โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'วิษณุ' แย้มทางออก หาก 'ศาล' วินิจฉัย 'ร่างพ.ร.บ.งบฯ63' โมฆะ

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 25 ม.ค. 2563 เวลา 09.47 น.

เมื่อวันที่ 24 ม.ค.63 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกันระหว่างลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า ต้องรอ 2 อย่างคือ ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสภาผู้แทนราษฎร และรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยต้องรอผลตรวจสอบของสภาฯก่อน อย่างไรก็ตาม บัตรประจำตัว ส.ส.จะใช้ 2 กรณี ได้แก่ แสดงตนและลงมติ ปัญหาคือ มีการแสดงตนและกดลงมติหรือไม่ อย่างการลงมติในวาระ 2 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มีการทำผิดๆ ถูกๆ ตั้งแต่มาตรา 31 ขึ้นไปนั้น ตรงนั้นไม่ต้องแสดงตน เพราะแสดงไปแล้วในตอนต้น แต่พอจบวาระ 2 จะขึ้นวาระ 3 ต้องแสดงตนใหม่ จึงต้องดูว่าเป็นไปได้อย่างไรว่ามีการเสียบบัตรคาไว้ แล้วเด้งออกมาเป็นการแสดงตน จากนั้นเด้งออกมาเป็นการลงมติ ต้องตรวจสอบตรงนี้ ถ้าตอนแสดงตนไม่มีการแสดงตนตอนลงมติก็จะไม่เกิด หากเจ้าตัวไม่อยู่แล้วบัตรเสียบคาไว้จริงอย่างที่อ้าง การที่บัตรคาอยู่มันจะไม่เกิดผลอะไรทั้งนั้น ดังนั้น ต้องให้เขาตรวจสอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า บางฝ่ายพยายามหยิบยกเจตนาว่า เจ้าตัวอยู่ในห้องประชุม แต่มีการฝากบัตรกับเพื่อน เนื่องจากช่องลงมติไม่พอ นายวิษณุ กล่าวว่า เจตนาไม่ใช่เรื่องใหญ่ สุดท้ายให้ออกมาเป็นข้อเท็จจริงว่าเสียบบัตรคาไว้หรือไม่ หรือมอบหมายให้ใครกดหรือไม่ หรือได้มอบหมายคนอื่นแล้วรู้หรือไม่ว่าใครกด อาจจะได้คำตอบไม่ครบหมดก็ได้ ได้เท่าไรก็เท่านั้น

เมื่อถามถึงข้อเสนอให้มีการใช้วิธีสแกนนิ้วเพื่อแก้ปัญหาการเสียบบัตรแทนกัน นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่แน่ใจแม้จะได้ยินเรื่องนี้ แต่หากที่นั่ง ส.ส.กำหนดตัวบุคคลไว้แล้ว ใครไม่อยู่ที่ตรงนั้นก็ว่าง สามารถช่วยแก้ปัญหาได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลสอบของสภาฯออกมาอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังต่อไปในอนาคต เพราะกว่าห้องประชุมสุริยันจะเสร็จระหว่างนี้จะมีการลงมติอีกหลายครั้ง ต้องระมัดระวังไม่ให้ใครที่มีเจตนาร้าย หรือไม่ได้เจตนาร้ายแต่เลินเล่อ หรือกระทำโดยมิชอบประการใดจนทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทั้งหมด ไม่ควรจะเกิดขึ้น ต้องป้องกัน

เมื่อถามว่า มีการหารือกับนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับทางออกของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แล้วหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทางออกมันมีอยู่ แต่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียก่อน เราจะได้รู้ว่าถ้าศาลวินิจฉัยว่าผิดตรงไหนจะได้แก้ไขเสีย

เมื่อถามว่า ขณะนี้หลายฝ่ายกังวลกันไปหมด นายวิษณุ กล่าวว่า ตนบอกไปแล้วว่าไม่มีอะไร แต่ถ้าล่าช้านั้นเรื่องจริง วันนี้ความกังวลคือ การล่าช้า แต่ถ้ากังวลว่าจะเกิดความเสียหายร้ายแรงนั้นมันไม่เกิด อย่าไปพูดให้เกิดความกังวล มีคนออกมาพูดก่อนว่าจะวิบัติ ตนจึงย้ำว่าไม่วิบัติ อย่างไรก็ทำได้ ข้าราชการได้เงินเดือน เพราะสำนักงบประมาณได้เตรียมวิธีแก้ปัญหาไว้แล้ว พอดีพอร้ายเผลอๆ โครงการต่างๆ อาจมีช่องทางไปได้ แต่โครงการลงทุนใหม่อาจจะยาก ขอให้รู้ก่อนว่าความผิด บกพร่อง เกิดขึ้นที่ตรงไหน จะแก้อย่างไร ส่วนการออก พ.ร.ก.เงินกู้ไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด นั่นเป็นทางสุดท้าย

