โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วิธีคิดไร้กระบวนท่า คุณค่าสำคัญของชีวิต ที่ปรากฏในยามวิกฤตของ ‘รวิศ หาญอุตสาหะ’

a day BULLETIN

อัพเดต 09 เม.ย. 2563 เวลา 10.13 น. • เผยแพร่ 09 เม.ย. 2563 เวลา 07.36 น. • a day BULLETIN
วิธีคิดไร้กระบวนท่า คุณค่าสำคัญของชีวิต ที่ปรากฏในยามวิกฤตของ ‘รวิศ หาญอุตสาหะ’

หากพูดถึงเรื่องของการทำงาน เชื่อว่าหลายคนต้องนึกถึง รวิศ หาญอุตสาหะ ทายาทรุ่นที่สามผู้รีแบรนด์เครื่องสำอาง ‘ศรีจันทร์’ นักเขียนที่หนังสือมาแล้วเกือบสิบเล่มผู้รักในการวิ่งมาราธอน ที่ปีที่แล้วมีทอล์กโชว์ ‘Super Productive’ จากรายการพอดแคสต์หลายรายการหลายร้อยเอพิโสดของเขา และต้นปีได้วางขาย ‘Super Productive Planner’ แพลนเนอร์ภายใต้แบรนด์ ‘Mission to the Moon’ เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้คนสามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้ในปี 2020 นี้

        แต่ใครจะไปคาดคิดว่า 2020 จะดุเดือดได้เพียงนี้ เริ่มต้นปีอย่างดุเดือด ต่อเนื่องมาจนถึงมีนาบ้าคลั่ง เมษาในประวัติศาสตร์ ไม่มีวันหยุดสงกรานต์ การ Work From Home ที่เปลี่ยนทุกวันเป็นวันทำงาน และดูเหมือนว่าสภาวะชั่วคราว เหตุสุดวิสัยกะทันหันนี้ จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปตลอดกาล

        a day BULLETIN ชวน รวิศ หาญอุตสาหะ มาพูดคุยว่าในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ คนทำงานควรปรับตัวอย่างไร รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนไปมากขนาดไหน หนังสือเล่มใหม่ของเขา ‘วิธีคิดไร้กระบวนท่า’ (Unstructured) หรือบทเรียนการทำงานที่เขาเคยแลกเปลี่ยนผ่านทั้งหนังสือและพอดแคสต์เสมอมา สามารถนำมาปรับใช้กับช่วงเวลานี้ได้อย่างไรบ้าง

 

rawit
rawit

การ Work From Home ที่เป็นข้อเสนอกันมานาน อยู่ดีๆ เราก็ได้ทดลอง Work From Home จริงๆ ประสบการณ์ Trial Period ที่ไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่นี้ เป็นอย่างไรบ้าง 

        Work From Home ทำให้เห็นว่าแต่ก่อนเราทำอะไรที่ไม่จำเป็นเยอะมากเลย ปกติเวลาเจอหน้ากัน บางทีแค่เดินๆ เห็นหน้าก็เลยเรียกมาประชุมร่วมกัน มันเป็น Default Mode ของการทำงานร่วมกับมนุษย์คนอื่นเยอะมาก ไม่ใช่ว่าการประชุมไม่ดีนะ แต่ว่าบางอย่างมันไม่จำเป็น คิดว่าโควิดมันทำให้เราเห็นนะว่าอะไรจำเป็นอะไรไม่จำเป็น ไม่ใช่เฉพาะเรื่องงาน แต่เป็นเรื่องของชีวิตด้วย

        ตอนนี้คนรอบตัวหลายคนพูดว่า แต่ก่อนอยากได้โน่นอยากได้นี่ แต่ตอนนี้ไม่อยากได้อะไรเลย พอสถานการณ์เปลี่ยนก็ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วโลกเราหรือความเป็นอยู่ของเราไม่ได้ต้องใช้อะไรเยอะขนาดนั้น การทำงานก็เหมือนกัน 

        การ Work From Home สอนเราหลายอย่าง อันที่หนึ่งคือ ทำให้เรากลับมาเป็นเจ้านายเวลาของเราอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคนปกติก็โหยหาเรื่องนี้มาก พอ Work From Home มันจะเห็นว่าจริงๆ เราจัดเวลาได้ถ้าเราอยากจะจัด เพราะมันไม่มีใครเดินมาบอกว่า ‘ทำอันนี้ให้หน่อยสิ’ อะไรอย่างนี้ มันไม่มี นอกจากเขาจะโทร.มา ซึ่งมันน้อยมาก มันก็ทำให้คนได้ทำงานไปตามจังหวะของชีวิตตัวเองจริงๆ คิดว่าอันนี้เป็นแง่ที่ดี

        หลังจากจบเรื่องนี้เชื่อว่าหลายๆ คนจะปรับรูปแบบการทำงานของตัวเอง องค์กรจะรู้สึกว่า เออ มันก็ทำได้นี่นา งานมันก็ออก พนักงานก็สุขภาพจิตดีขึ้น เชื่อว่าการทำงานที่ออฟฟิศจะน้อยลง ซึ่งถ้ามันเยอะพอ สมมติสัก 25% มันจะไปแก้ปัญหาสิ่งที่เราไม่เคยแก้ได้เลย เช่น เรื่องฝุ่น เรื่องรถติด ที่พยายามแก้กันมามากแต่ไม่เคยแก้ได้ แต่ถ้าการ Work From Home ถูกพิสูจน์ว่าทำงานแบบนี้โอเคเลยนะ เราก็น่าจะทำได้

