โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"วิกฤตนี้เงินหายากมาก" เจ้าของคาเฟ่ เผย 3 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากโควิด-19

เส้นทางเศรษฐี

อัพเดต 01 มิ.ย. 2563 เวลา 04.46 น. • เผยแพร่ 29 พ.ค. 2563 เวลา 18.59 น.
Untitled-2

“วิกฤตนี้เงินหายากมาก” เจ้าของคาเฟ่ เผย 3 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากโควิด-19

เมื่อปลายปีที่แล้ว “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” เคยนำเสนอเรื่องราวของ คุณเอ้-ปิยนุช บุญโปร่ง วัย 49 ปี ถึงการเปิดคาเฟ่สไตล์ลอฟต์วินเทจ“KA-FA-NA HOUSE” (คาฟาน่า เฮ้าส์) ควบคู่ไปกับการทำหอพักย่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธุรกิจดำเนินไปด้วยความราบรื่น ยอดขายโตขึ้นตามลำดับ และมีลูกค้าประจำเพิ่มขึ้น

อ่านเพิ่มเติม เปลี่ยนลานจอดรถเก่า เป็นคาเฟ่สไตล์วินเทจ เสิร์ฟน้ำ-อาหารไทยฟิวชั่น ราคานักศึกษา

มาวันนี้ที่สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ซึ่งตอนนี้เริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่ธุรกิจของคุณเอ้ยังคงได้รับผลกระทบเฉกเช่นผู้ประกอบการรายอื่น เธอบอกว่า คาฟาน่า เฮ้าส์ เปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปี 2562 ตั้งแต่ให้สัมภาษณ์กับ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ยอดขายดีขึ้นเรื่อยๆ ร้านเป็นที่รู้จักในหมู่นักศึกษา น้องๆ หลายคนบอกต่อกันจนมีลูกค้าประจำเพิ่มขึ้น

“ก่อนหน้านี้ เรามีรายได้จากค่าหอ ค่าทำร้านอาหารคาเฟ่ แต่ถึงเดือน มี.ค. โควิด-19 เข้ามา ยอดขายเริ่มตก แต่ร้านยังคงเปิดอยู่ เข้าปลายเดือน มี.ค. รัฐบาลมีนโยบายปิดสถานศึกษา นักศึกษาเริ่มทยอยกลับบ้านเราก็ยังขายต่อ เพราะยังมีคนไปเรียนอยู่บ้างและคิดว่าอาจจะไม่ได้รุนแรงและต่อเนื่อง จน Social Distancing ร้านเราปรับตัวตาม มึแอลกอฮอล์ล้างมือ สวมถุงมือ ใส่หน้ากากอนามัย รับดีลิเวอรี่แต่ได้น้อยมาก คิดว่าเราคงต้องเริ่มปิดชั่วคราว ส่วนหอพักตอนนี้เด็กๆ ยังไม่กลับมาอยู่หอ แต่ยังจ่ายค่าเช่าอยู่ปกติ เราในฐานะเจ้าของก็ช่วยน้องๆ ลดค่าเช่าให้” คุณเอ้ เล่า

ตอนนี้ คุณเอ้แบกภาระไว้หลายอย่าง เป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นรายเดือน เธอจึงต้องปรับตัวส่งอาหารดีลิเวอรี่ แถมยังนำเงินที่ได้สมทบทุนทำโต๊ะปันอิ่มอีกด้วย

“ตอนนี้พี่ปรับตัวนำอาหารการกินที่รับมาวิ่งส่งดีลิเวอรี่เอง ได้กำไรนิดหน่อยพอเลี้ยงตัวช่วงนี้ ดีกว่าไม่ได้เลย เหนื่อยเหมือนกัน บางครั้งขับรถหลงทาง แต่คิดว่าเป็นประสบการณ์ที่ได้ทำอะไรใหม่ๆ อาจจะดีในอนาคตก็ได้ วิกฤตนี้เป็นโอกาสเลยก็ว่าได้ จากไม่เคยดีลิเวอรี่ก็ได้ทำ และเราโชคดีที่ร้านคาเฟ่ไม่ต้องเช่าที่ ไม่งั้นคงเครียดหนัก ทุกวันนี้เจอลูกค้าก็ให้กำลังใจกันไป เงินบางส่วนนิดหน่อยจากการขายของ ก็ฝากเพื่อนที่ทำร้านส้มตำทำโต๊ะปันอิ่ม ให้อาหารคนยากไร้ได้ทานอิ่มท้อง ในวิกฤตของเราได้แบ่งปันเล็กๆ น้อยๆ แค่นี้เราก็สุขใจแล้ว”

เธอยังบอกอีกว่า “สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากวิกฤตนี้คือ 1.การใช้เงินในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ รู้สึกเงินหายากมาก เพราะมีในส่วนของค่าเทอมลูก อันนี้เป็นอันดับแรกที่เราต้องกันไว้ให้เขา 2.การลงทุนในช่วงนี้ แทบจะไม่ลงทุนอะไรเพิ่มเติมเลย นอกจากทำประกันที่ยังต่อเนื่อง และประกันสุขภาพ อันนี้ยังคงทำเพราะถ้าร่างกายไม่ดี ก็จะเสียเงินตามมาได้ และ 3.ไม่สร้างหนี้เพิ่ม กันเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน”

“ถ้าในอนาคต มหาวิทยาลัยกลับเปิดได้ตามปกติ ขอให้น้องๆ นักศึกษา และลูกค้าเข้ามาอุดหนุนเหมือนเดิม เราจะฟื้นตัวได้ ที่สำคัญ เราต้องช่วยกันให้ผ่านพ้นไป ร้านยังเปิดขายไม่ได้ คนเช่าหออยู่ได้ เราก็อยู่ได้ ถึงรายได้น้อยลงมาก แต่เราต้องดูแลกันไป” เจ้าของคาเฟ่ทิ้งท้าย

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0