โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วางบิล /เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /โทษสารภาพขึ้นกับ 'วินิจฉัย' และ 'ดุลพินิจ'

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 19 ม.ค. 2563 เวลา 14.07 น. • เผยแพร่ 19 ม.ค. 2563 เวลา 14.06 น.
วาง

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์   

โทษสารภาพขึ้นกับ ‘วินิจฉัย’ และ ‘ดุลพินิจ’

 

เรื่องของสิทธิเสรีภาพบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน กำหนดไว้ในมาตรา 29 ว่า บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้

ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี

ในคดีอาญา จะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้

คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

 

หยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมากล่าวอ้างไว้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า สิทธิเสรีภาพของบุคคลเป็นเรื่องสำคัญ ขณะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 บัญญัติว่า “บุคคลจักต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย…”

ดังนั้น การที่พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 บัญญัติว่า ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ และถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษผู้พิมพ์เป็นตัวการ

แม้เจตนาของพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 ประสงค์ให้บรรณาธิการและผู้พิมพ์รับผิดเป็นตัวการร่วมกันกับผู้ประพันธ์เมื่อผู้ใดกระทำความผิดต่อกฎหมายอื่น แม้ว่าบรรณาธิการไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือร่วมกระทำผิดกับผู้นั้น ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายปิดปากไม่อาจอ้างเป็นข้อต่อสู้คดีเพื่อปฏิเสธความรับผิด แม้ว่าบรรณาธิการหรือผู้พิมพ์ไม่ได้ก่อหรืออาจมีส่วนร่วมการใดให้เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ประพันธ์ผู้อื่นที่ต้องรับผิดชอบเป็นการเฉพาะในความผิดตามกฎหมายอื่นนั่นเอง (กฎหมายสื่อสารมวลชน หน้า 213 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 18 พ.ศ.2561 รองศาสตราจารย์พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช กับคณะ)

ดังนั้น พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 จึงขัดกับหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมาตั้งแต่ต้น ผู้ประกอบการวิชาชีพหนังสือพิมพ์จึงคัดค้านและเรียกร้องให้ยกเลิกมาตลอด

การนำเสนอในก่อนย่อหน้าก่อนสุดท้าย ที่ว่า

การเป็นบรรณาธิการต้องตกเป็นจำเลยขณะมิได้เป็นผู้กระทำความผิด แม้การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทจะเป็นความผิดลหุโทษก็ตาม แต่มีโทษจำคุกอยู่ด้วย จึงไม่รู้ว่าหากมีความผิดแล้วต้องโทษจำคุกหรือไม่นั้น

เนื่องจากความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียงตามมาตรา 326 ถึงมาตรา 333

มาตรา 328 บัญญัติว่า ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพ หรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียงหรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่นใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท (แก้ไขเพิ่มเติมเพิ่มโทษจึงต้องขึ้นศาลอาญาแทนศาลแขวงก่อนหน้าการแก้ไข)

หนังสือพิมพ์คือกระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร หากเป็นการหมิ่นประมาทจึงมีความผิดตามมาตรา 328 เมื่อพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ระบุว่าบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ ผู้ฟ้องจึงฟ้องผู้กระทำ เช่น ผู้ให้สัมภาษณ์ หรือผู้เขียนและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นด้วย

ทั้งที่บรรณาธิการไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดด้วยตนเอง และผู้กล่าวหาต้องพิสูจน์ว่าบรรณาธิการได้กระทำความผิดหรือร่วมกระทำความผิด แต่เมื่อมีการฟ้องร้อง ผู้ฟ้องมักพ่วงบรรณาธิการเข้าไปด้วย

ดังนั้น การที่บรรณาธิการไม่ได้ร่วมหรือกระทำความผิดด้วย เมื่อต้องตกเป็นจำเลย แล้วการพิพากษาของศาลเห็นว่าเป็นความผิด นอกจากผู้เขียน หรือผู้ให้สัมภาษณ์จะต้องรับผิด บรรณาธิการจึงมีความผิดตามไปด้วย นับเป็นภาวะที่สร้างความทุกข์ใจในทุกครั้งที่ต้องฟังคำพิพากษา

แม้จะไม่มีการพิสูจน์ว่าบรรณาธิการเป็นผู้กระทำความผิดนั้น หากมาตรา 48 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ระบุไว้ว่า ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย

 

การที่โทษความผิดฐานหมิ่นประมาทมาตรา 328 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมเพิ่มโทษจำคุกเป็นสองปี และเพิ่มโทษปรับเป็นสองแสนบาท ทำให้โทษหมิ่นประมาทซึ่งเดิมเป็นความผิดขึ้นศาลแขวง มาเป็นความผิดขึ้นศาลอาญา ทำให้ “ยี่ต๊อก” (อัตราการประกันตัวต้องเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย) ทั้งการลงโทษของผู้พิพากษาซึ่งแต่เดิมแม้มีโทษจำคุกและปรับจะสูงตามขึ้นไปด้วย

เมื่อมีโทษจำคุกในอัตราที่ต่ำในศาลแขวง การรอลงอาญาอาจจะเป็นไปได้มากกว่าศาลอาญา แม้โทษปรับอาจจะน้อยกว่า

ในคดีความผิดฐานหมิ่นประมาท ทนายความมักยกมาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต

(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนเองหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม

(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่

(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ

(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม

ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ส่วนกรณี “จำเลย” คือบรรณาธิการ (ซึ่งไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดด้วยตนเอง) สารภาพ ยังอาจมีโทษจำคุกโดยไม่มีการรอลงอาญา ทั้งนี้ ขึ้นกับว่าคำสารภาพนั้น เป็นเรื่องของศาลที่จะมีการ “วินิจฉัย” และ “ดุลพินิจ” ในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาอย่างไร ซึ่งเป็นเหตุผลของศาลในแต่ละชั้นนั้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0