ดูคุณมองสถานการณ์ในช่วงนี้ในแง่บวก

        ในระยะยาวน่าจะเป็นเชิงบวกถ้าเราเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง ประเทศไทยเรามีปัญหาเฉพาะตัวอยู่อย่าง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ก็คือเรื่องรถติด เรื่องนี้ทุกคนพยายามแก้มาหลายสิบปีแล้วก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น และอันนี้อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนก็ได้ อาจจะเป็นข้อดีที่เป็นผลลัพธ์มาจากเรื่องนี้

เรายังไม่เห็นข้อดีว่าจะคลี่คลายอย่างไร เพราะยังอยู่ในกระบวนการพังทลายของมันอยู่

        ใช่ ตอนนี้มันเละเทะอยู่ แต่เชื่อว่าเดี๋ยวมันจะมีข้อดี เชื่อว่าเรื่องนี้จะมีข้อดีให้เราบ้างนะ เพียงแต่ตอนนี้ยังคิดไม่ค่อยออกหรอกเพราะมันมึนไปหมด

แต่ช่วงนี้หลายคนอยู่ในสภาวะกังวล หมดหวังกันมาก ในช่วงที่เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ยังมองไม่เห็นปลายทางนี้ เราควรรักษามายด์เซตอะไรกันไว้บ้างให้ผ่านบททดสอบนี้ไปได้

        คราวนี้มันสอนอะไรหลายอย่าง อาทิตย์ก่อนที่บริษัทเพิ่งประชุมเรื่องด่วนไป วันนั้นเป็นหนึ่งในวันที่หนักที่สุด เพราะว่าห้างเพิ่งโดนสั่งปิด ไม่ใช่เฉพาะห้างแต่รวมไปถึงร้านอาหารต่างๆ ซึ่งมันหมายถึงเงินที่ปกติก็ค่อนข้างแย่อยู่แล้วจะหายไปจากระบบอีกเยอะมาก กำลังซื้อจะหายไปเยอะ ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบหมด แต่สิ่งที่เราไม่ค่อยได้ทำและเราได้ทำตอนนี้ก็คือ การแยกแยะปัญหาใหญ่ก้อนนี้ออกมาว่ามันคือเรื่องอะไรบ้างที่จะต้องแก้ไข ค่าใช้จ่ายต่างๆ ของบริษัทซึ่งเมื่อก่อนเราอาจจะใช้จ่ายกันเต็มที่ เพราะเรายังขายได้ แต่คราวนี้มันทำให้เราต้องกลับมาดูว่าค่าใช้จ่ายอะไรที่พอจะลดได้ ประหยัดได้ เราคิดว่าวิธีนี้ใช้กับคนทั่วไปได้เหมือนกัน เวลาเราบอกว่าเรามีปัญหาเยอะ เราต้องมานั่งแยกปัญหาต่างๆ ออกมาเป็นชิ้นๆ แล้วดูว่าจะทำอย่างไรกับมัน

        ปัญหาที่คนกังวลที่สุดน่าจะมีอยู่สองเรื่องคือ เรื่องของสุขภาพกับการเงิน เรื่องสุขภาพเชื่อว่าคนแนะนำไปเยอะแล้วว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เรื่องการเงินมันมีความยากอยู่เหมือนกัน แต่เราต้องมาดูว่าตอนนี้ภาระของเรามีอะไรบ้าง ลิสต์ออกมาเลย มีอะไรที่ตัดได้ก็ตัดไปก่อน มันเป็นวิธีฝึกตัวเองใหม่ และต้องนึกถึง Worst-case Scenario สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดไว้เสมอ วางแผนว่าเราจะทำอย่างไรถ้าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นจริง อย่างอาทิตย์ก่อนก็คุยกับทีมงานว่าถ้าเกิดยอดขายมันหายไป 75% จากที่เคยขายได้ 100 ก็ขายได้แค่ 25 คำถามคือ เราจะรอดได้กี่เดือน แล้วเราจะทำอย่างไรให้รอดได้ต่อไป ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่เหมือนกัน 

        ในมุมของบุคคลทั่วไป ตอนนี้ผู้คนน่าจะอยู่ในสภาวะขวัญเสีย ใจคอไม่ดี เพราะทุกคนก็มีภาระต่างๆ นานาของตัวเอง เชื่อว่าจังหวะนี้เป็นเวลาที่เราต้องกลับมานั่งคิดจริงๆ ยกตัวอย่าง สมมติเราผ่อนบ้านผ่อนรถอยู่ เราต้องคุยกับแบงก์แล้วนะ ไม่ต้องรอให้ไม่มีเงินจ่าย เริ่มคุยก่อนเลยว่าเรามีแนวโน้มที่จะมีปัญหานะ ขอพักชำระหนี้ หรือชำระแค่ดอกเบี้ยได้ไหม อะไรอย่างนี้ ซึ่งเรื่องพวกนี้ในเวลาปกติเราไม่เคยคิด เพราะเราไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ตอนนี้ต้องเริ่มคิด หรือของบางอย่างที่มี เราสามารถแปลงเป็นเงินสดได้ไหม เริ่มคิดและลงมือทำแบบนี้ เราจะพบว่าตัวเราเริ่มเบาลง ทั้งนี้ ไม่ได้บอกว่าปัญหาพวกนี้แก้ง่ายนะ เป็นปัญหาที่ยากและหนักหนาทุกเรื่อง แต่ว่ามันต้องแก้ให้ได้

        สิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าเราจะเครียดหรือไม่เครียด ปัญหามันก็ยังอยู่ เพราะฉะนั้น พยายามเครียดให้น้อย ไม่ใช่เพราะว่าเราไม่มีปัญหา แต่เพราะว่าเวลาเราเครียดน้อย เราจะแก้ปัญหาได้ดีกว่าเราเครียดเยอะ

เพราะจะเครียดหรือไม่เครียด สิ่งที่เผชิญก็จะยังอยู่ตรงนั้น

        มันยังอยู่ตรงนั้น ไม่มีทางหายไปไหน การที่เราเครียดไม่ได้ช่วยให้ปัญหาหายไป นี่เป็นวิกฤตที่อาจจะเรียกว่า ‘ร้อยปีมีหน’ นั่นหมายถึงว่าในชีวิตคนคนหนึ่งอาจจะเจอแค่ครั้งเดียว และมันมาแล้ว เราไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ไม่มีใครอยากเจอ แต่มันมาแล้ว เราก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ต้องฝ่าวิกฤต ต้องพาธุรกิจผ่านโจทย์ยาก โจทย์ครั้งนี้เหมือนหรือต่างจากที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง 

        หลายคนอาจจะเพิ่งลงทุนธุรกิจไป ซึ่งมันหนักมากๆ หลายธุรกิจต้องเรียกว่าไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ อย่างเช่น ธุรกิจท่องเที่ยว หรือสายการบิน เรือสำราญ พวกนี้จะหนักชนิดที่หายไปจากระบบได้เลย

        ครั้งนี้เป็นครั้งที่แปลกมากๆ ที่บอกว่าร้อยปีเจอครั้งเพราะมันแปลกแบบนี้ ปกติเวลาธุรกิจหรือสินทรัพย์อะไรบางอย่างมันถูกขายเยอะๆ อย่างเช่น หุ้น ของที่มันเป็นตรงกันข้ามกัน เช่น ทอง จะขึ้น แต่ครั้งนี้ลงทุกอย่าง นั่นหมายความว่าคนไม่กล้าเข้าไปลงทุน หรืออะไรขายได้ก็ขายก่อน มันเป็นสภาวะที่แปลกและน่ากลัวมากๆ ทุกคนบอกว่าครั้งนี้มันน่ากลัวจริงๆ ถ้าพูดตรงๆ เบ็ดเสร็จแล้วเราจะเจ็บหนัก และยังไม่รู้เหมือนกันว่าปลายอุโมงค์อยู่ตรงไหน แต่สิ่งที่ยังเชื่ออยู่เสมอก็คือถ้าเราไม่ตายรอบนี้เราจะแข็งแรงขึ้น

แต่ก่อนที่เราจะแข็งแรงขึ้นเมื่อมันจบลง เราควรทำอย่างไรให้ตัวเองแข็งแรงตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อที่จะผ่านพ้นมันไปให้ได้

        ยอมรับนะว่าสุขภาพจิตช่วงนี้ก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เครียดเหมือนกัน ถ้าไม่เครียดมันก็แปลกมากเลย เวลาเราเครียดก็ส่งผลต่อร่างกายโดยตรง และในขณะเดียวกัน ถ้าร่างกายเราเบิกบานมันก็ทำให้เราเครียดน้อยลงเหมือนกัน 

        พื้นฐานดูแลตัวเอง 4 อย่าง ที่พยายามรักษามาตลอดคือ หนึ่ง - นอนให้พอ อันนี้สำคัญมากๆ ช่วงนี้คนจะนอนไม่หลับ แต่ไม่ว่าอย่างไรจะพยายามนอนให้พอ, สอง - พยายามกินอาหารให้เหมาะกับเรา คำว่าเหมาะกับเราคืออย่า stress eating หลายคนเป็นในช่วงนี้ ยิ่งเราเครียดแล้วกินยิ่งไม่ดี พยายามกินอาหารให้น้อยๆ เข้าไว้ ยังเชื่อในหลักการ IF (Intermittent Fasting) ที่ต้องควบคุมเวลาในการกิน ควบคุมปริมาณอาหาร, สาม - คือการนั่งสมาธิ เชื่อไหมว่าตอนนี้เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในชีวิต เพราะว่ามันช่วยเบรกจากความคิดมากมายในชีวิต พยายามนั่งทุกวัน วันละ 20-30 นาที แล้วก็สี่ - ออกกำลังกาย พวกนี้มันคล้ายๆ กับ ‘body language shapes who you are’ อันนี้ก็จะเป็น ‘your activity shapes who you are’ คำว่า who you are ในที่นี้คือ เราต้องการร่างกายและสมองที่พร้อมไปสู้กับปัญหาที่มันเกิดขึ้นทุกวัน ถ้าร่างกายอ่อนแอเมื่อไหร่ ปัญหามันจะหนักขึ้นทวีคูณ 

        เพราะฉะนั้น อย่างที่บอกว่าเครียดก็ไม่มีประโยชน์อะไร คือปัญหามันอยู่ตรงนี้ ยังไงก็คุณต้องแก้ เลือกได้ว่าจะแก้ด้วยความเครียดหรือไม่เครียดกับมัน

นั่งสมาธิเพื่อหยุดพัก ดูต่างไปจากที่ทุกคนเชื่อกันว่าถ้าเจอวิกฤตต้องเร่งคิดหาทางออก การกลับมาชะลอ ช้าลงในช่วงนี้ มีความสำคัญอย่างไรในการไปต่อ

