว่า สภาวะภูมิอากาศโลกจะเป็นไปตามคำทำนายของศูนย์ทำนายสภาวะภูมิอากาศแห่งสหรัฐหรือไม่

 

หันกลับมาดูรายงานการประเมินผลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ฉบับที่ 4 เป็นฉบับล่าสุด ที่รัฐบาลสหรัฐนำออกเผยแพร่อย่างเงียบๆ ในช่วงเทศกาลขอบคุณพระเจ้า (อ่านย้อนหลังตอนที่ 156)

ขอสรุปอย่างละเอียดเป็นตอนๆ ให้ครบถ้วนครบประเด็นมากที่สุด เพราะมองว่าเป็นรายงานที่นักวิทยาศาสตร์สหรัฐเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ

และมีหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นว่า สภาวะภูมิอากาศโลกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้วจริงๆ

รายงานชิ้นนี้ไม่เพียงมีความน่าเชื่อถือในด้านข้อมูลเท่านั้น หากยังมีข้อสรุปสวนแนวคิดของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐซึ่งไม่เชื่อว่าโลกร้อนมีจริง

 

บทเกริ่นนำรายงานฉบับดังกล่าวชี้ว่า สภาวะภูมิอากาศในปัจจุบันเปลี่ยนไปเร็วกว่าข้อมูลที่บันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์โลกยุคศิวิไลซ์สมัยใหม่ (the history of modern civilization)

ปฐมเหตุของสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากกิจกรรมของชาวโลก

ชาวอเมริกันต่างรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงและคาดการณ์ว่าอนาคตความรุนแรงจะขยายตัวแผ่กว้างซึมลึก

แต่จะกว้างลึกอีกเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับว่า ชาวโลกมีความตั้งใจช่วยกันลดการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศมากแค่ไหน

ขณะนี้ชาวอเมริกันได้รับผลกระทบและมีปฏิกิริยาตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศไปเรียบร้อยแล้ว

 

รายงานฉบับนี้ได้ยกตัวอย่างอ่างเก็บน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำโคโลราโด เผชิญภัยแล้งยาวนานจนน้ำในอ่างแห้งเหือด ทางการต้องปรับแผนบริหารจัดการน้ำใหม่ทำอย่างไรให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด

เช่นเดียวกับรัฐเนแบรสกาปรับแนวคิดจัดโครงการช่วยเหลือเกษตรกรเลี้ยงวัวลดความเสี่ยงที่เกิดจากภัยแล้งและอากาศที่ร้อนอย่างสุดๆ

รัฐฮาวายเร่งหาวิธีการลดผลกระทบจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงจนกระทั่งแหล่งปะการังเกิดภาวะฟอกขาว เพราะจะเกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมประมง

รัฐอแลสกา เจ้าหน้าที่ช่วยกันจัดตั้งองค์กรด้านสุขภาพเพื่อช่วยเหลือชาวเผ่าพื้นเมือง เกิดภาวะเครียดจากอากาศร้อนจัด และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เคยอยู่ในสภาพอากาศหนาวจัด หิมะขาวโพลน

เกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางฝั่งตะวันตกหรือมิดเวสต์ ร่วมกันคิดแนวทางลดผลกระทบจากฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลันทำให้ดินเสื่อม แร่ธาตุในดินลดลง

เจ้าหน้าที่รัฐในแถบตะวันตกเฉียงเหนือหรือนอร์ทเวสต์ เตรียมแผนระดมสรรพกำลังป้องกันแนวไฟป่าไม่ให้ลุกลามเผาบ้านเรือนชุมชน แหล่งพักผ่อนหย่อนใจและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังต้องจัดหน่วยกู้ภัยและหน่วยพยาบาลให้มากขึ้นสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่สูดควันพิษเข้าไปได้ทันท่วงที

รัฐเท็กซัส ผ่านประสบการณ์พายุเฮอร์ริเคนถล่มอย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ร่วมคิดแนวทางป้องกันโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าถนน สะพาน หรือเสาไฟฟ้า ไม่ให้เกิดความเสียหายเหมือนในอดีต

 

ภาวะโลกร้อนบีบรัดชาวอเมริกันปรับตัวเพื่ออยู่รอดกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น การนำข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับการใช้น้ำและปรากฏการณ์ภัยแล้งมาคำนวณ บริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ

เขื่อน พนังกั้นน้ำ ฝายรับน้ำ จะต้องออกแบบใหม่ให้สมดุลกับระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนไป

นักวิทยาศาสตร์อเมริกันต้องนำแนวคิดใหม่ๆ ในการนำพลังงานมาป้อนให้กับบ้านเรือนของผู้ประสบภัยอย่างมีประสิทธิภาพ

แหล่งกำเนิดพลังงานต้องไม่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกต่ำมาก เป็นพลังงานที่มีราคาถูก และมีปริมาณมากเพียงพอต่อความต้องการของชาวโลก

แนวคิดเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นักวิทยาศาสตร์ต้องทำการบ้านอย่างหนัก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0