โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

วิกฤตซับไพร์ม วงจรแห่งความโลภของอเมริกันชน

aomMONEY

อัพเดต 24 ก.ค. 2561 เวลา 08.33 น. • เผยแพร่ 18 ก.ค. 2561 เวลา 11.47 น. • นายปั้นเงิน
วิกฤตซับไพร์ม วงจรแห่งความโลภของอเมริกันชน
วิกฤตซับไพร์ม วงจรแห่งความโลภของอเมริกันชน

No one can see a bubble. That's what makes it a bubble.”

ประโยคเด็ดที่นักลงทุนคนหนึ่งตอบโต้ Michael Burry (นำแสดงโดย Christian Bale) ในภาพยนตร์เรื่อง THE BIG SHORT (2016) หลังจากที่ Burry พยายามจะเตือนพวกเขาว่าฟองสบู่ภาคอสังหาฯของอเมริกากำลังจะแตก 

แต่ภาพลวงตาจากผลกำไรที่อยู่ตรงหน้ากำลังบังตานักลงทุนที่กำลังกอบโกยเงินอยู่ในขณะนั้น ทำให้เขามองไม่เห็นวิกฤตเลวร้ายครั้งใหญ่ที่สุดที่ทำให้เศรษฐกิจสะเทือนไปทั่วทั้งโลก…

เราอาจจะรู้จักวิกฤตครั้งนี้ภายใต้ชื่อ “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” แต่แท้จริงแล้วสาเหตุของวิกฤตครั้งนี้มาจากความโลภของชาวอเมริกันทุกระดับ ทั้งประชาชน นักลงทุน สถาบันการเงิน และบริษัทจัดอันดับที่น่าเชื่อถือ 

ความกระหายนำไปสู่การล้มละลายของสถาบันการเงินชื่อดังอย่าง เลห์มัน บราเธอร์ส และ AIG ซึ่งต้นตอทั้งหมดมาจาก บ้าน, ที่อยู่อาศัยและสินค้าทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการจำนอง จึงกลายเป็นอีกชื่อเรียกหนึ่งของวิกฤตการเงินครั้งนี้ “วิกฤตซับไพร์ม”

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2002 เมื่อธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) มองเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ได้ ดอกเบี้ยที่ลดลงส่งผลให้การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวขึ้น ช่วยเพิ่มอัตราการบริโภคและการลงทุนของประชาชน

จุดเริ่มต้นของวิกฤตเกิดที่ภาคอสังหาริมทรัพย์

เพราะเศรษฐกิจกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีการสร้างและซื้อขายบ้านที่อยู่อาศัยกันจำนวนมาก ตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีขนาดใหญ่กว่า 60% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดของสหรัฐ และมันกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 

เนื่องจากสถาบันการเงินต่างๆมีนโยบายเพิ่มการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น คนที่อยากเป็นเจ้าของบ้านก็ซื้อบ้านได้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้หลักประกันอะไรมาก ก็สามารถกู้เงินมาซื้อบ้านได้ ด้วยสินเชื่อ “Subprime Mortgages” หรือ “สินเชื่อที่ปล่อยให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ” 

ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นลูกหนี้ชั้นเลวร้ายที่ประวัติไม่ดี แถมยังเบี้ยวหนี้เก่ง

ด้วยเหตุนี้จึงมีการปล่อยกู้จำนวนมหาศาลในระบบเศรษฐกิจ มีการเก็งกำไรในโครงการบ้านใหม่และบ้านมือสอง คนที่มีบ้านอยู่แล้วก็โดดเข้าไปแจมปั่นราคาบ้านให้สูงขึ้นเรื่อยๆ คนอเมริกันหลายคนมีบ้านหลังที่สองสามสี่เพื่อเป็นสินทรัพย์สำหรับการลงทุนได้ง่ายๆ เพราะดอกเบี้ยในเวลานั้นไม่แพงมาก 

