โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วันแรก ถก "พ.ร.ก.เงินกู้" กร่อย! ฝ่ายค้านปล่อยสารพัด "หมัดแย็บ"

Thai PBS

อัพเดต 27 พ.ค. 2563 เวลา 13.53 น. • เผยแพร่ 27 พ.ค. 2563 เวลา 13.52 น. • Thai PBS
วันแรก ถก

ถก พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทวันแรก ภาพรวมเรียกได้ว่า “คนคึก! แต่อภิปรายเนือย”

ที่ว่า “คึก” คือความคึกคักของ ส.ส. ที่เพิ่งกลับมาจากปิดเทอม เข้าร่วมประชุมสภาฯ วันแรก ส่วนที่ว่า “เนือย” คือการบรรยากาศที่เนิบเนือยทั้ง “คนชำแหละ” และ “คนชี้แจง”

ยิ่งเป็นเรื่อง งบฯ เรื่องเงิน ที่เป็น “ตัวเลข” ด้วยแล้วยากที่ประชาชนคนฟังจะสนใจ

ทั้งที่รอบนี้มี “เงิน” ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของคน เช่น พ.ร.ก.ฉบับแรก ที่ว่าด้วยเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท “ไส้ใน” ว่าด้วยเงินที่จะใช้ในด้าน “สาธารณสุข” และใช้กับการจ่ายเงิน “เยียวยา”

สำคัญคือต้องยกตัวอย่างโครงการที่รัฐบาลใช้ “เงินกู้” ไปไม่เหมาะสม อย่างเช่นช่วงนี้มีผู้ประกอบการโรงแรมปูดมีคนเดินสายหักค่าหัวคิด 40% อ้างเอาโรงแรมเข้าเป็นที่กักตัวของรัฐ Stat Quarantine ซึ่ง “เงิน” ที่จะใช้อุดหนุน “หัวละ 1,000” ก็ต้องควักมาจากงบฯ ที่จะใช้อัดฉีดด้านสาธารณสุข

แต่กลับไม่มีเรื่องนี้… และยังไม่เห็นการยกตัวอย่างกรณีอื่นที่เป็นรูปธรรม

การชำแหละ “เงินกู้” ที่พอจะเข้าเป้า-เข้าท่า เห็นจะเป็นการอภิปรายของผู้นำฝ่ายค้าน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ย้ำว่าการที่รัฐบาลกู้เงินมหาศาล ลูกหลานต้องเป็นหนี้

โปรดระลึกไว้ว่าเงินทุกบาททุกสตางค์นั้น คือเงินอนาคตของลูกหลาน

วาทกรรมนี้ ไม่ว่ารัฐบาลไหนกู้ก็ต้องถูกใช้วลีนี้ถากถาง ไม่เว้นสมัย “เพื่อไทย” เป็นรัฐบาล ก็ถูกฝ่ายค้านมืออาชีพใช้ประเด็นนี้อภิปราย ไม่วายวันนี้เป็นฝ่ายค้านก็จำต้องใช้วาทกรรมนี้เช่นกัน

เช็กข้อมูลว่าด้วยเรื่องภาระ “หนี้” ที่มากับเงินกู้ โดยใช้ "ดวงตาที่สาม" คือคนกลางอย่างไทยพีบีเอส ไม่ใช่ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล
1.แต่ละรัฐบาลมี “หนี้” เฉพาะช่วง 7 ปี ย้อนหลัง ตั้งแต่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ หนี้ต่ำสุด ปี 2557 2.5 แสนล้าน สูงสุด ปี2555 4 แสนล้าน

ช่วง รัฐบาล คสช.-ประยุทธ์ ต่ำสุด ปี 2558 2.5 แสนล้านบาท สูงสุด ปี 2563 4.6 แสนล้านบาท (ข้อมูล สำนักงบประมาณ)
สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลจะกู้ยืมหรือมีหนี้มากขนาดไหน แต่กู้มาแล้วบริหารจัดการอย่างไร และมีหนี้ต่อ GDP อยู่ในระดับที่รับได้หรือไม่ ซึ่งตามระเบียบวินัยการเงินการคลังของไทยมีเพดานอยู่ที่ 60% ของ GDP