เมื่อถามว่า รัฐบาลมีทางออกอยู่แล้วใช่หรือไม่ แต่ไม่มั่นใจจึงประสานวิปรัฐบาลให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่ไม่มั่นใจ มั่นใจแต่ไม่บอก ต่อข้อถามว่า กรณีนี้สามารถขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเร่งด่วนได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ศาลรู้อยู่แล้ว เพราะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันเหมือนกับทุกคน ส่วนจะรวดเร็วแค่ไหนนั้น ก็ไม่ควรจะเร็วกว่ากำหนดเวลาที่ควรจะเป็น

นายวิษณุ กล่าวว่า กรณีนี้ต่างกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 56 และ 57 และความต่างยังมีอีกว่ากรณีปี 56 เป็นกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนปี 57 เป็น ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเสียไปเพราะกระบวนการไม่ถูกต้อง วันนี้สังเกตหรือไม่ว่าไม่มีใคร โดยเฉพาะฝ่ายค้านพูดถึงกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 56 พูดแต่ พ.ร.บ.กู้เงิน ปี 57 โดยทั้ง 2 กรณีเป็นการเสียบบัตรแทนกันโดยคนๆเดียวกัน และตอนนั้นการพิจารณากฎหมายทั้งสองฉบับ ไม่มีกำหนดเวลา เมื่อเสียคือเสียไป แต่บังเอิญร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯนั้น ในมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ชัดว่าหากพิจารณาไม่แล้วเสร็จใน 105 วัน ให้ถือว่าสภาฯเห็นชอบ ที่เขียนไว้เช่นนั้นเพราะเขากลัวสภาฯแช่ไว้ แปรญัตติกันไปกันมา จึงเขียนว่าถ้าไม่เสร็จให้ถือว่าเสร็จ ดังนั้น จึงเป็นความต่างอยู่ แต่หากศาลบอกว่าไม่ต่างก็แล้วแต่ศาล เพียงแต่ที่ยื่นเพื่อชี้ประเด็นให้เห็นว่าไม่เหมือนกัน

"พูดก็พูดนะ กฎหมายงบประมาณถ้าไม่ล็อกเรื่อง 105 วัน มันมีช่องทางคิดได้เหมือนกันว่าเอากลับไปโหวตใหม่ แต่เมื่อมีกำหนดเวลาเอาไว้ ก็เป็นช่องที่ขอให้ศาลวินิจฉัยหน่อยว่าจะเอามาใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ ลองคิดเอาง่ายๆ 105 วัน ครบเมื่อต้นเดือน ม.ค. ผมไม่ได้สรุป แต่ชี้ให้เห็นว่ามีนัยยะที่ต่างจากสองเรื่องที่เคยเกิดขึ้น"นายวิษณุ กล่าวและว่า หากมาตรา 143 สามารถใช้ได้กับเรื่องนี้ มันจะกลับไปสู่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯที่เสนอในวาระที่ 1 ทุกอย่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตัดๆ ไปจะกลับไปสู่ร่างแรก เพราะเจตนาของมาตรานี้ต้องการให้เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ไม่ได้คิดว่าจะเกิดกระบวนการทำผิด หรือคณะกรรมาธิการทำล่าช้า

เมื่อถามว่า เพราะมีมาตรา 143 ใช่หรือไม่ จึงระบุว่าไม่ถึงขั้นวิบัติ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่ทางออกสุดท้าย แต่เป็นทางออกหนึ่ง ซึ่งมีถึง 6-7 ทางออก

เมื่อถามว่า หากศาลวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯเป็นโมฆะ จะมีผลกับรัฐบาลเหมือนร่างไม่ผ่านสภาฯหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สมมุติว่าโมฆะหมดเลย ก็หาทางออกอื่น มีหลายทาง มันใหญ่กว่าช่องเยอะ ไม่ต้องรอด เดินสง่าผ่าเผย เมื่อถามอีกว่า หากโมฆะ รัฐบาลต้องรับผิดชอบหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า รับผิดชอบอย่างไร งบประมาณก็ได้ออก ไม่มีใครเดือนร้อน ไม่มีข้าราชการคนไหนไม่ได้เงินเดือน หรือโครงการไหนดำเนินการไม่ได้ เพียงแต่มันจะช้า ไม่มีปัญหา ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่คาดหมายว่าจะวิบัติ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0