โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิชา มหาคุณ : "หุ้นใหญ่การบินไทยหุบปาก อยู่ลับหลังห้ามส่อง"

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 28 พ.ค. 2563 เวลา 07.58 น. • เผยแพร่ 28 พ.ค. 2563 เวลา 01.31 น.
วิชา มหาคุณ

สัมภาษณ์

สถานการณ์เจ้าจำปี-การบินไทย อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ยื่นฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย

จังหวะ-สถานการณ์อยู่ในเกมชิงเหลี่ยม กุมบริหารช่วงฟื้นฟูการบินไทย ระหว่าง 2 กระทรวง คมนาคม-คลัง

แต่จุดสำคัญที่สุดคืออยู่ที่การจัดทำแผนฟื้นฟู-ตั้งทีมบริหารแผน ที่จะมาฟื้นกิจการ ด่านสำคัญจะต้องผ่านการเห็นชอบจากเจ้าหนี้และศาล

“วิชา มหาคุณ” อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปัจจุบันเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต ฉายภาพฟื้นฟู “การบินไทย” ภายใต้กระบวนการศาลผ่าน “ประชาชาติธุรกิจ”

2 แนวคิดฟื้นกิจการ

“วิชา” เปิดตำรากฎหมายเล็กเชอร์ “หลักคิด” ฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ ที่ทุกประเทศสร้างขึ้นมาเป็นปัจจัยอำนวยความสะดวกให้การฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จ

มี 2 แนวความคิด 1.ความคิดที่ต้องเปลี่ยนตัวผู้บริหารลูกหนี้ จัดหาผู้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการคนใหม่ หลักคือ กิจการมีปัญหามาจากการบริหารที่บกพร่องของลูกหนี้ ดังนั้น ต้องมีการโอนอำนาจการบริหาร อำนาจครอบครองและบริหารทรัพย์สิน แก่บุคคลภายนอกที่ศาลจะเป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งไทยลอกกฎหมายอังกฤษ

คนที่จะมาดำเนินกิจการตามความคิดนี้ ต้องมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องวิชาชีพในด้านฟื้นฟูกิจการโดยตรง และมีคุณสมบัติที่เข้มงวด ถือว่าไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการฟื้นฟูกิจการ เพราะจะเกิด conflict of interest มีผลดี ผลเสียกับตัวเอง แต่หลักคิดนี้ก็มี “ข้อบกพร่อง” คือ

“ผู้บริหารชุดใหม่จะขาดประสบการณ์ในธุรกิจ เช่น การบินไทย ถ้าเลือกคนที่ไม่ใช่ผู้บริหารธุรกิจการบิน อาจจะเสียเวลา”

แต่ก็มี case study ที่คลาสสิกที่สุดในการฟื้นฟูกิจการสายการบิน ยก Japan Airline มาเป็นแบบอย่าง “คนที่มาฟื้นฟูกิจการ” คือประธานบริษัทเคียวเซร่า (อินาโมริ คาซุโอะ) ไม่รู้เรื่องการบินเลย แต่เก่งในเรื่องธุรกิจ ซึ่งนำมาใช้กับการบินได้ และทำสำเร็จภายใน 1 ปี

ส่วนความคิดที่ 2 ให้ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการทรัพย์สินได้ต่อไป ตามหลัก chapter 11 ตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐ ให้สิทธิกับลูกหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ข้อดีลูกหนี้ฟื้นฟูกิจการเองก็จะรักษาความต่อเนื่องของการบริหารและความชำนาญทางธุรกิจ หากให้บุคคลภายนอกเข้ามาอาจขาดความชำนาญ ล่าช้า

นักกฎหมายไทยจอมพลิกแพลง

แต่ที่สุดแล้วระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูกิจการของไทย กลับใช้ 2 ระบบมามิกซ์กัน ใช้วิธีพลิกแพลงกฎหมาย

ระบบของเราแฝงเอาไว้ว่า ถ้าหากให้คนกลางเข้ามาดูแล ต้องมีคุณสมบัติตามกฎกระทรวงยุติธรรมระบุ มีประสบการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินการคลัง กฎหมาย ต้องเคร่งครัดตามนั้น แต่ในกฎหมายระบุคำว่า “เว้นแต่ลูกหนี้เป็นผู้จัดทำแผน หรือผู้บริหารแผน” จึงจะไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎกระทรวงยุติธรรม

“จึงกลายเป็นว่าเราเอา chapter 11 มาอยู่ในกฎกระทรวง เป็นประเทศเดียวเท่านั้นในโลกเวลาเขียนกฎหมายที่มีการพลิกแพลง ไม่มีนักกฎหมายใดที่พลิกแพลงมากที่สุดเท่ากับนักกฎหมายไทย ทั้งที่กฎหมายแม่บทเป็นไปตามกฎหมายอังกฤษที่ไม่ยอมให้ลูกหนี้เป็นผู้จัดทำแผน ต้องคนกลางเท่านั้น แต่ประเทศไทยเขียนกฎหมายเป็นระบบ mix-ระบบผสม มีทั้งให้คนกลาง หรือมีลูกหนี้จัดทำแผนก็ได้”

