โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิชาพละไม่ได้เหมาะกับทุกคน : ว่าด้วยการใช้ศักยภาพเฉพาะบุคคลในการประเมินผลวิชาพลศึกษา

The MATTER

เผยแพร่ 11 ก.ค. 2563 เวลา 08.47 น. • Education

คาบพลศึกษา เป็นคาบเรียนที่เด็กหลายคนเฝ้ารอ เพราะจะได้เล่นกีฬาที่ชื่นชอบกับเพื่อนๆ ได้ขยับเขยื้อนร่างกายจากการนั่งเรียนมาหลายชั่วโมง ดูจะเป็นคาบที่สนุกสนานที่สุดในบรรดาคาบเรียนทั้งหมด แต่ก็เป็นคาบเดียวกันกับที่บางคนมีความคิดผุดขึ้นมาว่า “อ่า…กีฬากับฉันคงไปกันไม่รอดสินะ”

วิชาพลศึกษา (physical education) เป็นวิชาที่มีขึ้นเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพทางกายของนักเรียน โดยสมรรถภาพทางกาย หมายถึง สภาวะของร่างกายที่อยู่ในสภาพที่ดี เพื่อที่จะช่วยให้เราทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เหนื่อยเร็ว และสามารถฟื้นตัวกลับสู่สภาพปกติได้ในเวลาอันรวดเร็ว

หลายโรงเรียนจึงได้จัดให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับกีฬา เพื่อผลักดันให้เด็กเกิดความสนใจในการออกกำลังกายมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดชนิดกีฬาลงในหลักสูตรตามชั้นปี เช่น มัธยม 1 เราอาจจะได้เรียนรำดาบ มัธยม 2 เรียนปิงปอง มัธยม 3 เรียนบาสเก็ตบอล มัธยม 4 เรียนแบดมินตัน มัธยม 5 เรียนเต้นลีลาศ มัธยม 6 เรียนฟุตซอล โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนได้เรียนรู้กฎกติกา หรือวิธีการเล่นกีฬาชนิดนั้นๆ

นอกจากการกำหนดชนิดกีฬา ก็ยังมี ‘การทดสอบสมรรถภาพทางกายภาพ’ หรือ Physical Fitness Test การวัดและประเมิน ‘ความแข็งแรงทางร่างกาย’ ที่ถูกบรรจุลงในวิชาพลศึกษา เช่น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความอดทนของกล้ามเนื้อ ความเร็ว ความคล่องแคล่วว่องไว ความอ่อนตัว ความอดทนของระบบไหลเวียนโลหิตหรือระบบหายใจ เป็นต้น โดยจะมีการกำหนดระยะเวลาหรือระยะทาง เพื่อดูว่าในข้อจำกัดนั้น นักเรียนมีศักยภาพที่จะทำแบบทดสอบได้มากน้อยแค่ไหน อย่างในระยะเวลา 60 วินาที สามารถลุกนั่งได้กี่ครั้ง หรือในระยะทาง 1,000 เมตร สามารถวิ่งเข้าเส้นชัยโดยใช้เวลาเท่าไหร่

หมายความว่า ถ้าเด็กนักเรียนสามารถทำสถิติหรือคะแนนได้ดี ก็แปลว่าพวกเขาจะสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความเสี่ยงที่จะผิดปกติทางด้านร่างกายน้อยด้วยเช่นกัน

Blonde girl stretching on blue mat during physical education classes
Blonde girl stretching on blue mat during physical education classes

แต่ในขณะเดียวกัน การทดสอบสมรรถภาพทางกายและหลักสูตรวิชาพละศึกษา ก็เป็นที่ถกเถียงแม้กระทั่งในการศึกษาของต่างประเทศ มีนักวิจัยบางคนกังวลถึงผลกระทบอีกด้านที่เกิดขึ้นจาก ‘ความแตกต่าง’ ทางศักยภาพของนักเรียน และอาจส่งผลให้พวกเขาเกิดความไม่พึงพอใจ ความไม่สบายใจ หรือความอับอาย

เนื่องจากมนุษย์เรามีความสนใจและความสามารถในการทำกิจกรรมแต่ละอย่างไม่เท่ากัน บางคนสนใจกีฬา บางคนสนใจศิลปะ บางคนสนใจวิทยาศาสตร์ บางคนสนใจดนตรี ทำให้วิชาที่ใช้ ‘ความสนใจเฉพาะ’ ของคนบางกลุ่ม มาเป็นเกณฑ์วัดความสามารถหรือการให้คะแนน อาจสร้างความไม่เป็นธรรม และไม่บรรลุเป้าหมายที่จะทำให้นักเรียนอยากมีสุขภาพที่ดีได้

ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์แต่ละคนมีสรีระและศักยภาพในด้านกีฬาที่แตกต่างกัน บางคนตัวสูง บางคนวิ่งเร็ว บางคนปอดใหญ่จึงหายใจได้นานกว่า บางคนทนต่อการรับน้ำหนักได้ดี เพราะฉะนั้น ในการแข่งขันหรือการทำแบบทดสอบสมรรถภาพทางกาย ใครที่มีข้อได้เปรียบทางด้านสรีระ แล้วสามารถทำออกมาได้ดี ก็จะรู้สึกกระตือรือร้นและสนุกสนานไปกับมัน ในทางตรงกันข้าม คนที่ทำออกมาได้ไม่ดีหรือมีข้อจำกัด ก็จะรู้สึกอับอาย มองว่าตัวเองอ่อนแอ ไม่ความสามารถ และไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมในที่สุด เพราะส่วนใหญ่แล้วการทดสอบเหล่านี้ มักจะทำในชั่วโมงเรียน ท่ามกลางสายตาจากเพื่อนๆ ที่จับจ้อง

และถึงแม้บางแบบทดสอบจะมีการแยกเกณฑ์ตาม ‘เพศสภาพ’ เช่น ผู้ชายควรวิ่งได้ในระยะ 1,000 เมตร ผู้หญิงควรวิ่งได้ในระยะ 800 เมตร หรือเด็กผู้ชายจะถูกคาดหวังให้วิดพื้นได้เยอะกว่าเด็กผู้หญิง เนื่องจากฮอร์โมนทำให้พวกเขามีไหลที่กว้างกว่า และช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้มากกว่า แต่นั่นก็อาจทำให้เด็กผู้ชายบางคนที่ไม่สามารถทำได้ตามเกณฑ์ อันเนื่องมาจากความเสียเปรียบทางสรีระ เกิดความประหม่าหรืออายเพื่อนๆ

Group of children perform side planks while participating in an exercise class for children.
Group of children perform side planks while participating in an exercise class for children.

ตัวอย่างความล้มเหลวของการทดสอบสมรรถภาพทางกาย เริ่มขึ้นในช่วงต้นปี ค.ศ.1950 โดยนักกิจกรรมด้านสุขภาพ ฮานส์ ครอส (Hans Kraus) และบอนนี่ พรัดเดน (Bonnie Prudden) ทำการทดสอบการออกกำลังกายให้กับเด็กหลายพันคนทั่วสหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และออสเตรีย แต่ผลลัพธ์ที่น่าตกใจคือ เด็กเหล่านั้นล้มเหลวในการทำแบบทดสอบถึง 58%  

ผลลัพธ์ดังกล่าวทำให้ ประธานาธิบดีดไวต์ ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) ของสหรัฐอเมริกาไม่พอใจมากอย่าง เขาจึงดำเนินการจัดตั้งสภาสุขภาพเยาวชนขึ้นในปี ค.ศ.1956 เพื่อหากลยุทธ์ในการปรับปรุงคะแนนความแข็งแรงของเด็กอเมริกา ต่อมา เมื่อประธานาธิบดีจอห์น เคนเนดี (John F. Fennedy) เข้ารับตำแหน่ง เขาได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และมองว่าการขาดสมรรถภาพทางกายจะเป็นภัยคุกคามต่อคนในประเทศ

ในปี ค.ศ.1966 จอห์น เคนเนดีจึงท้าทายสมรรถภาพทางกายด้วยการจัดตั้งการแข่งขัน ที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้หนุ่มสาวอเมริกาเข้ารับราชการทหาร ซึ่งการแข่งขันนั้นก็ได้แก่ การโยนซอฟต์บอล การวิ่งเก็บของ และการโหนบาร์ โดยมีรางวัล Physical Fitness Awards เป็นแรงจูงใจ แต่เด็กๆ เหล่านั้น จะต้องติดอันดับในเปอร์เซ็นไทล์ที่ 85 ตามมาตรฐานแห่งชาติ

