โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิเคราะห์ การคัมแบ๊ก ของ "อภิสิทธิ์" ในตำแหน่งหัวหน้า ปชป. ตัวชี้อนาคต-ผลเลือกตั้ง "62

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 19 พ.ย. 2561 เวลา 04.11 น.
ในประเทศ

ผลชนะการเลือกตั้งหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ของ “หัวหน้ามาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สมัครหมายเลข 1 ชนะ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ผู้สมัครหมายเลข 2 ด้วยคะแนน 67,505 ต่อ 57,689 คะแนน ห่างกันเพียง 9,816 คะแนน ส่วนนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค ผู้สมัครหมายเลข 3 คะแนนรั้งท้าย เข้าป้ายมาที่ 2,285 คะแนน

ทำให้นายอภิสิทธิ์ได้เป็นหัวหน้าพรรค ปชป.อีกสมัย ทั้งที่คะแนนที่ได้ชัยชนะทิ้งห่างจากหมอวรงค์แค่เกือบหมื่นคะแนนเท่านั้น

ตัวเลขชนะแบบนี้ถือว่าหืดขึ้นคอเหมือนกัน

เพราะคู่แข่งอย่างหมอวรงค์ที่เพิ่งลงท้าชิงหยั่งเสียงเลือกตั้งครั้งแรก สังเกตได้จากตอนประกาศคะแนน สีหน้าของนายอภิสิทธิ์ไม่สู้ดีนัก

นั่นคงเป็นเพราะจำนวนตัวเลขที่ชนะ ที่คิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกพรรคทั้งหมดนั้น เป็นคะแนนที่ตีตื้นขึ้นมาแบบที่เห็นได้ชัดว่า สมาชิกพรรค ปชป.ที่ลงคะแนนให้หมอวรงค์กว่า 5.7 หมื่นคะแนน ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงพรรค เปลี่ยนผู้นำในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

ตัวเลขที่ออกมาจึงสูสีแบบสุดๆ

การหยั่งเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ปชป.แม้จะเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่พรรคการเมืองเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้เป็นสมาชิกได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกผู้นำพรรคด้วยตัวเอง

เมื่อเป็นครั้งแรกย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้น

แต่ก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ประกาศเลือกตั้ง จนมีเหตุให้ต้องเลื่อนวันลงคะแนนหยั่งเสียงจากวันที่ 5 พฤศจิกายน ไปเป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน

ยังไม่รวมถึงระบบไอโอเอสที่ขัดข้อง แอพพลิเคชั่นที่ไม่สมบูรณ์ ผิดแผนไปจนถึงวันสุดท้ายที่จะประกาศผล ทั้งที่ผลการเลือกตั้งควรจะออกมาตั้งแต่คืนวันที่ 9 พฤศจิกายน แต่ก็มีเหตุขัดข้องให้ต้องเลื่อนมาประกาศผลในวันที่ 10 พฤศจิกายนแทน

แน่นอน ข้อกังขาย่อมมีขึ้นมากมายว่าเป็นเพราะอะไรถึงผิดพลาดได้มากเพียงนี้

มีเบื้องลึก เบื้องหลังอะไรในการลงคะแนนเสียงครั้งนี้หรือไม่

คะแนนโหวตในระหว่างการหาเสียงมีการเล่นเกมใต้ดินกันหรือเปล่า

และทำไมระหว่างที่มีการเปิดให้หยั่งเสียง ฝั่งผู้สมัครทั้ง 2 เบอร์ คือ ฝั่งนายอภิสิทธิ์ และ นพ.วรงค์ ถึงได้มีปากมีเสียงกันรุนแรงในเรื่องของระบบไอทีของแอพพลิเคชั่นอยู่ตลอด

อีกฝ่ายโทษว่าอีกฝ่ายคัดลอก source code ไป ส่วนอีกฝ่ายก็กล่าวหาว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้จัดหาบริษัทที่ทำแอพพลิเคชั่นเป็นตัวปัญหา

ที่น่าสนใจคือ บริษัทที่รับงานมาวางระบบไอทีการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค ปชป. คือ บริษัท วี เอเวอร์ จำกัด แม้ กกต.พรรคเองยังยอมรับว่าจะต้องมีการสอบสวนทางบริษัทที่รับงานมาถึงผิดพลาดที่เกิดขึ้นในระบบต่างๆ ของการหยั่งเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

ที่น่าสังเกตคือ ผู้รับงานหรือผู้บริหารของบริษัทดังกล่าว นามสกุลคุ้นๆ กันดี

ซึ่งเป็นนามสกุลเดียวกับแกนนำของพรรคเพื่อไทย สิ่งที่สมาชิกและอดีต ส.ส.หลายคนท้วงติงมาตลอดคือ เกรงว่าฐานข้อมูลของสมาชิกจะตกไปอยู่ในมือของฝ่ายการเมืองตรงข้าม ซึ่งสุ่มเสี่ยงและอันตรายกับการถูกแย่งฐานสมาชิก

เกมนี้จึงเหมือนปกติ แต่ไม่ปกติ

แต่ในเมื่อหัวหน้าพรรคคือ “อภิสิทธิ์” แน่นอนว่าทุกฝ่ายก็ก้มหน้ายอมรับและเดินหน้าเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ทันที และพรรค ปชป.คงเป็นพรรคที่เลือก กก.บห.นานที่สุด และจำนวน กก.บห.เยอะที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองที่มีอยู่ด้วย

เริ่มจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคที่ดูแลภาคต่างๆ ในประเทศทั้งหมด 5 ภาค และมี 2 คนเท่านั้นที่เก้าอี้ยังเหนียว นั่นคือภาคใต้ ที่ได้ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รวมถึงภาคตะวันออก ที่ได้ “สาธิต ปิตุเตชะ” เป็นรองหัวหน้าพรรคเหมือนเดิม

