โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

วิธีจัดการกับชีวิตทำงานที่เริ่มต้นด้วยคำว่า “หนี้”

Money2Know

เผยแพร่ 30 ก.ย 2561 เวลา 23.00 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
วิธีจัดการกับชีวิตทำงานที่เริ่มต้นด้วยคำว่า “หนี้”

เดือนตุลาคมเป็นเดือนเริ่มต้นการจากลาชีวิตทำงานของผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ ผู้ใหญ่หลายๆ ท่านเกษียณอย่างสุขกายสบายใจ เพราะตระเตรียมต่างๆ ไว้พร้อมแล้วตลอด 40ปีของชีวิตการงาน ขณะที่ผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน แม้จะเตรียมทุกอย่างไว้พร้อม ก็สุขเฉพาะกาย แต่ยังไม่สบายใจ ด้วยเหตุที่ไม่ได้จัดวางชีวิตหลังเกษียณว่า ตื่นเช้านี้ไม่ต้องไปทำงานแล้วจะทำอะไรให้หายเหงา

ดิฉันว่า โลกโซเชียลมีประโยชน์ก็ตรงนี้ ตรงที่ทำให้ผู้ใหญ่วัยเกษียณท่าน “มีอะไรทำ” อย่างน้อยที่สุดถ้าท่านไม่ได้ไปเที่ยว ปลูกต้นไม้ เลี้ยงหลานหรือทำอาหารงานฝีมือ ดิฉันว่า การเขียนเรื่องราวการทำงานในช่วง 40ปีก่อนเกษียณบันทึกไว้ในเฟซบุ๊ค หรือแม้แต่ในไลน์ ก็ช่วยแก้เหงาได้ไม่น้อย หนำซ้ำยังมีความสุขจากการได้รำลึกถึงความหลังอีกทางหนึ่ง

มีคุณลุงกับคุณป้าที่อายุเลยวัย70 ปีไปมากแล้ว เป็น “เพื่อน” ในไลน์รายการเงินทองต้องรู้ ในทุกๆ วันท่านจะส่งสำรับอาหารมาชวนรับประทาน หรือบางครั้งก็เซลฟี่รูปตัวเองระหว่างไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาลส่งมาทักทาย ท่านมักจะบอกว่า “กรุณาอย่ารำคาญท่านเลย เพราะท่านฟังรายการตลอด อยู่กันสองตายาย บางทีก็เหงา” พอเริ่มใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ ท่านก็ไม่ได้มีเพื่อนที่ไหน เมื่อมาเป็นเพื่อนกับรายการ ก็ทำให้คลายเหงาและทำให้มีกิจกรรมมากขึ้น

“ผู้ใหญ่วัยเกษียณ”สองกลุ่มแรกจึงไม่น่าเป็นห่วงเท่ากลุ่มสุดท้าย ที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมไว้ก่อน แทนที่จะเกษียณสุขกลายเป็นเกษียณทุกข์ เพราะบางคนรายได้ก็ไม่มีแล้ว แต่ยังมีหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ แล้วยังรายจ่ายด้านสุขภาพรออยู่อีก ถ้าลูกหลานพอพึ่งพาได้ก็ไม่เหนื่อยมาก แต่ถ้าไม่มีลูกหลานให้พึ่งพาก็ต้องอาศัยกลไกของรัฐช่วยประคับประคองชีวิตที่เหลืออยู่ แบบนี้ก็ต้องว่ากันตาม “อัตภาพ”ค่ะ

เรามีความเชื่อพื้นฐานว่า การเตรียมตัวเพื่อรองรับวัยเกษียณ (สุข) นั้น ต้องเริ่มต้นจากวันแรกของชีวิตการงาน ต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนั้นผ่านการวางแผนทางการเงิน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการใช้ชีวิตหลังการทำงานอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่แค่อยากกินก็ได้กิน อยากเที่ยวก็ได้เที่ยว แต่หมายรวมถึงการมีกำลังทรัพย์สำหรับดูแลชีวิตในยามชรา ซึ่งค่าใช้จ่ายหลักจะหนักไปทางค่ารักษาพยาบาล

แต่ชีวิตไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะหลายคนเริ่มต้นทำงานวันแรก พร้อมกับ “หนี้ก้อนโต” หลังจากที่ประเทศไทยเริ่มมีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แต่จะว่าไป นี่คือกลไกที่ทำให้เยาวชนไทยที่ไม่มีโอกาส สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้ และก่อนหน้านี้ ถึงไม่มี กยศ. ก็มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่ต้องนำทรัพย์สินไปขายหรือจำนอง รวมทั้งต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่ออนาคตทางการศึกษาของลูก

