โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วิธีการรักษาโรคที่เกี่ยวกับจอตา ด้วยการ ฉีดยา เข้าวุ้นตา

SpringNews

อัพเดต 28 พ.ค. 2563 เวลา 02.59 น. • เผยแพร่ 28 พ.ค. 2563 เวลา 02.59 น.
วิธีการรักษาโรคที่เกี่ยวกับจอตา ด้วยการ ฉีดยา เข้าวุ้นตา

กรมการแพทย์ โดย โรงพยาบาลเมตตาฯ เผย การฉีดยาเข้าวุ้นตา (Intravitreous Injection) เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคที่เกี่ยวกับจอตา สามารถใช้รักษาได้หลายภาวะอาการ เช่น ภาวะหลอดเลือดผิดปกติใต้จอตา จอตาบวม เบาหวานขึ้นตา หรือหลอดเลือดดำที่จอตาอุดตัน ซึ่งการฉีดยา เข้าลูกตา จะเข้าไปยับยั้งการเติบโตของหลอดเลือดที่ผิดปกติ ลดการบวมของจอตา และช่วยเพิ่มโอกาสให้มองเห็นภาพชัดขึ้น อาการตามัว มองเห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นสีผิดเพี้ยนไป มีจุดมืดในบางบริเวณของภาพ อาการเหล่านี้ส่งผลให้การมองเห็นผิดปกติ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ตาบอดได้

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การฉีดยาเข้าวุ้นตา คือ การฉีดยาในกลุ่มที่มีชื่อว่า Anti-VEGF เข้าไปภายในวุ้นตา เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายในการรักษาโรคทางจอตาหลายโรค ได้แก่ โรคจอตาเสื่อมชนิดเปียก จุดภาพชัดบวมจากเบาหวาน จุดภาพชัดบวมจากหลอดเลือดดำที่จอตาอุดตันและภาวะเส้นเลือดตางอกใหม่ที่ผิดปกติ ซึ่งโรคเหล่านี้ส่งผลให้การมองเห็นผิดปกติ

นายแพทย์วีรวุฒิ ระบุว่า การฉีดยาเข้าวุ้นตานั้นมีหลายชนิด เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่ทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาโรคตาดีขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก สามารถใช้รักษาภาวะหลากหลายของโรคจอตา โดยยากลุ่มนี้จะไปยับยั้งการเติบโตของหลอดเลือดผิดปกติ และช่วยลดการรั่วซึมของหลอดเลือด ลดการบวมของจุดภาพชัดของจอตา

แพทย์หญิงสายจินต์ อิสีประดิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการตามัว มองเห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นสีผิดเพี้ยนไป มีจุดมืดในบางบริเวณของภาพ อาการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีความผิดปกติที่จุดรับภาพชัด ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ตาบอดได้

แพทย์หญิงสายจินต์ อธิบายว่า สาเหตุของโรคตาที่สามารถทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดงอกผิดปกติใต้จุดรับภาพชัด ได้แก่ ภาวะสายตาสั้นมาก จอตาเสื่อมชนิดเปียก การได้รับอุบัติเหตุที่ตา เป็นต้น ภาวะจุดรับภาพบวม สามารถพบในโรคเส้นเลือดดำของจอตาอุดตัน เบาหวานขึ้นตา ซึ่งการฉีดยาเข้าวุ้นตาโดยการฉีดยาในกลุ่มที่มีชื่อว่า Anti-VEGF ช่วยรักษาได้

การเตรียมตัวก่อนและหลังการฉีดยาเข้าวุ้นตา ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาที่ทานอยู่ประจำ เช่น ยาลดความดัน ยาละลายลิ่มเลือดได้ตามปกติ ไม่ควรหยุดยา ควรนำยาที่ทานประจำมาด้วยทุกครั้ง และในวันที่ต้องได้รับการฉีดยาเข้าวุ้นตา ควรแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่พยาบาลให้ทราบก่อนหากมีอาการผิดปกติ เช่นมีไข้ ไอ มีขี้ตาหรือตาแดง เนื่องจากมีโอกาสในการติดเชื้อได้ง่าย พยาบาลจะทำการวัดความดันโลหิต อุณหภูมิร่างกาย ชีพจร อัตราหายใจ ระดับการมองเห็นและความดันตา ซึ่งหลังจากได้รับการยืนยันว่าสามารถได้รับการฉีดยาเข้าวุ้นตาแล้วจักษุแพทย์จะเป็นผู้ทำการฉีดยาโดยวิธีปราศจากเชื้อ

วิธีการฉีดยาเข้าวุ้นตา

  • เริ่มจากหยอดยาชาให้ผู้ป่วยรวมถึงยาฆ่าเชื้อ
  • ทำความสะอาดบริเวณรอบดวงตาด้วยยาฆ่าเชื้อ และคลุมหน้าด้วยผ้าปราศจากเชื้อ และใช้เครื่องมือช่วยเปิดเปลือกตา
  • แล้วทำการฉีดยาเข้าวุ้นตา โดยฉีดผ่านบริเวณตาขาว หลังจากการฉีดยาอาจมีการประเมินการมองเห็นและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
  • หลังจากได้รับการฉีดยาแล้วควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำจากพยาบาลอย่างเคร่งครัด โดยหลีกเลี่ยงการขยี้ตา และไม่ให้น้ำหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตาข้างที่ฉีดยา และทำความสะอาดใบหน้าโดยใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ดหน้าแทนการล้างหน้า สามารถอาบน้ำและแปรงฟันได้ตามปกติ แต่ต้องระวังไม่ให้น้ำกระเด็นเข้าตาเป็นเวลา 3-5 วัน ตามที่แพทย์แนะนำ
  • หลังฉีดยาเข้าวุ้นตา อาจเกิดอาการแทรกซ้อนบ้างแต่ไม่เป็นอันตราย เช่น มองเห็นจุดสีดำหรือฟองอากาศลักษณะกลมลอยไปมาในลานสายตาข้างที่ฉีดยา สามารถหายเองได้ภายใน 2-3 วัน หรือเลือดออกที่เยื่อบุตาขาว ซึ่งสามารถหายได้เองภายใน 7-14 วัน
  • หากมีอาการปวดตาให้รับประทานยาพาราเซตามอลขนาด 500 มก. ครั้งละ 1 เม็ดโดยควรรับประทานห่างกันประมาณ 4-6 ชม.

หากรับประทานยาพาราเซตามอลประมาณ 2 ครั้ง แล้วอาการปวดไม่ทุเลา และมีอาการปวดร้าวมาที่ท้ายทอย คลื่นไส้ อาเจียน หรือหากตาข้างที่ได้รีบการฉีดยา มีขี้ตาสีเขียว บวมแดง ปวดตามาก การมองเห็นแย่ลงกว่าก่อนฉีดยา หรือมีอาการแพ้แสง ควรรีบมาพบจักษุแพทย์ทันที และควรมาตรวจตามนัดทุกครั้งเพื่อติดตามผลการรักษา หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์จอตา โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) โทร.034-388712-4 ต่อ 9014 เฉพาะในเวลาราชการ

รักษาดวงตา
รักษาดวงตา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0