โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็น โรคกระเพาะ

TERRABKK

อัพเดต 15 ต.ค. 2562 เวลา 08.15 น. • เผยแพร่ 15 ต.ค. 2562 เวลา 07.48 น. • TERRABKK
วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็น โรคกระเพาะ
วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็น โรคกระเพาะ

ในสังคมปัจจุบันมีแต่การแข่งขัน ทำให้การดำเนินชีวิตในแต่ละวันของทุกคนต้องเร่งรีบไปด้วย ส่งผลให้สุขภาพของคนในสังคมแย่ลงและปัญหาทาง สุขภาพที่พบได้บ่อย คือ การเกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งโดยทั่วไปเราเรียกกันว่า “โรคกระเพาะ”

โรคกระเพาะ เป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง ประมาณว่าคนทั่วไปมีโอกาสเป็นโรคนี้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยการเกิดแผลในกระเพาะมักพบในวัยกลางคน ขณะที่การเกิดแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นจะพบในวัยหนุ่มสาว อย่างไรก็ตามการเกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นสามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศและทุกวัย

สาเหตุโรคกระเพาะ

เกิดจากมีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไปร่วมกับความต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง จึงทำให้มีแผลเกิดขึ้น และปัจจุบันพบว่ายังมีปัจจัยเสริมอื่นๆที่ทำให้เกิดโรคได้อีก ได้แก่

  • การติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobactor Pylori) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ เชื้อนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปฝังตัวอยู่ใต้เยื่อบุกระเพาะ ผนังกระเพาะจึงอ่อนแอลงและมีความทนต่อกรดลดลง ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเกิดแผลได้ง่าย แผลหายช้า และเกิดแผลซ้ำได้อีก

  • รับประทานสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะและลำไส้ เช่น ดื่มชา กาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดจำพวกแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ ยาชุดหรือยาลูกกลอนที่มีสเตียรอยด์ เป็นต้น

  • มีอุปนิสัยการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ รับประทานไม่เป็นเวลาหรืออดอาหารบางมื้อ เป็นต้น

  • การสูบบุหรี่ เพิ่มโอกาสของการเป็นแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น

  • อื่นๆ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล คิดมาก นอนไม่หลับ เครียด อารมณ์หงุดหงิด พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น

อาการเมื่อเป็นโรคกระเพาะ

มักมีอาการปวดแสบ ปวดตื้อ จุกเสียดหรือจุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ อาการปวดเหล่านี้เป็นได้ทั้งเวลาก่อนรับประทานอาหารหรือหลังรับประทานอาหารใหม่ๆและเวลาท้องว่าง เช่น เวลาหิวข้าว ตอนเช้ามืดหรือตอนดึกๆก็ปวดท้องได้เช่นกัน อาการปวดจะเป็นๆหายๆ เป็นได้วันละหลายๆครั้ง หรือตามมื้ออาหาร และแต่ละครั้งที่ปวดจะนานประมาณ 15 – 30 นาที อาการปวดจะบรรเทาลงได้ถ้ารับประทานอาหาร ดื่มนมหรือรับประทานยาลดกรด

อาการแทรกซ้อน

โรคกระเพาะถ้าได้รับการรักษาและดูแลตนเองให้ถูกต้องส่วนใหญ่เป็นแล้วจะหาย แต่ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องจนมีอาการมากและเรื้อรังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ เช่น

  • เลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยสังเกตได้จากมีถ่ายอุจจาระสีดำหรืออาเจียนเป็นเลือดหรืออาเจียนมีลักษณะคล้ายผงกาแฟบดปนอยู่

  • กระเพาะลำไส้เป็นแผลทะลุ โดยสังเกตได้จากมีอาการปวดท้องรุนแรงทันทีทันใด หน้าท้องแข็ง กดเจ็บ

  • กระเพาะลำไส้ตีบตัน โดยสังเกตได้จากมีอาการปวดท้อง รับประทานอาหารได้น้อย อิ่มเร็ว และอาเจียนเป็นอาหารที่ไม่ย่อยหลังรับประทานอาหาร

ปวดท้องแบบไหนที่ใช่โรคกระเพาะ ?