ถ้าอิงข้อมูล เดือน ก.พ. ไทยมีหนี้สาธารณะอยูที่ 41.44% ของ GDP หากกู้เงิน (จนครบ) 1.9 ล้านล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 52.64% ของ GDP

เท่ากับว่าเงินกู้ล็อตนี้ยังต่ำกว่าเพดาน แต่ก็เป็นเงินกู้ที่สูงมาก

แต่ถ้าคำนวณถึงเดือน ก.ย. ปี 2564 ไทยจะมีหนี้สาธารณะ 59.96 % ของ GDP ซึ่งนั่นถือว่าปริ่มเพดาน และสูงมากๆ

2.ใช้เงินตรงเป้าหรือไม่ สำคัญกว่ายอดเงินกู้ ซึ่งการใช้เงินกู้รอบนี้ ไม่ได้เขียนรายละเอียดไว้ชัด เช่น 6 แสนล้านบาท ใช้ด้านสาธารณสุขและเยียวยา และอีก 4 แสนล้านบาท ใช้กับการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ ถ้าใช้เงินไม่ตรงเป้า ก็เสี่ยงจะเป็นการใช้เงินไม่ตรงเป้า กลายเป็นเบี้ยหัวแตกไม่คุ้มค่า

เช่น การแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่รัฐบาลอุดเลือดไม่หยุด ยังเป็นแผลที่สะท้อนว่าการใช้เงินยังไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย

ประเด็นนี้ตรงกับหัวข้อของฝ่ายค้าน ที่ “สมพงษ์” จั่วหัวไว้แต่ต้น นั่นคือการกู้เงินของรัฐบาลเสมือนเป็นการ “ตีเช็กเปล่า” ให้รัฐบาลใช้จ่ายในรายละเอียดตามต้องการ ซึ่งต่างจาก พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ทีฝ่ายค้าน-ประชาชน สามารถตรวจสอบได้บางส่วน จากรายละเอียดโครงการที่ กระทรวง ทบวง กรม ตั้งงบฯ ของเงินรัฐบาล

รัฐบาลใช้เงินก้อนนี้ไม่ตอบโจทย์ ไม่ได้คิดถึงภาพใหญ่ เปิดช่องให้ใช้เงินเพื่อประโยชน์ทางการเมือง แจกจ่ายให้กับ ส.ส.เสมือนเป็นการตีเช็คเปล่า

โยง "ข้อมูล" แต่ไม่แฉ "หลักฐาน"

สำหรับ “นักเปิดโปง” ที่แฟนคลับฝ่ายค้านตั้งตารอ เช่น นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่เคยโชว์ฟอร์มระหว่างการถก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 โดยเปิด “หลักฐาน” แสดงให้เห็นถึงปฏิบัติการไอโอของทหาร ที่มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนอย่างเป็นระบบ

รอบนี้ถือว่าการอภิปรายก่ำกึ่ง ไม่ใช่เพราะ "ไม่ถึงพริกถึงขิง" ทั้งลีลาและข้อมูล ถือว่ามีการเตรียม "ข้อมูล" มาเป็นอย่างดี แต่ไม่มีการ "โชว์หลักฐาน" ใหม่ ดังที่เคยทำมาก่อน และบางครั้งเป็นการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อสนับสนุนชุดความคิดและ "วาทกรรม" ที่ใช้เชือดเฉือน

สาระสำคัญช่วงหนึ่งที่เป็นไฮไลท์ คือ นายวิโรจน์ เลือกชูประเด็นรัฐบาล “อุ้มนายทุน” ดังที่ใช้ประโยค "นายทุนมาก่อน ประชาชนรอก่อน" โดยหยิบยกกรณี บอร์ดการท่าอากาศยาน ปรับลดค่าตอบแทนให้กับบริษัทสินค้าปลอดภาษีในสนามบิน ซึ่งเชื่อว่า ก.คลัง ต้องรู้ทันทีว่าเสียเงิน กว่า 3.2 หมื่นล้านบาท

มาตรการนี้ภาครัฐช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับกรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่ต้องรอขั้นตอนพิสูจน์สิทธิ

แต่ความก่ำกึ่งที่ถูกท้วงติง คือการหยิบตัวเลขชุดนี้ คือ 3.2 หมื่นล้านบาท พยายามเทียบว่า จะใช้เงินจำนวนนี้ ซื้อชุด PPE ซื้อข้าวสาร ซื้อหน้ากากอนามัยได้เท่าไหร่ ?