        การนั่งสมาธิ หรือแม้แต่การที่ศรีจันทร์ทำ office space ใหม่ ทั้งหมดทั้งมวลทำด้วยความรู้สึกว่าคนเรากำลังจะเข้าสู่ยุคที่ไม่ได้ทำงานแบบ 8 ชั่วโมงแล้วจบ มันไม่เหมาะกับสมองคน หลายคนก็พูดว่ามนุษย์เหมาะกับการทำงานเป็นก้อนเล็กๆ แล้วกระจายไปทั้งวันมากกว่า

        เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับโควิดเหมือนกัน รู้สึกว่าโควิดก็เป็นสัญญาณเตือนจากธรรมชาติในรูปแบบที่เรานึกไม่ถึง จากที่มนุษย์เรามักคิดว่าสามารถแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่างๆ แต่แค่เชื้อโรคใหม่อันเดียวมัน ‘bring us to our knees’ คือคุกเข่ากันทั้งโลก ศิโรราบกันหมด มันทำให้เห็นว่าสปีชีส์ของเรามันเปราะบางมากๆ แล้วเราก็อาจจะทำร้ายโลกมาเยอะเสียจนนี่เป็นเวลาที่เราต้องกลับมาพัก มาทบทวน จนเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้กำลังรีเซตอะไรหลายๆ เช่น ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ของเราให้บริโภคน้อยลง เริ่มรู้สึกว่ามันไม่จำเป็นจะต้องมีต้องใช้อะไรมากเท่าเดิม ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็จะทำร้ายโลกน้อยลง มันอาจเป็นกลไกหนึ่งในการที่จะทำให้ในท้ายที่สุดเราอยู่ต่อได้ก็ได้

มันทำให้เราศิโรราบ ยอมรับกับอะไรบ้าง

        ต้องบอกเลยว่าปัญหาตอนนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เราไม่ได้เตรียม safety net สำหรับคนที่เขาลำบาก ครั้งนี้เราเห็นชัดๆ เลยว่าพอเราไม่เตรียมพร้อมให้ดี อยากออกนโยบายอะไรก็ออก มันกระทบกับคนรุนแรงมากๆ มันแสดงให้เห็นว่าระบบทางสังคมของเราล้มเหลว ต้องพูดเลยว่าระบบทางสังคมของเราไม่ดีพอ เราไม่พร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินเลย ครั้งนี้มันสอนสังคมว่า ความ ignorant ไม่สนใจต่อสังคมของบางคน หรืออาจจะเป็นของเราเองด้วย มันส่งผลร้ายแรงแค่ไหน

        เปรียบเทียบกับหนังเรื่อง Parasite แล้วกัน มันเป็น analogy ที่ชัดเจนมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ มันมีอยู่ฉากหนึ่งที่ฝนตก ซึ่งเป็นฉากสำคัญมากในเรื่อง เราจะเห็นว่าสำหรับคนที่เป็นชนชั้นปกครองมันเป็น inconvenience แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ มันเป็นแค่ความไม่สะดวกสบาย just inconvenient แต่สำหรับคนอื่นมันหมายถึง life and death เป็นเรื่องความเป็นความตายเลยนะ เพราะฉะนั้น มันสำคัญมากที่หลังจากผ่านเรื่องนี้ไปแล้วเราจะต้องไม่ปล่อยให้เรื่องนี้หายไป เราต้องกลับมาปรับโครงสร้างทางสังคมใหม่หมด เราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยโครงสร้างทางสังคมที่เปราะบางแบบนี้ ที่ไม่มี safety net ให้กับคนทั่วๆ ไป เราจะปล่อยให้เขาตายแบบนี้ไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนใหม่หมด

        เชื่อว่าครั้งนี้จะทำให้คนลดความ ignorance ไปเยอะ พอไม่ ignorant อีกต่อไป หันมาสนใจสังคมมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงมันจะเพิ่มขึ้น มันไม่ใช่แค่การบริจาคเงินให้แค่ตอนที่คนลำบากหรืออะไรแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว มันคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เรื่องค่าแรง เรื่องสวัสดิการสังคม เรื่องนโยบายภาครัฐ ทุกอย่างมันต้องเปลี่ยนใหม่หมด เราเห็นความล้มเหลวชนิดที่เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน เราก็พยายามช่วย และหลายคนก็พยายามช่วยกันคนละไม้คนละมือ แต่การที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ ต้องออกมาขอรับบริจาคเงิน ขอบริจาคหน้ากาก มันแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวชนิดที่เราไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้เราอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร เราต้องไปคิดใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้

        ครั้งนี้มันเป็นบทเรียนราคาแพงมาก หลังจากนี้เราจะเปลี่ยนแค่ที่ตัวเราอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเปลี่ยนที่สังคมด้วย เราต้องเป็นเสียงที่ไปเปลี่ยนโครงสร้างใหญ่ให้ได้ ทำให้เห็นว่าที่ผ่านมามันมีอะไรผิดมากๆ เราถึงได้วิกฤตกันขนาดนี้ จริงอยู่ที่สถานการณ์นี้ไม่ใช่แค่ประเทศเรา ทั่วโลกได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด แต่มันจะมีบางประเทศที่สามารถจัดการได้ดี ก็ทำให้เห็นว่าระบบทางสังคมที่เขาจัดการได้ดีมันส่งผลดีต่อประชากรมากกว่าเยอะเลย เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นตัวอย่างว่าหลังจากนี้เราจะเลือกไปต่อในทิศทางไหน

