โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วางแผนเกษียณ เริ่มไว ถึงเป้าหมายง่ายกว่า - โค้ชหนุ่ม The Money Coach

THINK TODAY

เผยแพร่ 16 ต.ค. 2562 เวลา 17.05 น. • โค้ชหนุ่ม The Money Coach

สองปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เดินสายไปบรรยายในหลายองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้จากหลายองค์กรที่ไปทำงานด้วยก็คือ มีความตื่นตัวเรื่องวางแผนเกษียณกันพอสมควร ทุกที่ ๆ ไป มีการจัดนิทรรศการ ฝึกอบรม และเผยแพร่ความรู้เรื่องนี้กันอยู่ไม่น้อย

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะประเทศไทยของเรากำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคนส่วนใหญ่เมื่อเกษียณแล้วก็มักจะมีชีวิตอยู่ยืนยาวกว่าแต่ก่อน เมื่ออยู่กันนานขึ้น ก็น่าจะเริ่มตระหนักกันแล้วว่า เงินเก็บเพื่อเอาไว้กินใช้ในช่วงบั้นปลายก็จะต้องมากขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี จากที่ได้เข้าไปบรรยาย ผมพบว่ายังมีบางเรื่องเกี่ยวกับการวางแผนเกษียณที่อาจยังมีความเข้าใจไม่ถูกต้อง รวมถึงยังเข้าใจไม่ครอบคลุมในบางเรื่อง บทความวันนี้ผมจึงอยากหยิบหลักสำคัญในการวางแผนเกษียณ มาเล่าให้ผู้อ่านทุกท่านได้อ่านกัน เพื่อจะได้วางแผนเกษียณให้กับตัวเองได้ง่ายขึ้น

สำหรับการวางแผนเกษียณ มีหลักการเบื้องต้นที่สำคัญ ดังนี้ครับ

1) วางแผนเกษียณตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน

2) ชำระคืนหนี้ให้หมดก่อนเกษียณ

3) ศึกษาการลงทุน ลงทุนอย่างต่อเนื่อง และติดตามการลงทุนสม่ำเสมอ

4) กันเงินเกษียณไว้ให้ตัวเอง ไม่ให้กับใคร (แม้แต่ลูกหลาน)

1. วางแผนเกษียณตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน

นี่คือสิ่งแรกที่เราต้องช่วยกันเปลี่ยนความคิดเลยครับ จากที่เคยคิดกันว่า การวางแผนเกษียณเป็นเรื่องของคนใกล้เกษียณ ความคิดแบบนี้ต้องเปลี่ยนและสอนกันใหม่หมด เพราะเวลาแค่ 4-5 ปีสุดท้าย ถ้าใครไม่เคยเก็บสะสมเงินมาเลย ชีวิตแต่ละเดือนมีแต่หาเงินใช้หนี้ แล้วจะมาเร่งเก็บในช่วงสุดท้าย รับประกันเลยว่ายากที่จะมีเงินพอใช้ในช่วงบั้นปลายชีวิต

ที่ถูกต้องคนเราต้องวางแผนเกษียณตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน เริ่มเก็บออมจากน้อยไปมาก เน้นความสม่ำเสมอ และรู้จักใช้เครื่องมือทางการเงินให้เหมาะสม ลองคิดง่าย ๆ ว่า หากเราสะสมเงินเดือนละ 1,000 บาท (ไม่เพิ่มเลยตลอด 40 ปี) สะสมตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน โดยแต่ละเดือนนำเงินที่สะสมได้ ไปลงทุนในแผนการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสัก 3% ต่อปี เมื่อถึงวันเกษียณ เรามีจะเงินเก็บราว 926,000 บาท

แต่ถ้าเราค่อย ๆ ทยอยเพิ่มสัดส่วนการออม และปรับแผนการลงทุนให้มีผลตอบแทนสูงขึ้นตามความรู้ที่มี โอกาสที่จะมีเงินเก็บหลักล้านจากแผนง่าย ๆ นี้ ก็จะมีมากขึ้น และนี่คือเหตุผลที่การวางแผนเกษียณควรเริ่มให้เร็ว เพราะจะได้ใช้ประโยชน์จากผลตอบแทนแบบทบต้นได้เต็มที่ และถ้าจะให้ดีควรเริ่มตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงานเลยครับ

2. วางแผนชำระคืนหนี้ให้หมดก่อนเกษียณ

หลายครั้งผมเจอข้าราชการที่เกษียณพร้อมเงินบำนาญเดือนละ 30,000-40,000 บาทต่อเดือน (หรือมากกว่านั้น) แต่ก็ยังกินใช้ไม่พอในช่วงบั้นปลาย เพราะหลายคนยังมีภาระหนี้ติดตัวมาหลังเกษียณ เงินบำนาญที่ได้มาก็เลยไร้ความหมาย เพราะเมื่อหักลบหนี้ที่ต้องผ่อนแล้ว เงินที่เหลือไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต

ข้าราชการว่าหนักแล้ว พนักงานบริษัทเอกชนและผู้ประกอบอาชีพอิสระหนักกว่า เพราะถ้าเตรียมเงินไว้ก้อนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จากเงินชดเชยกรณีเลิกจ้าง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือสะสมเอง แต่มีหนี้ก้อนใหญ่ติดตัวหลังออกจากงานด้วย แบบนี้มีก็มีโอกาสที่เงินจะไม่พอใช้ เพราะต้องคอยกังวลเรื่องภาระหนี้ในแต่ละเดือนด้วย

ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างที่ยังทำงานอยู่ คนเราจึงควรวางแผนชำระหนี้ทั้งหมดที่มีให้จบก่อนเกษียณ เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระทางการเงินในช่วงชีวิตหลังเลิกทำงาน

3. ศึกษาการลงทุน ลงทุนอย่างต่อเนื่อง และติดตามการลงทุนอยู่เสมอ

ข้อนี้สำคัญมาก เพราะในยุคปัจจุบันแค่การออมเงินเพียงอย่างเดียว ไม่พอสำหรับการสะสมความมั่งคั่งแล้ว ดังนั้นคนเราจึงควรศึกษาเรื่องการลงทุนให้เข้าใจ โดยอาจเริ่มง่าย ๆ จากเครื่องมือใกล้ตัว อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ประกันบำนาญ เงินฝากและหุ้นสหกรณ์ ฯลฯ เริ่มจากเครื่องมือกลุ่มนี้ก่อนพัฒนาการลงทุนไปสู่เครื่องมือที่ยากและซับซ้อนขึ้น

ทั้งนี้หัวใจสำคัญของการลงทุนก็คือ ต้องเลือกและจัดสรรการลงทุนได้เอง ด้วยเหตุนี้ความรู้และความเข้าใจในการลงทุนของเราจึงมีความสำคัญมาก (อย่าคอยแต่ถามคนอื่น) เพราะมันจะช่วยให้เงินออมของเราไปถึงเป้าหมายเกษียณได้จริง

4. กันเงินเกษียณไว้ให้ตัวเอง ไม่ให้เงินกับใคร (แม้แต่ลูกหลาน)

เงินเกษียณ คือ เงินก้อนสุดท้ายในชีวิต จงเก็บมันเอาไว้เลี้ยงดูชีวิตตัวเอง อย่าให้คนอื่น อย่าอุปถัมภ์คนอื่นจนลืมตัวเอง เราเป็นห่วงเขา เราให้เขาได้ แต่เวลาเราลำบาก ใช้ว่าทุกคนจะช่วยเราได้ เมื่อมีก็ต้องเก็บต้องกันไว้ให้ตัวเองก่อน ถ้าเหลือหรือล้นค่อยแบ่งปัน หรืออย่าเพิ่งให้เลยก็ดี เพราะเราไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ไปอีกนานเท่าไหร่ รอวันที่เราจากไป เหลือเท่าไหร่ก็ค่อยให้คนข้างหลัง แบบนี้ก็ง่ายดีครับ

ทั้งหมดนี้คือ แนวคิดการเก็บเงินเกษียณอย่างง่าย ที่ใช้ได้ผล กลั่นข้อมูลมาจากคนที่เกษียณสุขสบาย ยังไงก็ลองหยิบนำไปเป็นแนวทางกันดูนะครับ อยากให้คุณผู้อ่านทุกคนมีความสุขทั้งในช่วงทำงานและในช่วงบั้นปลายชีวิตครับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0