ความโลภของประชาชนทำให้ราคาบ้านดีดตัวสูงขึ้นกว่าสองเท่าตัว

จนกระทั่งสัดส่วนของสินเชื่อชั้นล่างพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่มีสัดส่วนไม่ถึง 15% ของยอดรวมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ในปี 2003 กลายเป็น 46% ในปี 2006 และตัวเลขสถิติของ อัตราหนี้สินครัวเรือนต่อรายได้ ก็เพิ่มเป็น 130% แปลว่าคนอเมริกันมีหนี้เฉลี่ยมากกว่ารายได้เสียอีก

แม้ว่าในปี 2004 FED จะออกมาเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของตลาดอสังหาฯลงแล้ว แต่ก็ไม่ได้ผลสักเท่าไหร่ เพราะสถาบันการเงินยังบ้าคลั่งปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง แถมยังปล่อยสินเชื่อให้ง่ายๆโดยไม่ต้องเช็คประวัติหรือไม่ต้องวางหลักประกันอะไรทั้งนั้น จน FED ต้องเพิ่มดอกเบี้ยมาเพื่อลดความบ้าคลั่งนั้นอีกหลายครั้ง 

อยากรู้มั้ยว่าทำไมสินเชื่อซับไพร์มถึงถูกปล่อยได้ง่ายมาก?

เพราะวงจรอุบาทว์ทั้งหมดไม่จบอยู่แค่ภาคอสังหาฯ เมื่อเชื้อร้ายมันไหลเข้าสู่ตลาดทุนด้วยสิ่งที่เรียกว่า Collateralized Debt Obligation (CDO)

เราต้องทำความเข้าใจโมเดลของ CDO นี้ก่อนว่ามันคืออะไร?

ปกติการซื้อบ้านของอเมริกาจะกู้เงินผ่าน “สถาบันการเงินท้องถิ่น" ที่ไม่ใช่ธนาคารเหมือนบ้านเรา 

จากนั้นสถาบันการเงินเหล่านี้จะนำพอร์ตลูกหนี้ของตัวเองไปขายให้ “บริษัทวานิชธนกิจ” เช่น Goldman Sach หรือ Morgan Stanley ทำหน้าที่รวบรวมสินเชื่อต่างๆทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อธุรกิจ สินเชื่อเพื่อการศึกษา ฯลฯ มาเพื่อค้ำประกันสินค้าลงทุนที่เรียกว่า “ตราสารหนี้ CDO” นำไปขายให้กับนักลงทุนทั้งรายใหญ่และสถาบัน 

โดยผลตอบแทนของ CDO จะขึ้นอยู่กับส่วนผสมของสินทรัพย์ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันในการออกตราสารทางการเงินดังกล่าว ซึ่งจะออกมาเป็นชุดๆเหมือนสินค้าทั่วไป

ทำให้ความเสี่ยงจากการกู้ยืมทั้งหมดเป็นของนักลงทุนโดยตรง ไม่ใช่ความเสี่ยงของสถาบันการเงินหรือวานิชธนกิจอีกต่อไป ยิ่งปล่อยกู้ได้เยอะกลุ่มสถาบันการเงินและวานิชธนกิจก็สามารถฟันกำไรจากการขายพอร์ตลูกหนี้และค่าธรรมเนียมได้เยอะ ด้วยเหตุนี้การปล่อยกู้จึงง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก

เชื้อร้ายแห่งความโลภเริ่มแทรกซ้อนไปทั่วทุกภาคส่วน

CDO จะดูไม่น่าลงทุนเลยถ้าไม่มีคนออกมาจัดอันดับเรตติ้งให้กับหนี้ก้อนนั้น “บริษัทเครดิตเรตติ้ง” จึงได้รับอานิสงค์จากวงจรอุบาทว์นี้ พวกเขารับเงินมาเพื่อเปลี่ยนอันดับ COD ที่เลวร้ายให้กลายตราสารหนี้ที่มีเรตติ้งดีมากๆ ทำให้เป็นที่สนใจของกองทุนรวมขึ้นมาทันที

ทีนี้การลงทุนใน CDO ที่มีลูกหนี้ซับไพร์มชั้นเลวร้ายปะปนอยู่อาจจะมีความเสี่ยงมากเกินไป “บริษัทประกัน” จึงเสนอตัวเข้ามาช่วยประกันความเสี่ยงให้ โดยนักลงทุนต้องจ่ายเบี้ยประกันเพื่อคุ้มครอง CDO หากมีการเบี้ยวหนี้เกิดขึ้น นักลงทุนจะได้รับทุนคุ้มครอง และบริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายเหล่านั้นแทน ซึ่งบริษัทประกันรายใหญ่นั้นคือ AIG นั่นเอง