นอกจากทบทวนข้อผิดพลาดของอดีต ทำปัจจุบันให้ดีขึ้น เราสามารถเตรียมตัวเพื่อรับมือกับอนาคตระยะยาวอย่างไรได้บ้าง

        อันนี้สำคัญ ตอนนี้เราวางแผนกันแบบที่เรียกได้ว่าวันต่อวันเลย เรามองอาทิตย์หน้าไม่ค่อยออกเลยว่าอาทิตย์หน้าจะเอาอย่างไรต่อ คือสู้กันแบบรายวันจริงๆ ซึ่งมันไม่ดี เราอาจจะเอาของที่มีค่ามากๆ วันนี้ไปทิ้งเพื่อแลกกับการที่เราจะไปได้ในวันต่อวัน เพราะเรามองไม่เห็นภาพข้างหน้า แต่ในวันที่เราถูกบีบให้เลือก มันจะมีบางอย่างที่เป็น value ของเรา เป็นสิ่งที่เราเชื่อว่าสำคัญที่สุด เช่น ความกตัญญู มิตรภาพ หรืออะไรแบบนี้ อย่าให้ value นั้นถูกทำลาย เพราะถ้าถูกทำลายไปแล้ว ในระยะยาวมันจะกลับมาไม่ได้

        ถ้าประมาณนี้เรารับไหว ตอนนี้ถ้าให้คิดยาวกว่านั้นมันยากมาก แต่ขอให้ value ที่เรายึดไว้ไม่ถูกทำลายด้วยเหตุการณ์นี้ ไม่ว่าเรื่องมันจะแย่แค่ไหนก็ตาม เช่น อย่าให้เราต้องขโมยของคนอื่นเพียงเพราะสถานการณ์มันเป็นแบบนี้ มันจะทำลาย value ของเราจนเรากลับมาไม่ได้ อย่าทำลาย value ตัวเอง ส่วนที่เหลือมันอาจจะต้องตัดเฉพาะหน้าไปประมาณหนึ่ง แต่ในระยะยาวต้องไม่ทำลาย value ที่เรายึดถือ

Value ของคุณที่จะรักษาไว้ไม่ว่าสถานการณ์จะยากเพียงใดก็ตามคืออะไร 

        คน คนของเรา ทีมงานของเรา เขาเป็นครอบครัวเดียวกับเรา เราต้องสู้ไปกับเขาให้ได้ เราจะทำทุกอย่างก่อนที่จะทำอะไรที่อาจกระทบกับชีวิตของคนที่ทำงาน ถ้าเราไม่สามารถรักษา value นี้ได้ อนาคตก็จะรู้สึกไม่ดี มันจะมองหน้าตัวเองไม่ติด

        คุณค่าพวกนี้มีแต่เราที่รู้ว่าอะไรสำคัญ ก็ต้องปกป้องไว้ให้ดีที่สุด ส่วนที่เหลือเราอาจต้องยอมทิ้งชั่วคราว ต้องทิ้งของที่เราเคยยึดติด ความสะดวกสบาย ทรัพย์สมบัติต่างๆ แต่ต้องไม่ทิ้ง value เพื่อให้ตอบทุกคนได้ว่าตอนที่ลำบากที่สุดเราก็ยังไม่เสียคุณค่าสำคัญของเราไป

 

นอกจากการรักษาคุณค่าเพื่อความหมายของการมีชีวิตอยู่ระยะยาวแล้ว ในระยะสั้น ผู้บริหารหรือคนทำงานช่วงนี้ควรจัดการตัวเองอย่างไรบ้าง 

        ตอนนี้คุยกันเกือบทุกวัน บอกทุกคนว่าต้องเล่าเรื่องจริง จะคิดว่าทุกคนรู้เรื่องเท่าเรา หรือเยอะกว่า น้อยกว่าไม่ได้ มีเรื่องจริงตรงไหนต้องเล่า และในขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมเปิดรับด้วยว่าเราอาจจะรู้ไม่หมด

        มีหลักสองอย่างที่ยึดไว้ตลอดเวลาสื่อสาร หนึ่ง - ต้องบอกว่าเราไม่รู้อะไรก่อนสำคัญที่สุด ตอนนี้เรื่องนี้ยังไม่รู้ และกำลังหาคำตอบอยู่ เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญ สอง - เรารู้อะไรแน่ๆ แล้ว สองอย่างนี้พอบอกไปคนจะไม่ตื่นตระหนก ต่อให้เรื่องมันแย่แค่ไหน แต่ถ้าเราบอกความจริง คนจะเข้าใจ แต่สิ่งที่คนไม่ชอบที่สุดเลยคือความไม่รู้ ไม่รู้ว่ามันจะไปไหน จะจบเมื่อไหร่ ซึ่งตอนนี้มันยังเป็นคำถามใหญ่อยู่ แต่อะไรที่ตอบได้วันนี้เราต้องตอบ เช่น สมมติเราบอกว่าใน 1-2 เดือนนี้ จะไม่มีการลดเงินเดือนและสวัสดิการของใครทั้งสิ้น นี่คือสิ่งที่เรารู้และตอบได้ แต่เราไม่รู้และตอบไม่ได้จริงๆ ว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร แต่ระยะสั้นพอตอบได้ และจะพยายามลากมันไปให้ได้นานที่สุด แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะแย่ขนาดไหน

        เวลาสื่อสาร ความชัดเจนและถูกต้องเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และคนสื่อสารต้องไม่ตื่นตระหนก ต้องสื่อสารอย่างเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น นี่คือวิธีการแก้ปัญหา และถ้าไม่ทำไม่จะเกิดอะไรขึ้น ช่วงนี้คุยกับทีมงานกันบ่อยมาก ซึ่งทุกคนก็เข้าใจ