  • ปวดท้องเฉียบพลัน นับเป็นการปวดรุนแรงที่อาจไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเราต้องความสนใจเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดจากโรคอื่นที่ไม่ใช่โรคกระเพาะก็เป็นได้ อาทิ โรคนิ่วในถุงน้ำดี หรือตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น

  • ปวดท้องเรื้อรัง นับเป็นอาการปวดท้องที่สามารถพบได้บ่อยที่สุด จะมีลักษณะอาการเป็นปวดๆ หายๆ ต่อเนื่องกันมาไม่น้อยกว่า 1 เดือน อาจเป็นการปวดท้องที่เกี่ยวข้องกับมื้ออาหาร เช่น ปวดขณะที่หิว หรือปวดขณะที่อิ่ม แต่เป็นการปวดที่ทนได้ ซึ่งเมื่อรับประทานยาลดกรด หรือรับประทานอาหารแล้วก็มีอาการดีขึ้น

  • โรคในกระเพราะอาหารที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดเรื้อรัง ได้มีแพทย์ท่านหนึ่งอธิบายเพิ่มเติมเอาไว้ว่าสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด เริ่มจาก โรคที่เกิดจากความผิดปกติของกระเพาะอาหาร เช่น การเป็นแผลในกระเพาะ เป็นแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น กระเพาะอาหารอักเสบ หรือเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร ซึ่งอัตราที่จะเกิดโรค หรือภาวะเหล่านี้นั้นมีประมาณร้อยละ 20 - 25 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะเรื้อรัง

นอกจากนั้น โรคกระเพาะก็อาจขึ้นได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีความผิดปกติทางกายภาพภายในกระเพราะเลย แต่ก็อาจเกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากการทำงานที่ผิดปกติ อาทิ การบีบตัวของกระเพาะกับลำไส้ที่ทำงานไม่ประสานกัน หรืออาจเกิดจากสภาพกรดในกระเพาะที่มีมากเกินไป แต่ไม่ทำให้เกิดแผล ซึ่งสาเหตุที่ว่ามานี้ก็ทำให้ผู้ป่วยร้อยละ 70 - 75 ต้องเดินทางมาพบแพทย์

แต่ถึงยังไงก็ตาม ความผิดปกติภายในกระเพาะอาหารที่เกิดจากกรดนั้น ผู้ป่วยก็อาจไม่มีอาการปวดท้องเสมอไป โดยผู้ป่วยหลายรายอาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำ มีสาเหตุมาจากแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดมาจากกรดเกิน ในบางรายอาจมีอาการแสบแน่นที่หน้าอกเนื่องจากกรดไหลย้อน ทำให้หลอดอาหารอักเสบ รวมไปถึงมีอาการไอ เนื่องจากมีการอักเสบขึ้นมาถึงคอ โดยรวมแล้วก็เป็นเรื่องของโรคกระเพาะอาหารทั้งสิ้น

โรคกระเพาะ รุนแรงหรือไม่ ?

ตามปกติแล้วโรคกระเพาะ นั้นเป็นโรคที่ไม่รุนแรง สามารถรักษาให้หายได้เสมอหากว่ามีการพยากรณ์โรคที่ดี โดยการให้ยาและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย แต่เมื่อใดที่โรคกระเพาะทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากการที่เลือดออกไม่หยุดในบริเวณที่เกิดแผล หรืออักเสบ และเมื่อเกิดการเรื้อรัง นับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหารได้ ฉะนั้น ต้องหมั่นดูแลตัวเองให้ดี รับประทานอาหารให้ตรงเวลาและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

