โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วันนี้ในอดีต 14 พฤศจิกายน “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง”

[invalid]

อัพเดต 14 พ.ย. 2561 เวลา 00.56 น. • เผยแพร่ 14 พ.ย. 2561 เวลา 01.00 น. • tnnthailand.com
วันนี้ในอดีต 14 พฤศจิกายน “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง”
วันนี้ 14 พฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ซึ่งโครงการพระราชดำริฝนหลวง เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

วันนี้ 14 พฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” โดยโครงการพระราชดำริฝนหลวง เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 โดยเสด็จฯเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร 14 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ เสด็จฯจากจังหวัดนครพนมไปจังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านจังหวัดสกลนคร และเทือกเขาภูพาน ทรงทราบถึงความเดือดร้อนที่ราษฎรได้รับเนื่องจากขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร เมื่อครั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล วิศวกรและนักประดิษฐ์ควายเหล็กที่มีชื่อเสียงเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานแนวความคิดนั้นแก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล

โดยทฤษฎีต้นกำเนิดฝนหลวงแรกเริ่ม คือ การโปรยสารดูดซับความชื้น หรือเกลือ จากเครื่องบิน เพื่อดูดซับความชื้นในอากาศ และใช้สารเย็นจัด หรือน้ำแข็งแห้ง เพื่อให้ความชื้นกลั่นตัวและรวมเป็นเมฆ ซึ่งหลังจากที่ได้พระราชทานแนวความคิดแล้ว ยังทรงใช้เวลาอีก 14 ปีในการวิเคราะห์วิจัย ทบทวนเอกสาร รายงานผลการศึกษาและข้อมูลต่างๆ โดยพระราชทานให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุลเพื่อประกอบการค้นคว้าทดลองมาโดยตลอด

ภาพตำราฝนหลวง ขอบคุณwww.royalrain.go.th

จากนั้นในปี พ.ศ.2498 เป็นต้นมา ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งทรงรอบรู้และเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จนทรงมั่นพระทัยจึงพระราชทานแนวคิดนี้แก่ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจากนั้นในปีถัดมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการและหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลองเป็นคนแรก และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองเป็นแห่งแรก

การทดลองครั้งแรก เริ่มจากหยอดก้อนน้ำแข็งแห้งขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้วเข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุตที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลอง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มเมฆที่ทดลองมีการเปลี่ยนแปลงของเมฆอย่างเห็นได้ชัดเจน เกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่นและก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว และเคลื่อนตัวไปตามทิศทางลม ซึ่งจากการติดตามผลโดยการสำรวจทางภาคพื้นดินและการได้รับการยืนยันจากราษฎร พบว่าเกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่าการบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

หลังจากนั้นจึงทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นองค์กรปฏิบัติการสนองพระราชประสงค์ในการค้นคว้าทดลองทำฝนหลวง ควบคู่กับปฏิบัติการหวังผลกู้ภัยแล้งมาโดยตลอด

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงประดิษฐ์ภาพ “ตำราฝนหลวง” ด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อแสดงขั้นตอนและกรรมวิธีการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝน จากเมฆอุ่นและเมฆเย็น และพระราชทานแก่นักวิชาการฝนหลวง ซึ่งถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกันเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2542

ขอบคุข้อมูลจาก :www.royalrain.go.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0