ผู้บริหาร สื่อสารแล้ว ปรับตัวแล้ว มีความคาดหวังอยากให้คนในทีมร่วมมืออย่างไรบ้างไหม

        ตอนนี้มันเป็นช่วงเวลาสงคราม อะไรที่ไม่เคยทำอาจจะต้องทำเพื่อให้อยู่รอดกันไปก่อน ให้แน่ใจว่ามันอยู่รอดจริงๆ และอีกเรื่อง เราต้องดูแลตัวเองมากขึ้น เพราะตอนนี้ปัญหาของเราจะไม่ใช่แค่ปัญหาของเราอีกต่อไป เมื่อเรามีปัญหามันจะกลายเป็นปัญหาสังคมทันที ยกตัวอย่าง ถ้าเราไม่อยู่บ้านแล้วออกไปเที่ยว อันนี้ก็จะกลายเป็นปัญหาสังคม หรือไม่ล้างมือ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าการไม่ล้างมือของเราจะกลายเป็นปัญหาสังคมได้ หรือถ้าเราไม่ประหยัดตอนนี้ก็จะกลายเป็นปัญหาสังคมในอนาคต คุยกับทีมงานว่าขอให้เขาพร้อมทำอะไรที่ไม่เคยทำ ถ้าเป็นเวลาปกติจะไม่ขอให้ทำด้วยซ้ำ เพราะมันอาจเกินหน้าที่ แต่ครั้งนี้มันไม่ปกติจริงๆ และในส่วนตัวของเขาเองก็ต้องดูแลตัวเอง ประหยัดเงิน ดูแลสุขภาพ เพื่อให้ไม่เป็นปัญหากับคนอื่นต่อไป ถ้าเกิดเราไม่ดูแลตัวเองให้ดี เราเอาไปติดพ่อแม่ที่บ้าน มันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ในเวลานี้ก็ขอแค่สองเรื่อง แค่นี้

เราเริ่มเห็นความสัมพันธ์ของทุกส่วนในสังคมกันมากขึ้น ภาคธุรกิจเองก็ออกมามีบทบาทในสถานการณ์ช่วงนี้มากขึ้น อย่าง ‘ศรีจันทร์’ เองก็เห็นมีแคมเปญออกมา

        ตอนนี้กำลังจะเกียร์ไปทางอีคอมเมิร์ซเยอะขึ้น ก็มีแคมเปญอยู่สองอัน อันแรกคือ ‘ขอบคุณที่อยู่บ้าน’ เราก็จะส่งของไปให้แฟนเพจ อันที่สองคือ แคมเปญส่งให้คุณหมอและพยาบาล เราไม่ได้มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นยาหรืออะไร แต่ของเราจะเป็นของที่ใช้แล้วฟีลกู๊ด เขาก็อาจจะยังอยากแต่งหน้าหรือว่าทาครีมอยู่ ก็จะเป็นของที่ให้คุณหมอและพยาบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขได้ใช้แล้วเขาแฮปปี้ แน่นอนว่าของพวกนี้ไม่ได้เงินอยู่แล้ว แต่การที่คนเราไม่มีงานทำมันฟุ้งซ่านมากกว่า และมันทำให้ทีมงานเรามีงานทำด้วย แล้วก็ได้ช่วยเหลือสังคมนิดๆ หน่อยๆ ในแบบที่เราพอทำได้ มันเป็นช่วงเวลาที่ใครพอจะทำอะไรได้และช่วยเหลือกันก็เป็นสิ่งที่ดี

คุณเคยพูดในทอล์กโชว์ปีที่แล้วว่า การจัดการเวลาที่ดี คือสามารถทำ ‘สิ่งสำคัญแต่ไม่ด่วนได้’ ตอนนี้มีอะไรสำคัญที่อยากทำในช่วงยุ่งๆ แล้วได้กลับมาทำช่วงนี้บ้าง

        ใช่ เรากลับมาสิ่งที่อยากทำมาตลอด เช่น การทำข้อมูลให้ดี นี่ก็เป็นเวลาที่เอามาทำ หรือทำระบบหลังบ้านใหญ่โตมโหฬารมาก ก่อนหน้านี้มันยุ่งมาก ทุกคนไม่มีเวลามาทำเรื่องนี้เพราะมันใช้คนเยอะ ตอนนี้คนว่าง ก็ได้เวลามาทำสิ่งนี้ที่อยากทำมานานเสียที

        นอกจากนั้นก็มีเรื่องเทรนนิงอื่นๆ แต่ตอนนี้เทรนนิงที่ต้องส่งคนไปเรียนงดหมด เลยคุยกันว่าตอนนี้เป็นเวลาที่ดีแล้ว ใครอยากเรียนในออนไลน์บ้าง มันเป็นเวลาที่คนจะไปอัพสกิล รีสกิลตัวเอง

มันมีทักษะไหนควรจะอัพสกิลเป็นพิเศษไหม

        เยอะมากเลยตอนนี้ เราว่าอย่างหนึ่งที่เห็นชัดในตอนนี้เลยก็คือโลกเราจะยิ่งเคลื่อนไปสู่ออนไลน์มากขึ้น สิ่งที่มันเคยถูกทำออฟไลน์ได้ แล้วเราไม่ได้รู้สึกว่ามันมีปัญหาอะไร มันถูก shift มาออนไลน์เยอะขึ้น พฤติกรรมพวกนี้เวลาเปลี่ยนแล้วบางทีมันไม่เปลี่ยนกลับ คนจะชิน แค่เรื่องนี้ก็มีอะไรให้เรียนรู้เยอะมากแล้ว ทักษะในการใช้เทคโนโลยีต่างๆ