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การแข่งขันหรือแบบทดสอบดังกล่าว ไม่ตรงตามแบบทดสอบ Krause Weber ที่ฮานส์ ครอส ได้กำหนดไว้ เนื่องจากวัตถุประสงค์ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การสร้างความแข็งแรง หรือความยืดหยุ่นของร่างกายเด็กๆ แต่กลับให้ความสำคัญในด้านความมั่นคงของประเทศเสียมากกว่า และกลุ่มผู้ที่ได้รับรางวัลก็มีเพียงแค่ 15% ซึ่งเด็กเหล่านั้นต่างก็มีพรสวรรค์ทางด้านร่างกายและกีฬาอยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ในปี ค.ศ.2012 การทดสอบที่ว่าก็ได้ถูกยกเลิก และแทนที่ด้วยโปรแกรมการออกกำลังกายที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยเป็นการทดสอบที่ออกแบบเพื่อสนับสนุนเผ้าหมายส่วนบุคคลมากกว่า แทนที่จะกำหนดมาตรฐานระบบการออกกำลังเหมือนสมัยก่อน

Coach Leading Outdoor Soccer Training Session
Coach Leading Outdoor Soccer Training Session

บทสรุปของเรื่องนี้ จึงเป็นการกลับมาทบทวนเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการทดสอบสมรรถภาพทางกายของนักเรียน เมื่อโรงเรียนและครูต้องการที่จะผลักดันให้นักเรียนหันมาสำรวจสุขภาพและร่างกาย 'ของตัวเอง' (ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องปัจเจก) ฉะนั้น ความแข็งแรงของร่างกาย อาจไม่ได้วัดจาก 'เกณฑ์มาตรฐาน' ที่แบบทดสอบกำหนดไว้เสมอไป และการมีสุขภาพที่ดีก็รวมถึงพฤติกรรมอื่นๆ อย่างการกินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ หรือการพักผ่อนอย่างเพียงพอด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ควรจะได้รับการผลักดันพอๆ กับการออกกำลังกาย

อีกทั้งการกำหนดประเภทกีฬาที่สร้างความโอดครวญขึ้นในเด็กบางกลุ่ม ซึ่งพวกเขาไม่มีความถนัดในกีฬาชนิดนั้นๆ และส่งผลให้ไม่สามารถทำคะแนนออกมาได้ดี ยกตัวอย่างวอลเล่ย์บอล หรือฟุตซอล บางโรงเรียนใช้เวลาสอนเสิร์ฟลูก ส่งลูก เลี้ยงลูก 15 นาที จากนั้นก็ปล่อยให้ไปฝึกฝนตามลำพัง พอท้ายคาบก็เรียกกลับมาสอบ โดยให้โอกาสเพียงแค่ 1-3 ครั้ง ใครทำได้ก็เอาคะแนนไปเต็ม 5 ใครทำไม่ได้หรือทำได้แย่หน่อย ก็อนุโลมให้ซัก 1-3 ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่ค่อนข้างผิวเผินและคาดหวังให้เด็กทุกคนมีศักยภาพเท่ากันในเวลาอันน้อยนิด และในตอนสุดท้ายของเทอม ค่าเฉลี่ยผลการเรียนของพวกเขา ก็อาจโดนฉุดลงเพียงเพราะกิจกรรมที่ตัวเองไม่สันทัดเหล่านี้

แต่นอกเหนือจากวิชาพลศึกษา ก็ยังมีบางวิชาที่ใช้เกณฑ์การให้คะแนนแบบเดียวกัน โดยวัดจากศักยภาพเฉพาะตัวบุคคล เช่น วิชาศิลปะ วิชาดนตรี หรือวิชาเต้นรำ จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่า หากกิจกรรมหรือวิชาเหล่านี้ ทำให้เด็กบางกลุ่มเกิดความไม่พอใจในความสามารถของตนเอง อาจจะลองปรับให้เป็น ‘วิชาเลือก’ หรือ 'ชมรม' ตามความถนัดและความสนใจของพวกเขาดีหรือไม่ หรือหากจะยึดไว้เป็นวิชาบังคับ ก็อาจจะตั้งเกณฑ์ในการให้คะแนนที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อได้เปรียบเสียเปรียบรายบุคคล โดยมีจัดการทดสอบในกลุ่มคนที่เล็กลงมา เพื่อลดความกดดัน หรือคาดหวัง ให้เปิดโอกาสให้บางคนได้มีเวลาฝึกฝนและพัฒนาตัวเองมากกว่านี้ รวมถึงอาจจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกิจกรรม เพื่อนำไปสู่การจัดรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะสมให้มากขึ้น

เพราะบางวิชาในหลักสูตรการศึกษาของไทย มักจะตั้งเกณฑ์การให้คะแนนที่ลืมคำนึงถึงความแตกต่างในศักยภาพของเด็กแต่ละคน ไม่ต่างอะไรจากการให้ลิง ปลา และนกมาแข่งกันปีนต้นไม้

อ้างอิงข้อมูลจาก

humankinetics.me

health.howstuffworks.com

ft.dpe.go.thf

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0