ซึ่งความเป็นจริงบางสิ่งที่ต้อง "ควักเงินช่วย" ก็ต้องช่วยไป โดยประเด็นนี้จริงอยู่ที่ผู้ได้รับการช่วยเหลือเป็น "นายทุน" ซึ่งจะนำไปคิดกับกรณีอื่นๆ โดยเทียบโต้งๆ แบบนี้ไม่ได้เสียทีเดียว

โดยสรุปจึงเป็นอภิปรายที่เน้น "ข้อมูล" และเชื่อมโยงได้ดี แต่ยังถ้าเทียบกับมาตรฐานที่เคยทำไว้ ยังถือว่าไม่ถึง! โดยเฉพาะการเน้น "เปิดหลักฐาน" เป็นหมัดน็อกรัฐบาล

สารพัดหมัดแย็บ แต่ไม่มีหมัดน็อก

ส่วนฝั่งรัฐบาลแทบไม่ได้ลุกแจง สาเหตุเพราะฝ่ายค้างยัง "แทง" ไม่ถึงใจดำ ตามที่ได้หยิบยกหนังตัวอย่างให้ดูในข้างต้น จึงไม่มี "ขุนพล" พิทักษ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้วิวาทะหรือโชว์ข้อมูลชี้แจงเท่าไหร่นัก

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ รอบนี้ถือว่าตอบน้อยที่สุดนับตั้งแต่ถูกอภิปราย ไม่ว่าจะเป็น "นโยบาย" หรือ พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ทว่าวันแรก อาจมีแผลให้ฝ่ายค้านสะกิดบ้าง เช่น การยอมรับว่าการบริหาร "เงิน" ของรัฐบาล ใช้ งบกลาง งบฉุกเฉิน และเกลี่ยสารพัดงบฯ แล้ว แต่ยังไม่พอใช้รับมือ โควิด-19

เป็นการยอมรับที่ทำให้เกิดเสียง "แซะ" ตามข้อครหารัฐบาลถังแตก และใช้เงินกับโครงการสารพัดแจกก่อนหน้า

ทว่าสิ่งที่ขาดวันนี้ คือ "ช่องโหว่" ในการตรวจสอบการใช้ "เงินกู้" แม้จะมี ส.ส.เริ่มถลุงหมัดนี้ไปบ้าง แต่ยังเป็น "หมัดแย็บ"

"ช่องโหว่" ที่ว่า วันนี้ นายกฯ ยังออกตัวชิงชี้แจง โดยเฉพาะคำวิจารณ์ที่มีต่อ "คณะกรรมการกลั่นกรอง" เงินกู้ ที่จะคัดกรองโครงการต่างๆ ตามที่จังหวัดและหน่วยงานเสนอขอใช้งบฯ จาก "เงินกู้" ซึ่งเป็นเงินกองใหญ่ใน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท (เป็น 1ใน3 ของพ.ร.ก.ที่กำลังพิจารณาอยู่)

คณะกรรมการที่จะกลั่นกรอง ส่วนใหญ่คือ "ข้าราชการ" และคนที่ นายกฯ แต่งตั้ง เสมือนรัฐราชการที่ไม่มีการถ่วงดุลตรวจสอบ

และกลไกการใช้เงินก้อนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Soft Loan หรือ การตั้งกองทุนอุ้มตลาดทุน ก็มีลักษณะเดียวกัน คือมี "คนคุม" อยู่ที่ปลายน้ำ รอไขก๊อกปล่อยกู้สู่มือคนขอ

รอ 4 วันที่เหลือ หาก "ฝ่ายค้าน" ยังไม่ฮุกประเด็นนี้ เห็นที "ไทยพีบีเอส" จะต้องชำแหละในตอนต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0