โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

วิกฤติโบอิ้ง พิษ737 แม็กซ์งดบินทุบยอดส่งมอบดิ่งวูบ

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 17 ก.ค. 2562 เวลา 10.52 น.

ยอดส่งมอบเครื่องบินของบริษัทโบอิ้งในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2562 ยังคงตอกย้ำถึงภาวะวิกฤติที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่  สื่อต่างประเทศรายงานว่า ยอดส่งมอบเครื่องบินโบอิ้งในไตรมาสล่าสุดมีเพียง 90 ลำ ลดลง 54% เมื่อเที่ยบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการที่โบอิ้ง และสายการบินทั่วโลก พากันระงับการนำเครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ (Max) ขึ้นบินตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุเครื่องบินรุ่นดังกล่าวตกลงถึง 2 ลำในเวลาห่างกันไม่ถึง 5 เดือน ทำให้บริษัทต้องเร่งตรวจสอบและแก้ไขข้อบกพร่องในระบบซอฟต์แวร์ที่ควบคุมการบินอัตโนมัติของเครื่องบินรุ่นนี้

เครื่องบินโบอิ้งตระกูลแม็กซ์ เป็นเครื่องบินรุ่นที่ทำกำไรให้บริษัทได้มากที่สุด แต่หลังจากที่เครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ของสายการบินเอธิโอเปียตกลงเมื่อวันที่ 10 มีนาคม และหน่วยงานภาครัฐออกมาสั่งห้ามการนำเครื่องบินรุ่นดังกล่าวขึ้นบินเมื่อวันที่ 13 มีนาคม โบอิ้งก็ไม่มีการส่งมอบเครื่องบินตระกูลแม็กซ์อีกเลย  ในช่วงไตรมาส2 ที่ผ่านมา โบอิ้งส่งมอบเครื่องบินให้ลูกค้า ประกอบด้วยเครื่องบิน 737 รุ่นเก่า 24 ลำ และ 787 ดรีมไลเนอร์ 42 ลำ  

 

ยอดจำหน่ายเครื่องบินพาณิชย์ของโบอิ้งแผ่วลงมากท่ามกลางปัจจัยลบที่หลากหลาย ซึ่งนอกจากความหวั่นวิตกเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครื่องบินตระกูลแม็กซ์แล้ว ปัจจัยอื่นๆยังได้แก่ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ตึงเครียดมากขึ้น รวมไปถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก  นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โบอิ้งมียอดขายลดลง 119 ลำ มีการยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบิน 737 จำนวนทั้งสิ้น 180 คำสั่งซื้อ  

 

ทั้งนักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่างก็ต้องการจะรู้ว่าวิกฤติความปลอดภัยของเครื่องบินตระกูลแม็กซ์ที่มีต่อผลประกอบการของโบอิ้งนั้นจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด ในวันที่ 24 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ บริษัทจะแถลงผลประกอบการอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าแม้ลูกค้าจะชะลอการสั่งซื้อ แต่โบอิ้งก็ยังคงผลิตเครื่องบิน 737 ตามแผนการผลิต 42 ลำต่อเดือน และมีเครื่องบินใหม่จอดอยู่บริเวณลานจอดของบริษัทในเมืองซีแอทเทิล รวมทั้งที่โรงงานในเมืองซานแอนโทนิโอ มลรัฐเท็กซัส  นักวิเคราะห์ระบุว่า การผลิตเครื่องบินใหม่รอส่งมอบออกมาอย่างต่อเนื่องแบบนี้จะทำให้บริษัทมีต้นทุนในการเก็บรักษาประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อไตรมาส แต่บริษัทก็อาจจะมีรายได้จากการส่งมอบเครื่องบินรุ่น 787 ดรีมไลเนอร์รวมทั้งรายได้จากผลิตภัณฑ์ด้านกลาโหมและงานบริการ มาชดเชย

 

 

ต้นเดือนก.ค.นี้ สายการบินโลว์คอสต์ “ฟลายอะดีล” (Flyadeal) ของซาอุดิอาระเบียเพิ่งยกเลิกสิทธิ์ในการซื้อเครื่องบิน 737 แม็กซ์จากโบอิ้ง ซึ่งอาจจะมีจำนวนสูงถึง 50 ลำ นับเป็นการสูญเสียโอกาสที่จะทำสัญญาขายเครื่องบิน 737 แม็กซ์ครั้งแรกของโบอิ้งนับตั้งแต่เกิดเหตุวิกฤติ  ทั้งนี้ จำนวนเครื่องบินที่ยังคงค้างการส่งมอบหลังการปรับตัวเลขทางบัญชีลดลง 10 ลำมาอยู่ที่ 4,415 ลำ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0