5 สัญญาณเสี่ยงบอกว่าใกล้จะเป็นโรคกระเพาะ

ในเวลาที่เรามีอาการปวดท้องอันเกิดมาจากการมีแผลในกระเพาะอาหาร อาจมีลักษณะอาการที่ผู้ป่วยรู้ๆ กันดีนั่นคือ อิ่มก็ปวด หิวก็ปวด ซึ่งอาการปวดของโรคกระเพาะนั้นจะคล้ายคลึงกับการปวดท้องในแบบอื่นๆ อยู่เหมือนกันจนแทบแยกไม่ออก ฉะนั้น จะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังเป็นโรคกระเพาะ ลองมาตรวจดูจาก 5 สัญญาณเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะไปพร้อมๆ กันเลย …

สัญญาณเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะ 1

  • อาการปวดท้องแบบจุกๆ แสบๆ เป็นลักษณะของอาการปวดที่จู่ๆ ก็จี๊ดขึ้นมา แล้วจู่ๆ ก็หายไปตรงบริเวณเหนือสะดือ นั่นก็คือแถวๆ ลิ้นปี่

สัญญาณเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะ 2

 

  • เวลาที่หิว หรือเวลาที่อิ่มก็จะมีอาการปวดท้องทางฝั่งขวามือ อาจไม่ได้ทำให้เรารู้สึกปวดมาก หากว่ากินยาลดกรดเข้าไปก็ยังพอช่วยบรรเทาอาการได้

สัญญาณเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะ 3

  • มีอาการปวดแสบบริเวณท้อง บางครั้งก็จะเจ็บขึ้นมาถึงตรงลิ้นปี่ โดยไม่ได้เกี่ยวว่าเราจะท้องว่าง หรืออิ่มแล้ว

สัญญาณเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะ 4

  • เมื่อเวลาที่เรานอนหลับก็มีอาการปวดท้องจนทำให้ต้องตื่น เป็นอาการที่เกิดขึ้นแบบไม่แน่นอน

สัญญาณเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะ 5 

  • มีอาการปวดท้องมากๆ จนอาจเกิดอาการข้างเคียง คือ อาเจียน หรือบางทีถึงขั้นที่ถ่ายเป็นเลือด

ในความเป็นจริง การที่จะวิเคราะห์ว่าผู้ป่วยนั้นมีอาการปวดท้องอันเกิดมาจากโรคกระเพาะอักเสบหรือไม่ ก็ยังมีความก้ำกึ่งของลักษณะการปวดในโรคอื่นๆ อยู่เช่นกัน เพราะบางอาการปวดที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคกระเพาะเสมอไป ซึ่งแม้แต่แพทย์เองก็ยังต้องมีการทดสอบว่าเป็นโรคกระเพาะอักเสบจริง หรือว่าป่วยด้วยโรคอื่น เพื่อให้เกิดผลดีต่อการรัษาและการดูแลตนเองของผู้ป่วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงอาการปวดท้องเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อจะได้ลดความวิตกกังวลไป

การวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะ

โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายว่าจะเป็นโรคกระเพาะนั้นเมื่อเดินมาทางมาให้แพทย์ได้ทำการตรวจวินิจฉัย แพทย์ก็จะทำการสอบถามประวัติและลักษณะอาการที่เป็นเบื้องต้น จากนั้นจึงจะทำการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดว่าอาจเข้าข่ายเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือไม่ รวมถึงทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (Endoscopy) , การเอกซเรย์กระเพาะอาหารด้วยการกลืนแป้งแบเรียมเพื่อตรวจดูความผิดปกติ หรืออาจมีการตรวจหาเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ด้วยการตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ หรือการตรวจด้วยวิธีการพ่นลมหายใจ เป็นต้น

การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะ

โดยส่วนมากผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบมักจะรักษาตามอาการเป็นหลัก ซึ่งหากผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบจากการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรที่มักพบได้บ่อย แพทย์ก็จะทำการรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) , ยาอะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin) หรือยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เพื่อช่วยการฆ่าเชื้อ

ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบจากสาเหตุอื่นๆ แพทย์ก็จะรักษาไปตามอาการ เพื่อเป็นการประคับประคองและช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น อาทิ จ่ายยาลดกรดในกลุ่มโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitors) หรือเอช 2 รีเซพเตอร์ แอนตาโกนีสต์ (H2-Receptor Antagonist หรือ H2 Blocker) เพื่อช่วยให้เกิดการหลั่งกรดและรักษาแผลที่เกิดในกระเพาะอาหาร

นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังจากการรับประทานยาในกลุ่มยาบรรเทาอาการปวด แพทย์ก็จะแนะนำให้หยุดพฤติกรรมการใช้ยาในเบื้องต้น รวมถึงทำการปรับเปลี่ยนยาที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันให้แทน อีกทั้งแพทย์ก็จะแนะนำให้หยุดพฤติกรรมที่อาจส่งผลให้อาการแย่ลง อาทิ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน , เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมไปถึงการสูบบุหรี่

เมื่อเป็น "โรคกระเพาะ" ต้องกินยาแบบไหน ? นานเท่าไหร่ ?

โดยปกติแล้วเมื่อเราเป็นโรคกระเพาะก็จะต้องกินยาอยู่ 2 กลุ่ม คือ ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร และยากระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีแผลเกิดขึ้นในกระเพาะอาหาร แพทย์ก็จะแนะนำให้กินยาลดกรดต่อเนื่อเป็นเวลา 6 - 8 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหายผ่านการดูด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหาร ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีความผิดปกติในเบื้องต้น แพทย์ก็มักจะแนะนำให้กินยาลดกรดเฉพาะเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นเท่านั้น ส่วนยาประเภทอื่นๆ อาทิ ยาขับลม ก็แนะนำว่าให้กินเฉพาะตอนที่มีอาการแน่นท้องจากลมที่เกิดขึ้นมากในกระเพาะอาหาร โดยกินในเวลาที่มีอาการได้ตามต้องการ

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกระเพาะ

  • รับประทานอาหารให้ตรงเวลา

  • รับประทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย และควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด

  • หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น ยาชุด ยาแก้ปวดข้อ ยาแก้ปวดแอสไพริน ยาที่มีสเตียรอยด์ น้ำอัดลม อาหารรสจัด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ช็อคโกแลต ชา กาแฟ เป็นต้น

  • งดสูบบุหรี่

  • อาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อไม่ควรมีปริมาณมากเกินไป

  • ถ้าเครียดพยายามลดความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ทำสมาธิ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

  • หมั่นออกกำลังกาย

  • รับประทานยาลดกรด ยาน้ำ 1 - 2 ช้อนโต๊ะ หรือยาเม็ด 1 - 2 เม็ด (เคี้ยวก่อนกลืน) วันละ 4 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็นหลังอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอน กรณีมีอาการปวดท้องก่อนเวลายาสามารถรับประทานเพิ่มได้และควรรับประทานยาติดต่อกันนานอย่างน้อย 4 - 8 สัปดาห์

  • ถ้าปฏิบัติตามนี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน

  • รับประทานยาสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ

 

อ้างอิง

พิศาล ไม้เรียง,(2536).โรคทางเดินอาหาร การวินิจฉัยและการรักษา.(พิมพ์ครั้งที่ 2).ขอนแก่น : โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.
เฟื่องเพชร เกียรติเสวี,(2541).โรคระบบทางเดินอาหาร.(พิมพ์ครั้งที่1).กรุงเทพฯ:เรือนแก้ว การพิมพ์.
สุรเกียรติ อาชานานุภาพ,(2543).ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป.(พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : อุษาการพิมพ์.
วันทนีย์ เกรียงสินยศ,(2548).กินอย่างไรเมื่อเป็นโรคกระเพาะ. ใน ประเวศ วะสี(บรรณาธิการ).หมอชาวบ้าน.(ปีที่ 26 ฉบับที่ 311,หน้า 52-54).

งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผู้เรียบเรียง รุ่งฤดี จิณณวาโส และ ภัทราพร พูลสวัสดิ์

จัดทำโดยหน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร.0-2201-2520-1

ขอบคุณข้อมูล จาก www.ramaclinic.ra.mahidol.ac.th

SOURCE : www.sanook.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0