คุณเชื่อเรื่องคนและทีมมาก ทำอย่างไรให้ความเป็นทีมยังอยู่ ในวันที่ต้องติดต่อพูดคุยกันออนไลน์ที่หลายคนมีความเห็นว่ามีข้อจำกัดด้าน Human Interaction อยู่เหมือนกัน

        ยังเชื่อว่าการเจอหน้ากัน replace ด้วยวิธีการอื่น แต่เราก็พยายาม ยกตัวอย่าง เวลาประชุม ขอให้ห้ามปิดกล้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่เล็กมาก เวลาไม่ปิดกล้องเราจะตั้งใจพูดแล้วคนอื่นก็ตั้งใจฟังด้วย พยายามให้มี Human Connection เข้าไว้

        อาทิตย์ก่อนเพิ่ง reflect การทำงานที่บ้านกันไป เท่าที่คุย คนส่วนใหญ่เขาชอบ ทุกคนโอเคหมดเลย แต่ปัญหาเดียวที่ทุกคนมีคือเหงา และอยากมาเจอเพื่อน เราเลยบอกว่า ถ้าเกิดสมมติจบเรื่องนี้ไปแล้ว ก็อาจจะ Work From Home อาทิตย์ละสองสามวัน แล้วเข้าออฟฟิศอาทิตย์ละสองวันก็ได้ มาเจอกันเพื่อให้มี Human Interaction บ้างแล้วกลับไปทำงานที่บ้าน แล้วสลับมาเจอกันใหม่แบบนี้ เราเองก็ชอบ เพราะอยู่บ้านทำงานแล้วสมาธิดี แต่ถ้านานไปก็เฉา อยากคุยกับคนอื่นเหมือนกัน มันผสมกันได้  รู้สึกว่าคนชอบแบบนี้ คือมีทางเลือก และ flexible มากขึ้น

 

Work From Home อาศัยความไว้ใจสูงมาก ในความเป็นหัวหน้า คิดว่าคนทำงานควรทำอย่างไร เพื่อให้หัวหน้าสบายใจได้เวลาทำงานแบบไม่เจอหน้ากัน

        บางเรื่องมันเบสิกมากๆ เลย เช่น อาบน้ำ แต่งตัว แปรงฟัน ทำตัวเหมือนเราไปนอกบ้าน อาจจะไม่ต้องแต่งหน้าจัดเต็มเท่าเดิม แต่ทันทีที่อาบน้ำแต่งตัวปุ๊บเราจะปรับโหมดทันที แต่ตราบใดที่เราอยู่ในชุดนอนมันก็จะหนืดไปถึงเที่ยง ที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของวินัย คุณจะนั่งดู Netflix ทั้งวันก็ได้ถ้าเกิดว่าไม่ได้มีประชุมเพราะไม่มีใครรู้ จริงๆ พักดู Netflix ได้นะ ไม่ซีเรียส แต่มันต้องจัดตารางชีวิตตัวเองให้ได้

        อีกอย่างหนึ่งที่รู้สึกว่าควรใช้ประโยชน์จากการ Work From Home คือของบางอย่างในชีวิตที่เราอยากทำมาตลอดแต่ไม่เคยได้ทำมันเลย เช่น ออกกำลังกาย เล่นเกม หรือจัดบ้าน เชื่อว่ามีคนตั้งใจจัดบ้านตั้งแต่อ่านหนังสือของ มาริเอะ คนโดะ แต่ผ่านมาสองปีแล้วยังไม่ได้จัดหลายคนมาก นี่แหละ โอกาสมาถึงแล้ว แล้วมันจะกลับมาเรื่องเดิมที่พูดไปตอนแรก ว่าเราจะค้นพบว่าเราซื้อของที่ไม่จำเป็นเยอะมาก สัจธรรมเรื่องนี้จะเริ่มกลับมา

พอพูดถึงความจำเป็นที่ช่วงนี้คนต้องเลือกตัดสิ่งต่างๆ ทำให้นึกถึงคนทำงานหลายคนที่กังวลว่าตัวเองจะถูกตัดออกจากบริษัทในช่วงเวลานี้ ในฐานะนายจ้าง คนทำงานแบบไหนที่ไม่ว่าอย่างไร เราก็อยากจะรักษาเขาไว้

        วิกฤตแบบนี้มันเป็นเวลาแห่งการโชว์ฝีมือ สังเกตดูว่ารัฐบาลที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของประเทศไหน สมมติก่อนเกิดเหตุมีความนิยมอยู่ที่ 50% เวลาเจอวิกฤตมันจะมี 2 ประเภท คือรัฐบาลที่ได้รับความนิยมเพิ่มเป็น 80% กับประเภทที่ดิ่งเหวหายไปเลย มันคือการใช้โอกาสในช่วงวิกฤตเพื่อพิสูจน์ตัวเอง กับคนทำงานก็เหมือนกัน คราวนี้มันจะเป็นการพิสูจน์ว่าคุณมี value มากแค่ไหนกับงานของคุณ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เราเองก็ต้องพิสูจน์เหมือนกันว่าตัวเรามี value แค่ไหน