นอกจากจะได้เบี้ยประกันเป็นรายได้แล้ว บริษัทประกันยังไม่อิ่มพอจึงนำกรมธรรม์ที่พวกเขารับประกันมาจัดเป็น “ตราสารอนุพันธ์ประกันความเสี่ยง” เพื่อกลับไปขายให้กับนักลงทุนอีกที เหมือนกับออกหวยมาให้นักลงทุนแทงว่า CDO ที่บริษัทประกันเข้าไปรับประกันภัยนั้นจะมีปัญหาหรือไม่ ทำให้เป็นที่สนใจของนักเก็งกำไรจำนวนมาก

แล้วเชื้อร้ายก็ได้แพร่พันธุ์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทั่วทั้งอเมริกาโดยสมบูรณ์แบบ..

ด้วยระบบนี้ทำให้ราคาบ้านพุ่งสูงขึ้น มูลค่าหุ้นบริษัทวานิชธนกิจเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว กำไรของบริษัทเครดิตเรตติ้งเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทประกันได้ทั้งขึ้นทั้งร่องจากค่าเบี้ยประกันจากนักลงทุน และตราสารอนุพันธ์ บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกคนรวยขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ภาพที่ทุกคนมองในเวลานั้นคือวงการอสังหาอเมริกานั้นแข็งแกร่งแบบสุดๆ

ระเบิดเวลาทำงานเริ่มเมื่อฟองสบู่ลอยตัวมาถึงจุดจบ

และแล้วในปี 2006 ตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มออกอาการไปต่อไม่ได้ เพราะราคาบ้านมันพุ่งสูงเกินความจริงมานานแล้ว พร้อมกับที่ Supply ในตลาดอสังหาเพื่อการลงทุนเริ่มมีมาก ทำให้ต้องลดราคาลงแข่งกัน ประกอบกับเวลานั้นดอกเบี้ยของสหรัฐอยู่ในช่วงขาขึ้น (เนื่องจาก FED ต้องการลดความร้อนแรงของตลาดอสังหาฯ) 

เพราะตั้งแต่แรกกลุ่มลูกหนี้ซับไพร์มได้เงินกู้มาซื้อบ้านแบบง่ายๆ แต่ก็แลกด้วยการจ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว ถ้าอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น พวกเขาก็จะแบกรับภาระดอกเบี้ยเพิ่ม วี่แววของหนี้เสียเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อพวกเขาต้องเลื่อนการจ่ายเงินออกไปเรื่อยๆ หลังจากที่สินทรัพย์ของตนเองไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้ตามที่ต้องการ

สุดท้ายแล้วการทิ้งภาระหนี้สินและสินทรัพย์อาจจะเป็นทางออกสุดท้ายที่ดีที่สุด เนื่องจากบางคนได้เงินกู้มาโดยไม่ต้องมีหลักประกัน พวกเขาจึงลอยตัวได้อย่างสบายใจ โนสน โนแคร์ ตามคอนเซป “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย(โว้ยยยยยยยยยยยยย)”

ความซวยขั้นต่อมาตกอยู่ที่ “สถาบันการเงิน” ที่ปล่อยสินเชื่อ เมื่อขายลูกหนี้ซับไพร์มให้วานิชธนกิจไม่ได้ก็ต้องรับความเสี่ยงนั้นด้วยตัวเอง พวกเขากู้เงินระยะสั้นมาปล่อยเงินกู้ระยะยาว เมื่อไม่มีรายได้เข้ามามากพอกับหนี้สินที่ก่อไว้ พวกเขาจึงต้องประกาศล้มละลาย ตัวอย่างเช่น American Home Mortgage และ New Century Financial 