ตัดของรุงรังทิ้งไป

“วิชา”ชี้ให้เห็น ขอบเขตอำนาจในการบริหารจัดการทรัพย์สิน “ของผู้บริหารแผนฟื้นฟู” มี 3 ข้อ 1.อำนาจในการบริหารกิจการของลูกหนี้ 2.อำนาจในการเก็บรวบรวมทรัพย์สิน ให้รู้ว่าทรัพย์สินอยู่ตรงไหน แต่ไม่ใช่ยึด และ 3.จัดสรรชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้

ขณะที่ “แผนฟื้นฟูกิจการ” มี 3 หลัก1.การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ คือ ดูจากสถานะของลูกหนี้แล้วจะกำหนดเงื่อนไขในการชำระหนี้ สิ่งที่สำคัญมากในการปรับโครงสร้างหนี้ คือ เรื่องระยะเวลาชำระหนี้สอดคล้องกับความสามารถและการชำระหนี้ตามกระแสเงินสด

2.ปรับหนี้ระยะสั้นเป็นระยะยาว ทั้งหมด และขยายเวลาชำระคืน 3.ปรับลดหนี้เงินต้นหรือดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่

เช่นการบินไทยไปเช่าเครื่องบิน หรือผ่อนชำระอยู่ ก็ต้องไปเจรจา โดยเฉพาะเจ้าหนี้รายใหญ่ 2 ราย ฝั่งสหรัฐกับฝั่งยุโรป และต้องคิดถึงเจ้าหนี้รายอื่นด้วย

“หรือ catering จะตัดออกไปเป็นบริษัทย่อยก็ต้องไปเจรจากับผู้ใช้บริการว่าต่อไปนี้ไม่ใช่การบินไทย ถ้าตัดขายจะมีใครซื้อไหม หรือไทยสมายล์ ต้องตัดสิ่งที่รุงรังออกไป อาจจะมีเศรษฐีสนใจ มีบางบริษัทที่ขายบริษัทลูกของตนเองไปคุ้มทุนมาก สามารถมาใช้หนี้ได้เลย”

ประเมินมูลค่าบินไทย คือหัวใจ

ทว่า สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือ “การประเมินราคาทรัพย์สินของบริษัท” ซึ่งการประเมินโดยมาก จะถูกกดราคา เพราะอยู่ในสภาพของการไม่รู้ว่าล้มละลายด้วยไหม ดังนั้น ในหลักการฟื้นฟูกิจการจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จขึ้นอยู่กับการประเมินราคาทรัพย์สินให้ถูกต้อง

“ถ้าหากว่าเราเสนอมีหนี้อยู่เท่านี้ มีสินทรัพย์เท่านี้ เอาแต่วัตถุไปแสดงก็มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง เพราะจะมองไม่เห็นศักยภาพที่จะดำเนินการ ดังนั้น สิ่งที่จะต้องแสดงให้ศาลเห็น คือ เส้นทางการบินที่มีมูลค่ามหาศาล บางเส้นทางการบินต้องไปต่อรองกับประเทศต่าง ๆ แลกกับการเปิดตลาดสินค้า จึงต้องให้ศาลเห็นว่าเส้นทางการบิน มีกี่เส้นทาง ถ้าปลดจากการฟื้นฟูกิจการแล้วจะมีลูกค้าเท่าไหร่ การประเมินราคาจึงสำคัญที่สุด”

ดังนั้น หลักที่ศาลจะพิจารณาแผนมีอยู่ 3 หลัก อันปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของศาล คือ 1.ต้องชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามกฎหมาย 2.ต้องมีความสุจริตไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ทำให้เห็นได้ว่าจะไม่ยักย้ายถ่ายเท ทำให้มูลค่าลดลง 3.จะต้องเป็นแผนที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

ล้างความคิด “รัฐวิสาหกิจ”

ส่วนภารกิจหนักของผู้จัดทำแผนในมุม”วิชา” คือ ทำอย่างไรให้ความเชื่อว่า การบินไทยยังเป็นรัฐวิสาหกิจหมดไป

“ลักษณะการทำธุรกิจต้องทำให้เป็นธุรกิจจริง ๆ ผู้ทำแผนจะหาทางว่าทำอย่างไรให้สภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจหมดไป เพราะแม้ว่ากระทรวงการคลังจะลดทุนลงให้ต่ำกว่า 51% ความเชื่อว่าฉันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ยังมีอยู่ แต่การทำของจริงเขาจะมายุ่งเกี่ยวไม่ได้ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ผู้ถือหุ้นถูกปิดปากทันที ถ้าศาลเป็นคนสั่ง เพราะอำนาจจะถูกโอนมาที่ผู้ทำแผนเพียงผู้เดียว”

ส่วนคมนาคมเป็นผู้กำกับดูแลแต่ก็ไม่มีน้ำยาในทางกฎหมาย อาจจะมีอยู่ลับหลัง แต่ในทางเปิดเผยจะแทรกแซงไม่ได้

“วิชา” ขอให้มั่นใจศาลว่า “ถ้าจะบริหารโดยองคาพยพของรัฐวิสาหกิจจะไปไหวไหม ปล่อยให้ศาลคิด เพราะมีหลักอยู่แล้ว ศาลชำนาญพิเศษ เบิกความโดยความเชี่ยวชาญทุกด้าน ถึงตัวเองไม่รู้ก็ไปหาผู้รู้มาได้ ไม่ใช่ศาลรูปแบบของแพ่ง อาญาปกติ”

นี่คืออนาคตการบินไทยในมือศาล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0