ลูกหนี้ที่ดิฉันเพิ่งพบคนล่าสุด เป็นเด็กสาววัย 21ปี เพิ่งเรียนจบระดับปริญญาตรี มีเงินเดือน 13,000 บาท กับหนี้ กยศ. ประมาณ 300,000 บาท (เรื่องนี้เคยมีคนถามอยู่เหมือนกันว่า ทำไมหนี้สินมันถึงมากขนาดนั้น ลูกหนี้ส่วนใหญ่ก็บอกว่า กู้มาตั้งแต่เรียนมัธยมฯ ปลาย จนถึงจบมหาวิทยาลัย และเข้าใจว่าจะไม่ได้กู้ยืมเฉพาะค่าเล่าเรียน แต่ยังกู้มาสำหรับใช้จ่ายในระหว่างการเรียนอีกด้วย)

เคยคุยกับน้องที่เคยทำงานด้วยกัน ไม่แน่ใจว่า มูลหนี้เท่าไหร่ รู้แต่ว่า มีภาระผ่อนชำระปีละไม่กี่พันบาท ซึ่งเธอยืนยันว่า “การเป็นลูกหนี้ กยศ. ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเธอ” อย่างน้อยก็ดีกว่าพ่อแม่ต้องเอาสวนลำไยไปจำนองแล้วหาเงินส่งลูกเรียน ดังนั้น เมื่อเธอเรียนจบ น้องคนนี้จึงมุ่งมั่นกับการผ่อนชำระหนี้ กยศ. จนปัจจุบันน่าจะปิดบัญชีกู้ยืมไปได้เรียบร้อยแล้ว

ส่วนน้องลูกหนี้คนล่าสุดที่ดิฉันเพิ่งพบ ดิฉันให้หลักคิดแบบง่ายๆ และเป็นหลักคิดที่ทุกวันนี้คนวัยใกล้เกษียณอย่างดิฉันก็ยังใช้ทำอยู่เป็นประจำ นั่นคือ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายล่วงหน้าค่ะไม่ใช่ทำแบบประจำวัน แต่ทำล่วงหน้าในทุกๆ สิ้นเดือนว่า รายรับและรายจ่ายในเดือนถัดไปของเราเป็นอย่างไร

เช่น เมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดิฉันจะทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของเดือนตุลาคมไว้เลยว่า เดือนนี้มีรายรับเท่าไหร่ และมีรายจ่ายประจำเท่าไหร่ ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เงินเดือนแม่ เบี้ยเลี้ยงลูก ค่าน้ำค่าไฟค่าโทรศัพท์ ค่าบัตรเครดิต (ไม่ต้องรอใบแจ้งหนี้ เพราะโทรไปถามล่วงหน้าได้เลย) มีหนี้สินอื่นๆ หรือมีรายจ่ายจรที่ถึงงวดชำระหรือไม่ เช่น ค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าเช็คระยะซ่อมบำรุงรถ ค่าใช้จ่ายทางสังคม งานแต่ง งานศพ งานบวช ทำบุญ หรือ ฯลฯ

ทำแบบนี้ แบบคร่าวๆ ไม่ต้องเป๊ะ เราก็จะรู้แล้วว่า ในเดือนตุลาคมที่เพิ่งจะเริ่มต้น สถานะทางการเงินของเราเป็นอย่างไร เรามีเหลือสำหรับออมหรือไม่ และถ้าออมแล้ว ถ้ายังมีเงินเหลือแบบสบายๆ เราอาจจะบอกตัวเองว่า เดือนนี้ซื้อเสื้อใหม่ได้ 1 ตัวนะ หรือซื้อกระเป๋าใหม่ได้ 1 ใบ หรือซื้อรองเท้าใหม่ได้ 1คู่ หรือสามารถหาอะไรแพงๆ ทานนอกบ้านได้สักมื้อ ใช้ชีวิตแบบไม่ต้องเบียดเบียนตัวเองมากเกินไป แต่ถ้าดูแล้ว สภาพการเงินมันตึงๆ เดือนนี้เราก็จะประหยัดใช้ เดี๋ยวเดือนหน้าค่อยว่ากันใหม่

วิธีแบบนี้เป็นวิธีง่ายๆ ที่เหมาะกับคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ซึ่งเห็นอะไรก็อยากได้ไปหมด เพราะเรารู้สึกว่าเราเพิ่งหาเงินจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองได้ จริงๆ หาเงินมาได้ ก็ใช้ให้เกิดประโยชน์และความสุขกับตัวเองได้ค่ะ แต่ก็ต้องไม่ลืมวางแผนการใช้จ่าย โดยเฉพาะลูกหนี้ กยศ. ต้องไม่ใช้เพลินจนลืมว่า เรามีภาระ

ลองวางแผนทางการเงิน ทำบัญชีรับ-จ่ายล่วงหน้าเป็นประจำทุกเดือน จะช่วยให้เรารู้กำลังทรัพย์และอำนาจซื้อที่แท้จริงของตัวเอง ลดปัญหาเรื่องใช้จ่ายเกินตัวได้จริงๆ ค่ะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0