บริษัทวานิชธนกิจที่แบกรับความเสี่ยงจากการออก CDO มาขายก็โดนปรับลดความน่าเชื่อถือ และราคาหุ้นก็ดิ่งลงเหวจากเหตุการณ์นี้ เนื่องจากวานิชธนกิจขาย CDO ที่แฝงเนื้อร้ายให้นักลงทุน แล้วตนเองก็ไปซื้ออนุพันธ์จากบริษัทประกันเพื่อแทงว่า CDO จะแย่เพื่อทำกำไรอีกทอด เป็นการกระทำที่เอาแต่ได้ เป็นที่น่ารังเกียจของคนทั่วไป

ความซวยขั้นสูงสุดตกอยู่กับ “บริษัทประกัน” เพราะพวกเขาเข้าไปรับประกันความเสี่ยงจากนักลงทุนที่ถือครอง CDO อยู่ และยังเสียหายจากการออกตราสารอนุพันธ์ Credit Default Swap (CDS) แล้วมีนักลงทุนมาซื้อสวอปตัวนี้เพื่อแทงว่าตลาดอสังหาฯจะพังพินาศลง (ถ้าดูหนังเรื่อง Big Short จะเข้าใจมากขึ้น เพราะกลุ่มตัวเอกรวยขึ้นได้จากการซื้อสวอปตัวนี้) 

สุดท้ายบริษัทประกันก็ล้มละลาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ AIG ที่ไม่มีเงินสำรองมากพอที่จะชดเชยความเสียหายจากเงินประกันทั้งหมดที่แบกรับไว้ แต่ยังโชคดีที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐ

จดจบสุดท้าย และการล่มสลายของยักษ์

ความพังพินาศของระบบอสังหาฯสร้างความปั่นป่วนไปทั่วอเมริกาและทั่วโลก การยึดบ้านเกิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่ กองทุนที่ลงทุนในระบบนี้ขาดทุนอย่างย่อยยับ ตัวเลขการจ้างงานลดลงน่าใจหายเพราะทุกบริษัทต้องการรัดเข็มขัดเพื่อเอาตัวรอด ผู้บริหารระดับสูงหลายคนต้องถูกลดเงินเดือน

ตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบ เพราะเงินทุนไหลออกไปยังที่ที่ปลอดภัย ส่งผลให้ราคาทองคำและน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมากจากช่วงเวลาก่อนหน้าวิกฤต บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งต้องล้มละลายเพราะเข้าไปเกี่ยวพันกับวงจรอุบาทว์ข้างต้น ซึ่งรวมไปถึงเลห์มัน บราเธอร์ส วานิชธนกิจยักษ์ใหญ่ที่เปิดทำการมานานกว่า 150 ปี

แม้ที่อเมริกาจะเคยเกิดวิกฤตครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง ทั้ง Great Depression, Black Monday และ Dotcom Bubble  แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์แห่งความโลภก่อนหน้านั้น จนกระทั่งเกิดวิกฤตซับไพร์มขึ้นมาอีกครั้ง…

ไม่มีใครเห็นว่าฟองสบู่กำลังเกิด นั่นแหละคือสาเหตุของการเกิดฟองสบู่แห่งวิกฤต

เรื่องราวของวิกฤตเศรษฐกิจทั้งหมดทำให้เรารู้ตัวว่า “History Repeat itself” ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นซ้ำด้วยตัวของมันเองเสมอ ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน มันไม่เคยกล่าวคำลากับเรา แต่บอกเพียงแค่ว่า

“ไว้เจอกันใหม่…”

ปล. พิเศษยิ่งกว่า !!! 

ใครที่อ่านบทความจนถึงตรงนี้แสดงว่าชอบศึกษาประวัติศาสตร์ของวิกฤตต่างๆแน่เลยย 

นายปั้นเงินมีข่าวดีมาบอก เพียงแค่แอดเฟรนด์เป็นเพื่อนกันในไลน์ที่ http://bit.ly/artisanmoney

รอรับฟรี !!! E-BOOKS เรื่องราววิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเราจะรวบรวมบทความเกี่ยวกับวิกฤตที่ผ่านมา เรียบเรียงและเพิ่มรายละเอียดเข้าไป รวมถึงตอนพิเศษที่จะไม่เผยแพร่เนื้อหาผ่านช่องทางอื่นๆ 

แจกให้ในเดิอนสิงหาคมนี้นะครับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0