โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิรัตน์ แสงทองคำ : ทีซีซี กับมิติใหม่ "สายสัมพันธ์ธุรกิจ"

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 19 มิ.ย. 2562 เวลา 05.04 น. • เผยแพร่ 19 มิ.ย. 2562 เวลา 05.04 น.
วิรัตน์ 2026

ช่วง 2 ทศวรรษกลุ่มทีซีซีที่ผ่านมา เต็มไปด้วยเรื่องราวอันซับซ้อน ว่าด้วย “สายสัมพันธ์ทางธุรกิจ”

ผมเคยกล่าวไว้คร่าวๆ

“ว่าด้วยสายสัมพันธ์กับบทเรียนธุรกิจ แนวทางอรรถาธิบายในเชิงสังคมว่าด้วย “ทุน” ไทยยุคใหม่ ในความพยายามก้าวออกสู่โลกภายนอกอย่างมีแบบแผนมากกว่าอดีต จากการสร้างเครือข่ายธุรกิจระดับภูมิภาค เข้าซื้อกิจการใหญ่อันเก่าแก่ยุคก่อนสร้างชาติสิงคโปร์ ต่อมาร่วมทุนกับรัฐบาลเวียดนามในธุรกิจเบียร์ดูเหมือนย้อนรอยบทเรียนในเมืองไทย จนกระทั่งสร้างสายสัมพันธ์ใหม่จาก Maxim”s Group เชื่อว่าจะพยายามไปยังเครือข่ายธุรกิจใหญ่แห่งฮ่องกง ซึ่งมีตำนานย้อนไปใกลถึงยุคอาณานิคม อย่างนวนิยายเรื่อง Tai-Pan ของ James Clavell” (จากตอนก่อน ว่าด้วยกรณีไทยเบฟกับสตาร์บัคส์)

มีมิติสำคัญๆ ควรอรรถาธิบายให้กว้างขึ้น ว่าด้วยพัฒนาการที่น่าสนใจ อาจเป็นอีกบทเรียนซึ่งตกผลึกสำหรับสังคมธุรกิจไทยก็เป็นไปได้

 

กลุ่มทีซีซีภายใต้การนำของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ถือเป็นกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย ก่อร่างสร้างธุรกิจมาเมื่อราวๆ 4 ทศวรรษที่ผ่านมานี่เอง

เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ ของไทย ไม่ว่ากลุ่มธนาคารใหญ่ เครือซีพี แม้กระทั่ง กลุ่มเซ็นทรัล ถือว่ากลุ่มทีซีซียังเยาว์วัย

หากย้อนกลับไป ยุคเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้าควบคุมวงจรสัมปทานผูกขาดค้าสุราในฐานะธุรกิจโมเดลเก่า ซึ่งซ่อนตัวอย่างเงียบๆ ท่ามกลางเครือข่ายธุรกิจใหญ่ โดยเฉพาะเครือข่ายธุรกิจครอบครัว ซึ่งมีธนาคารเป็นแกน (ผมเรียกว่า ระบบธนาคารครอบครัว) จะเห็นบางภาพซ้อนอันย้อนแย้ง

เป็นระยะคาบเกี่ยวกับการสิ้นสุดสงครามเวียดนาม (ปี 2518) กับ “ทฤษฎีโดมิโน” ความวิตกกังวลปกคลุมไปทั่ว จากปรากฏการณ์ขยายตัวของคอมมิวนิสต์ จากเวียดนามสู่ลาว (ปี 2518) และเขมร (เขมรแดงปกครองปี 2518-2522)

ยิ่งไปกว่านั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับขบวนคอมมิวนิสต์ไทยเติบโตขึ้น โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม นักศึกษาจำนวนนับหมื่นเข้าสู่เขตป่าเข้าร่วมขบวนการ

สังคมธุรกิจไทยเผชิญการปรับตัว การปรับโครงสร้างครั้งสำคัญ ถือว่าเป็นครั้งแรกๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยก็ว่าได้

เครือข่ายธุรกิจระดับโลกจากโลกตะวันตก ทั้งจากยุคอาณานิคมและเพิ่งเข้ามาในช่วงต้นๆ สงครามเวียดนาม บางรายถอนตัวออกไป

ปี 2522 เกิดวิกฤตการณ์ตลาดหุ้นฮ่องกง ส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาค ตลาดหุ้นไทยซึ่งยังอยู่ในระยะเยาว์วัย ทำลายโอกาส “หน้าใหม่” อย่างราบคาบ ด้วยการล้มลงของสถาบันการเงินชั้นรองที่รัฐเปิดโอกาสให้มีขึ้นในช่วงก่อนหน้านั้นไม่นาน ขณะที่สถาบันการเงินมีธนาคารหนุนหลังเผชิญบททดสอบ แต่ก็ผ่านไปได้

ระบบธนาคารครอบครัว ในฐานะแกนกลางของระบบเศรษฐกิจไทย ได้สถาปนาโมเดลแห่งความมั่งคั่งมีการขยายตัวจากธุรกิจธนาคารสู่ธุรกิจข้างเคียงและธุรกิจอื่นๆ จากโอกาสที่มีมากกว่าใครๆ