        ตอนนี้คือโอกาสดี อย่าคิดว่าเป็นโอกาสไม่ดี เป็นโอกาสที่ดีมาก เพราะว่าผลงานทุกคนจะเด่นชัดหรือแตกต่างกันได้อย่างมีนัยสำคัญ หรือมันอาจจะดีหมดทั้งบริษัทก็ได้ เพราะฉะนั้น อย่าสูญเสียโอกาสนี้ไป ถ้ามองมุมกลับ เวลานี้นับเป็นเวลาทองที่จะได้โชว์ฝีมือ

        สมมติว่า CEO เป็น CEO ที่พาบริษัทผ่านวิกฤตนี้ไปได้โดยที่ไม่ต้องปลดคนแม้แต่คนเดียว หลังจากนั้นความดีงามของคุณจะอยู่ไปอีกนานมากๆ มันวัดกันตอนนี้จริงๆ การจะวัดความสามารถของคนคือวัดตอนวิกฤตนี่แหละ เพราะฉะนั้น อย่าปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านไป

เปลี่ยนความคิดกังวลเป็นการลงมือทำ

        ตอนนี้เข้าใจว่าเฉา ยอมรับว่าเราก็เฉาเหมือนกันในบางวัน แต่มันไม่มีประโยชน์ ถ้าตัดสินใจว่าจะสู้ ก็ต้องสู้ ใส่แรงเต็มที่

        ตอนนี้เป็นเวลาแห่งการระดมสมองมากเลยนะ ใครมีไอเดียอะไรก็โยนมาและลองทำ เพราะเราคนเดียวก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร

หนังสือเล่มใหม่ วิธีคิดไร้กระบวนท่า เข้ากับสถานการณ์ช่วงนี้มาก

        ใจความหลักของหนังสือเล่มนี้คืออะไรที่เราเคยใช้มาในอดีตแล้วมันเวิร์ก มันมีแนวโน้มที่จะไม่เวิร์กเยอะมาก และสิ่งเดียวที่จะทำให้เราไปต่อได้คือความไร้กระบวนท่า วิธีนี้ไม่ได้ผล เอาใหม่ ลองอีกวิธีหนึ่ง ไม่ยึดติดกับวิธีเดิมๆ ความเชื่อเดิมๆ ของเรา มันเปิดโอกาสให้เราเรียนรู้ได้ ในหนังสือก็จะรวบรวมเคสต่างๆ แต่ตอนที่เขียนนั้นสถานการณ์ไม่รุนแรงเท่าตอนนี้ ถ้าเขียนแค่เรื่องตอนนี้ก็คงจะเขียนได้ออกมาเป็นเล่มเลย (ขำ)

ยกตัวอย่าง ‘กระบวนท่า’ อะไรบ้างที่เคยใช้ได้ผลในอดีต แล้วไม่น่าจะใช้ได้ผลอีกแล้วในอนาคตหลังจากนี้

        เยอะเลย อย่างสมัยก่อนเรามีความเชื่อว่าสามารถที่จะ forecast ตลาดได้แม่นยำ เพราะว่าเราอยู่ในธุรกิจนี้มาตลอด เราคิดว่าเรารู้ดีมานด์ของลูกค้า แต่หลังๆ เราค้นพบว่าโมเดลที่เราเคยใช้มันผิดเยอะขึ้นทุกปี จนช่วงหลังๆ มันเหมือนโยนเหรียญหัวก้อย ก็ต้องปรับวิธีคิดเรื่องนี้ใหม่โดยการปรับวิธีการ forecast แบบมโหฬาร เรียกว่าโยนโมเดลเก่าทิ้งแล้วเปลี่ยนเป็นโมเดลใหม่ เอาข้อมูลมาจากที่ที่ไม่เคยได้ข้อมูลเลย อย่างเช่น ข้อมูลจากคนที่ไปจัดของหน้าร้าน ข้อมูลพวกนี้เป็นข้อมูลเชิงประสบการณ์ เป็น unstructured data เช่น เขาเล่าว่าช่วงนี้อีกแบรนด์หนึ่งเห็นลูกค้าวัยรุ่นชอบไปเดินดู มันจะเป็นข้อมูลอะไรแบบนี้ที่เราได้มา แต่ก่อนจะใช้ตัวเลขอย่างเดียว ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ข้อมูลใหม่ๆ เพื่อได้มุมมองใหม่ๆ เหมือนกัน

ถ้าให้ยกกระบวนท่าสัก ‘กระบวนท่า’ หนึ่งจากหนังสือมาใช้กับช่วงเวลานี้ อยากแนะนำกระบวนท่าไหน

        ยกตัวอย่าง ในบริษัทเพิ่งคุยกันว่าสมมติฐานทั้งหมด แผนทั้งหมดว่าจะออกสินค้าอะไร ไทม์ไลน์ไหนที่เคยคิดไว้เมื่อสองเดือนที่แล้วคือโยนทิ้งไปได้เลย วันนี้เราต้องปฏิบัติราวกับว่าเราเพิ่งมาเริ่มทำงานวันแรก ส่วนตัวชอบคำว่า ‘Day One’ ของ Amazon มาก ที่เขาเชื่อในการทำงานทุกวันให้เหมือนวันที่หนึ่ง ตอนนี้เราต้องทำอย่างนั้นจริงๆ และเราอาจจะต้องอยู่ในโหมดนี้ไปอีกสักระยะหนึ่ง ทุกอย่างมันไม่สามารถอ้างอิงจาก Reference Point เดิมได้อีกแล้ว ทุกอย่างมันจะต้องคิดกันใหม่หมด

โลกกำลัง reset อนาคต เราเองต้องกลับมา reflect อดีต และ reinvent ปัจจุบัน

        ถูกต้อง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0