โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิกฤตเดียวกับการบินไทย!!สายการบินแห่งชาติแอฟริกาใต้ขาดทุนบักโกรก จ่อปรับลดพนง.900อัตรา

Manager Online

เผยแพร่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 18.02 น. • MGR Online

รอยเตอร์ - เซาท์แอฟริกันแอร์เวย์ส(เอสเอเอ) เตรียมปรับลดพนักงานมากกว่า 900 อัตรา ส่วนหนึ่งในมาตรการปรับโครงสร้างเพื่อยับยั้งการขาดทุนอย่างมโหฬาร ตามคำแถลงของสายการบินแห่งชาติของแอฟริกาใต้ในวันอังคาร(12พ.ย.)

สายการบินเอสเอเอระบุว่าทางบริษัทได้เริ่มปรึกษาหารือกับพนักงานกว่า 5,000 คนของพวกเขาแล้วและอยู่ระหว่างพูดคุยกับสหภาพแรงงานทั้งหลาย

ในการแถลงสรุปกับสื่อมวลชนในวันอังคาร(12พ.ย.) สายการบินเซาท์แอฟริกันแอร์เวย์สบอกว่าแผนปรับโครงสร้างจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมปีหน้า และน่าจะช่วยบริษัทประหยัดงบประมาณได้ 700 ล้านแรนด์( 47 ล้านดอลลาร์หรือราว 1,420ล้านบาท)

"ถ้ามองไปที่พนักงาน 944 คนโดยประมาณที่อาจตกงาน มันขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการปรับโครงสร้างจะจบลงอย่างไร มันอาจช่วยประหยัดเงินให้บริษัทราว 700 ล้านแรนด์" มาร์ติน เคมป์ ผู้บริหารของแอร์เชฟส์ บริษัทลูกของเซาท์แอฟริกันแอร์เวย์สกล่าว

เซาท์แอฟริกันแอร์เวย์สไม่เคยมีผลประกอบการรายปีมีกำไรมาตั้งแต่ปี 2011 และกำลังดิ้นรนเติมเต็มช่องว่างของการระดมทุน 21,700 ล้านแรนด์ ในการจัดหาฝูงบินมาทดแทนฝูงบินอันเก่าเก็บของสายการบิน

เจ้าหน้าที่แอฟริกาใต้ได้พยายามเสาะหานักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นของสายการบินแห่งนี้ แต่จนถึงปัจจุบันความพยายามของพวกเขายังไม่ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้แล้วแผนขายหุ้นให้แก่นักลงทุนเอกชนยังถูกต่อต้านจากสหภาพแรงงานต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนการหาเสียงของซีริล รามาโฟซา ในปี 2017 จนเขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในที่สุด

ก่อนหน้านี้ทางสหภาพแรงงานทั้งหลายก็เคยปฏิเสธแผนของประธานาธิบดีรามาโฟซา ในการแยกบริษัทและปรับลดพนักงานของ "เอสคอม" รัฐวิสาหกิจด้านสาธารณูปโภคพลังงานมาแล้ว ในขณะที่บริษัทแห่งนี้จะเริ่มดำเนินปฏิรูปโครงสร้างเช่นกันในปี 2020

ทั้งนี้คาดหมายว่าแผนเกี่ยวกับสายการบินเอสเอเอก็คงเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกัน ท่ามกลางตัวเลขคนว่างงานในประเทศที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1%

เซาท์แอฟริกันแอร์เวย์สเป็นหนึ่งในหลายสายการบินทั่วโลกที่ประสบปัญหาขาดทุนมโหฬารท่ามกลางการแข่งขันระดับสูงและภาวะเศรษฐกิจซบเซา รวมถึงปัจจัยอื่นๆต่างๆนานา ในนั้นรวมถึงการบินไทย สายการบินแห่งชาติของไทยที่พบว่าผลประกอบการไตรมาส 2 ขาดทุนกว่า 6,878 ล้านบาท

ทางการบินไทยใช้มาตรการขอความร่วมมือตามความสมัครใจเฉพาะในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงให้แสดงสปิริตช่วยองค์กรผ่านวิกฤตขาดทุน ด้วยการลดค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการการลดค่าใช้จ่าย แต่ยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดพนักงาน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0