ขณะกลุ่มธุรกิจที่เติบใหญ่มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองอีกบางกลุ่ม ซึ่งอ้างอิงความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกและญี่ปุ่น สามารถเอาตัวรอดมาได้เช่นกัน

 

กลุ่มทีซีซีผ่านมรสุมทางธุรกิจมาไม่น้อยเช่นกัน แต่ด้วยพลังระบบสัมปทานผูกขาด อ้างอิงกับฐานใหญ่ผู้บริโภค ไม่เพียงสามารถเอาตัวรอดได้ หากในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น ทีซีซี-กลุ่มธุรกิจไทยแสดงพลังซึ่งมีเหลือเฟือ ให้ภาพโดดเด่น ท่ามกลางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจไทยครั้งใหญ่หลังวิกฤตการณ์ปี 2540

กลุ่มทีซีซีผู้กวาดซื้อถือครองทรัพย์สินอย่างมากมาย อย่างหลากหลาย และถือเป็นทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์ ทรัพย์สินซึ่งสะท้อนช่วงเวลาต่างๆ สังคมธุรกิจไทย

อาจให้ภาพต่อเนื่องที่มีสีสันยิ่ง จากพ่อค้าเชื้อสายจีน เริ่มต้นจากสองมือเปล่า สร้างโอกาสจากธุรกิจอิทธิพลจากสัมปทานผูกขาดค้าสุราในยุคสุดท้าย สามารถสะสมความมั่งคั่ง มีฐานะอย่างมั่นคง สร้างสายสัมพันธ์กับสังคมวงใน ประหนึ่งย้อนเวลากลับไปเชื่อมกับรากเหง้า ผ่านช่วงประวัติศาสตร์สำคัญสังคมไทย ทั้งสร้างโอกาสธุรกิจในโมเดลใหม่ๆ มีคุณค่าในความหมายกว้างขึ้น ไม่เพียงสร้างความมั่งคั่ง หากมีฐานะทางสังคม จาก “หน้าใหม่” สู่ Old establishment

เมื่อมองผ่านกรณีสำคัญที่น่าสนใจ อาจมองเห็นพัฒนาการอย่างน่าสนใจ

 

ขั้นต้น-อสังหาริมทรัพย์ยุคอาณานิคม

ไม่ต้องสงสัยว่า กับธุรกิจสัมปทานผูกขาดค้าสุราซึ่งมีเงินสดหมุนเวียนอย่างมาก การได้มาซึ่งที่ดินจำนวนมากข้างเคียงโรงงานสุราทั่วประเทศ เป็นเบื้องต้นที่เป็นไป จากนั้นค่อยๆ เคลื่อนสู่พื้นที่เฉพาะเจาะจงในเมืองหลวง สู่อสังหาริมทรัพย์แห่งตำนานสังคมธุรกิจไทย ท่ามกลางกระบวนการนั้นได้ก่อเกิดสายสัมพันธ์ใหม่กับผู้คนในสังคม

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ อสังหาริมทรัพย์ยุคอาณานิคม อาจเชื่อมโยงเชิงจิตสำนึกและจินตนาการ ถึงยุคบุกเบิกธุรกิจไทย เทียบเคียงกับธุรกิจดั้งเดิมอันมั่นคง อย่างเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี และธนาคารไทยพาณิชย์ และก็ถือว่าไปไกลกว่าตำนานเครือซีพีและกลุ่มเซ็นทรัล

หนึ่งในนั้น–เอเชียทีคเดอะริเวอร์ฟร้อนท์

“เปิดตำนานของท่าเรือระหว่างประเทศที่แรกของสยาม ย้อนกลับไปในช่วงปี 1884 (ปี พ.ศ.2447) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประเทศในเอเชียอยู่ภายใต้การคุกคามของการรุกรานจากมหาอำนาจยุโรป ด้วยการมองการณ์ไกลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีความคิดริเริ่มที่จะยกระดับสยามให้ไปถึงประเทศชั้นนำของโลกและตัดสินใจที่จะสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเดนมาร์ก รวมถึงในขั้นตอนนี้คือการก่อสร้างของท่าเรือที่เป็นของบริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก ซึ่งทำธุรกิจที่ทุ่มเทให้กับการส่งออกไม้สัก โดยมี Mr. Hans Nille Anderson, สัญชาติเดนมาร์ก เป็นเจ้าของบริษัท

ท่าเรือนี้คือสัญญาณการเริ่มต้นของการทำการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างราชอาณาจักรไทยและประเทศในยุโรป และเป็นกุญแจสำคัญในการที่สยามยังคงรักษาอธิปไตยและความเป็นอิสระจวบจนทุกวันนี้

ปัจจุบันพื้นที่เดียวกันนี้ที่ท่าเรืออีสต์เอเชียติ๊กครอบครองกำลังคืนไปสู่ความรุ่งโรจน์เดิมภายใต้ชื่อ “เอเชียทีคเดอะริเวอร์ฟร้อนท์” ด้วยครั้งแรก และเป็นที่ที่วิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ตั้งอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยา”