ส่วนภาคเหนือได้ “แม่เลี้ยงติ๊ก” หรือ “ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู” คัมแบ๊กมาอีกครั้ง

และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานนั้น ได้ “วิฑูรย์ นามบุตร” อดีต ส.ส.อุบลราชธานี กลับมาดูแล

แต่เป็นที่น่าจับตาก็คือ รองหัวหน้าพรรคภาค กทม. ที่ “องอาจ คล้ามไพบูลย์” เจ้าของตำแหน่งเดิม น่าจะประมาทหาเสียงน้อยกว่าคู่แข่งอย่าง “สรรเสริญ สมะลาภา” ไปหน่อย

งานนี้ “องอาจ” จึงตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย

ถัดมาคือรองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ ที่เพิ่มจำนวนจาก 5 คน เป็น 8 คน โดย “อภิสิทธิ์” ได้ระบุว่า การที่จะต้องมีตำแหน่งดังกล่าวเนื่องจากภาคบางภาคของพรรค ปชป.ยังต้องการคนไปช่วยดูแลให้พื้นที่ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยรองหัวหน้าพรรคทั้ง 8 คน ประกอบด้วย

1. “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” คนนี้มาแรงคะแนนนำโด่งตอนเลือกตั้งในวันเลือก กก.บห. จึงไม่แปลกใจที่จะได้ไปต่อ เพราะที่ผ่านมาเดินหน้าทำงานให้พรรคอย่างไม่หยุดหย่อน เป็นตัวแทนหัวหน้าพรรครับหน้ากับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่หลายงาน

2. “นิพนธ์ บุญญามณี” แทบจะเป็นอดีต ส.ส.สงขลาเพียงไม่กี่คนที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ในการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค และยังเป็นแกนนำจัดการทุกเรื่องให้กับนายอภิสิทธิ์ตอนลงพื้นที่หาเสียงที่ จ.สงขลาอีกด้วย ทั้งที่อดีต ส.ส.สงขลาจำนวนหลายคนสนับสนุน “กลุ่มเพื่อนหมอวรงค์” กันเกือบทั้งหมด

3. “อิสสระ สมชัย” แน่นอนว่าการที่ได้นายอิสสระมานั้น ทั้งที่เคยเป็นอดีต กปปส.ตัวเป้ง แต่ต้องมีคนแบบนี้ไว้ทำงาน หากจะให้ตำแหน่งนี้ตรงตามเป้าหมายที่นายอภิสิทธิ์วางไว้คือ มาช่วยรองหัวหน้าพรรคภาคอีสานนั่นเอง

4. “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์

5. “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์

6. “พนิต วิกิตเศรษฐ์” อดีตเคยเป็นแกนนำร่วมกับนายวีระ สมความคิด ในการบุกเข้าไปในคดีเขาพระวิหาร แต่ในที่สุดนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ไปประกันตัวออกมาได้ โดยในช่วงที่ คสช.เข้ามายึดอำนาจตลอด 4 ปี นายพนิตได้ติดตามภารกิจของนายอภิสิทธิ์อย่างใกล้ชิดมาตลอด จึงไม่แปลกที่ตำแหน่งนี้จะได้มาโดยง่าย

7. “อลงกรณ์ พลบุตร” แม้เจ้าตัวจะบอกว่า กว่าจะกลับเข้าพรรคได้ทำเอาปางตาย แต่การกลับมาครั้งนี้ก็เข้ามาแบบใสๆ ช่วงหาเสียงก็ไม่ได้โจมตี “อภิสิทธิ์” ต่างจากฝั่ง นพ.วรงวค์ที่หาเสียงโจมตีนายอภิสิทธิ์มาตลอด

และ 8. “อัศวิน วิภูศิริ” อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคเหนือใน กก.บห.ชุดก่อน

สำหรับตำแหน่งเลขาธิการพรรค “เสี่ยไก่” จุติ ไกรฤกษ์ ก็มาวินเช่นเคย แต่ที่น่าจับตาคือตำแหน่งรองเลขาฯ ที่ได้ “เอกณัฏ พร้อมพันธุ์” และ “ตั๊น” จิตภัสร์ กฤดากร สองคู่ขวัญแกนนำ กปปส. เข้ามาเป็น กก.บห.ด้วย ส่วนตำแหน่งโฆษกพรรคก็ตกเป็นของ “ธนา ชีรวินิจ”

ได้เห็นหน้าค่าตา กก.บห.พรรคชุดนี้แล้ว เรียกได้ว่า “ล้างบาง” ทีมหมอวรงค์ออกไปทั้งหมด ทั้งที่ช่วงหาเสียงทุกฝ่ายต่างบอกว่า ถ้าตัวเองชนะจะเอาตัวแทนอีกฝ่ายมาร่วมทำงาน แต่ก็นั่นแหละ ใครจะเอาฝ่ายตรงข้าม (ทั้งที่อยู่พรรคเดียวกัน) มาให้เป็นเสี้ยนหนามในการทำงาน

แต่ที่ “อภิสิทธิ์” ต้องไม่ประมาทและไม่ลืมว่า สำหรับชาว ปชป. ชัยชนะไม่ได้อยู่ที่เก้าอี้หัวหน้าพรรค แต่อยู่ที่สนามใหญ่การเลือกตั้งปี 2562 ถ้า “อภิสิทธิ์” นำทีม กก.บห.ชุดนี้ชนะการเลือกตั้งไม่ได้ ก็เท่ากับว่าชาวประชาธิปัตย์แพ้

และอาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายในฐานะผู้นำพรรคของ “หัวหน้ามาร์ค”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0