โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"วันจักรี" วันมหามงคลของมหาจักรีบรมราชวงศ์แลสยามประเทศ

สยามรัฐ

อัพเดต 06 เม.ย. 2563 เวลา 01.45 น. • เผยแพร่ 06 เม.ย. 2563 เวลา 01.45 น. • สยามรัฐออนไลน์

เชิงสารคดี/บูรพา โชติช่วง : วันจักรี คือวันที่ระลึกแห่งการขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงยกทัพกลับจากเขมรเพื่อเข้าปราบปรามการจลาจลในกรุงธนบุรี ภายหลังบ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว มุขอำมาตย์ราชมนตรีและราษฎรพร้อมใจอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325

พระองค์ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองเหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี ทรงฟื้นฟูการพระศาสนา พระราชภารกิจที่สำคัญยิ่งของพระองค์คือ ทรงสร้างพระนคร ป้อม ปราสาทราชมณเฑียร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีเฉลิมฉลองพระนคร พระราชทานนามพระนครที่สร้างใหม่นี้ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยามหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” (ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนจากบวรรัตนโกสินทร์ เป็น อมรรัตนโกสินทร์) และโปรดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ ลักษณะเหมือนพระองค์จริง ณ โรงหล่อหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 4 พระองค์ รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 4 ประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของบูรพมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการกราบถวายบังคมทูลปีละ 1 ครั้ง แต่ยังมิได้กำหนดเรียกว่า วันจักรี ครั้นในพ.ศ.2417 โปรดให้ย้ายที่ประดิษฐานพระบรมรูปไปประดิษฐานยังพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท พ.ศ.2425 โปรดให้ย้ายไป ณ พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท

ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานร่วมกับพระมหากษัตริย์ทั้ง 4 รัชกาล ต่อมาโปรดให้ซ่อมแซมพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งถูกเพลิงไหม้ และเปลี่ยนนามใหม่เป็นปราสาทพระเทพบิดร พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ 5 รัชกาล จากพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทมาประดิษฐานที่ปราสาทพระเทพบิดรเมื่อ พ.ศ.2461 ความปรากฏในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2461 เล่มที่ 34 หน้า 116 ว่า

“มีพระบรมราชโองการ ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 5 รัชกาล ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งศิวาไลยมหาปราสาทนั้น ยังไม่เหมาะแก่การพระราชพิธี ซึ่งเนื่องด้วยสักการบูชากราบถวายบังคม จึงโปรดเกล้าฯให้ซ่อมแปลงพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้น เพื่อเปนที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามใหม่ว่า “ปราสาทพระเทพบิดร” แล ทรงพระราชอนุสรคำนึงถึงโบราณกาล ซึ่งได้ประดิษฐานมหาจักรีบรมราชวงศ์พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหา จักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเปนปฐมบรมกระษัตริย์ ได้มีพระเดชพระคุณแก่สยามรัฐประเทศ เมื่อมีโอกาสอันใดอันหนึ่งก็ต้องสแดงความเชิดชู
พระเกียรติคุณเปนที่ระลึกแห่งพระองค์ ในครั้งนี้จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีในวันซึ่งเปนดฤถีคล้ายวันซึ่ง สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จกรีธาทัพกลับถึงพระนคร ได้รับอัญเชิญเสด็จครอบครองสยามราชอาณาจักร เปนปฐมวาระที่พระองค์ดำรงสยามรัฏฐ์ราชอาณาจักร นับว่าเปนวันมหามงคลของมหาจักรีบรมราชวงศ์แลสยามประเทศ”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้มีพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูปในวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี และโปรดฯ ให้เรียกวันนี้ว่า “วันจักรี” นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2461 เป็นต้นมา
พ.ศ.2475 เป็นปีที่กรุงเทพมหานครครบ 150 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ 2 สิ่ง ได้แก่ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา คือสะพานพระพุทธยอดฟ้า และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งพระนคร เพื่อเป็นที่ระลึกในการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานครและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

หมายเหตุ : คัดจากบทความ “๖ เมษายน วันจักรี” กลุ่มเผยแพร่ฯกรมศิลปากร www.finearts.go.th/, เรียบเรียง


สะพานพระพุทธยอดฟ้าระหว่างก่อสร้าง ภาพหนังสือตำนานงานโยธา (2325 - 2556) กรุงเทพมหานคร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0