บทอรรถาธิบายของกลุ่มทีซีซี (http://www.asiatiquethailand.com) อย่างตั้งใจเชื่อมโยงกับอดีตอย่างเห็นภาพ (ยกข้อความสำคัญโดยไม่ตัดทอน)

 

ขั้นต่อมา-บริษัทอาณานิคม

จากทรัพย์สินที่จับต้องได้ สู่นามธรรม ขณะที่มีความหมาย มีคุณค่าทางธุรกิจมากขึ้นด้วย นั่นคือเข้าครอบงำเป็นเจ้าของธุรกิจซึ่งมีตำนาน อย่างกรณี เสริมสุข

บริษัทเสริมสุข เกิดขึ้นจากความร่วมมือพันธมิตรตระกูลธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลสังคมไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และสายสัมพันธ์กับธุรกิจอิทธิลพลระดับโลกจากสหรัฐ-PEPSI แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น ไปไกลกว่านั้น คือกรณี บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์

“บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) การถือกำเนิดของหุ้นส่วนในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2425

จากอดีตแห่งความภาคภูมิกว่า 135 ปีในประเทศไทย บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (“บีเจซี”) ในวันนี้ เป็นหนึ่งในบรรดาบริษัทชั้นนำของไทย ในการประกอบธุรกิจพาณิชยกรรมนำเข้า-ส่งออก การผลิตและการให้บริการ

จุดเริ่มต้นของบีเจซี มาจากหุ้นส่วนทางธุรกิจที่แข็งแกร่งระหว่างตระกูลเบอร์ลี่และตระกูลยุคเกอร์ ที่ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ อันเป็นหนึ่งในบริษัททางการค้ายุคแรกๆ ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งในราชอาณาจักรสยาม ในระยะแรกของการดำเนินธุรกิจนั้น บีเจซีได้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับโรงสีข้าว เหมืองแร่ ไม้สัก การเดินเรือ การนำเข้า และกิจกรรมทางธุรกิจอื่นๆ ซึ่งเป็นการวางรากฐานก่อนที่ประเทศไทยจะเริ่มพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม จากการที่บริษัทได้เลือกสรรและดูแลหุ้นส่วนของบริษัททั้งไทยและต่างประเทศเป็นอย่างดี ส่งผลให้บริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนกลายมาเป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจนำเข้าและส่งออกรายหนึ่งของประเทศไทย และได้ขยายธุรกิจไปสู่ด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์ และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง”

เรื่องราวซึ่งบรรจงถ่ายทอดโดยเจ้าของใหม่ (https://www.bjc.co.th) ทั้งตั้งใจนำเสนอเรื่องราวชุดใหญ่ ผ่านสิ่งที่เรียกว่าพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ด้วย

 

อีกขั้น-สายสัมพันธ์และเครือข่ายธุรกิจภูมิภาค

แผนการเข้าซื้อกิจการระดับโลก ระดับภูมิภาค เป็นเรื่องครึกโครม คงไม่มีกรณีใดเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญเท่ากับบุกเบิกธุรกิจภูมิภาค เข้าซื้อกิจการ Fraser and Neave หรือ F&N แห่งสิงคโปร์ (ปี 2556) แม้ว่า F&N จะเป็นบริษัทก่อตั้งในยุคอาณานิคม มีตำนานสำคัญมากมาย มากกว่าเบอร์ลี่ยุคเกอร์เสียอีก ทั้งมีขนาดและเครือข่ายธุรกิจใหญ่และกว้างขวางกว่ามาก

แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มทีซีซีได้มองข้ามสัญลักษณ์ความเป็น “เจ้าของ” และ “ความยิ่งใหญ่” ไปสู่สิ่งที่สำคัญกว่า เป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งก็ว่าได้

ก่อนจะได้มาซึ่ง F&N นั้นได้ผ่านกระบวนการทางธุรกิจ ถือเป็นประสบการณ์ใหม่อีกขั้นหนึ่งของกลุ่มทีซีซี ต่อเนื่องมาจากจุดตั้งต้นสำคัญ การนำบริษัทไทยเบฟเวอเรจเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ (ปี 2549)

การดำรงอยู่และก้าวต่อไปในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นระดับภูมิภาค กับยุทธศาสตร์ธุรกิจใหญ่ซึ่งแตกต่างจากเดิมนั้น เป็นสาระสำคัญ ประหนึ่งผู้คนโดดลงทะเลอันกว้างขวางใหญ่ พละพลังและความสามารถเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ว่าไปแล้วเกี่ยวข้องกับการสร้าง “สายสัมพันธ์” ทางธุรกิจใหม่ ในมิติที่กว้างขึ้น

ภาพนั้นย่อมเชื่อมต่ออย่างต่อเนื่อง กับสายสัมพันธ์ที่เพิ่งสร้าง ให้ความสำคัญว่าด้วยความรู้ ประสบการณ์ และโอกาสใหม่ทางธุรกิจใหม่ๆ

ไม่ว่ากรณี ดีล KFC (2560) หรือ Starbucks ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น

และเชื่อว่ากำลังเชื่อมโยงไปถึง Tai-Pan อย่าง Jardine Matheson

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0