โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วัดใจรัฐบาล แก้ "หมอกควัน" ยั่งยืน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 18 ต.ค. 2562 เวลา 08.42 น. • เผยแพร่ 18 ต.ค. 2562 เวลา 08.42 น.
หมอกควันเชียงใหม่20190324115252
แฟ้มภาพ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กฤษณา ไพฑูรย์

 

ปีนี้ดูเหมือนว่า ชีวิตประชาชนคนไทยจะประสบกับมรสุมหลายด้าน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ภัยแล้ง น้ำท่วม บวกเพิ่มมาด้วยปัญหาการจราจรติดขัด และวิกฤตมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่บั่นทอนสุขภาพกายและสุขภาพใจ

วันนี้ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นไม่ใช่เกิดเฉพาะในกทม. แต่ทุกหัวเมืองใหญ่กำลังเผชิญกับปัญหาเหล่านี้

อย่างเช่น “เชียงใหม่” จังหวัดที่ในอดีตหลายคนใฝ่ฝันจะไปซื้อที่ดิน ตั้งรกรากเมื่อถึงวัยเกษียณ แต่หลังจากเกิดปัญหา “หมอกควันพิษ” ที่ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ปกคลุมไปทั่วพื้นที่ภาคเหนือต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี ทำให้หลายคนล้มเลิกการใช้ชีวิตปั้นปลายในเชียงใหม่ไปเลยทีเดียว

เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา การแก้ปัญหาหมอกควันพิษของเชียงใหม่ “ไม่เคยได้ผล” ! แถมช่วงต้นปี 2562 กลับหนักหนาสาหัสกว่าทุกปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะปัญหาการเผาตอซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรและประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา

อีก 5 เดือนจะเข้าสู่เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเกษตรกรจะเริ่มเผาวัชพืช เพื่อปรับพื้นที่ปลูกพืชกันอีกแล้ว แม้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งภายในพื้นที่และนอกพื้นที่จะพยายามเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหา และพยายามผลักดันเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อยกระดับการแก้ปัญหาเป็น “วาระแห่งชาติ”

ล่าสุดผู้สื่อข่าวสาวสวยจากจังหวัดเชียงใหม่ “สุธิดา สุวรรณกันธา” รายงานมาว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้บินนำทีมเดินทางขึ้นมาประชุมมอบนโยบายเตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 โดยควงแขน วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ท.ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 เข้าร่วมประชุมกับเจ้าบ้าน 9 จังหวัดภาคเหนือ

แม้ “บิ๊กป้อม” จะบอกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงานต้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชน และขอให้ทุกคนทุ่มเทกำลังและทรัพยากร เพื่อหยุดการเผา และควบคุมไม่ให้ปริมาณฝุ่นละอองสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ตลอดปี 2563

โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยเป็น single command โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องติดตามสถานการณ์และบูรณาการ สั่งการป้องกันและควบคุมการเผาในจังหวัดอย่างเคร่งครัด หากฝุ่นละอองสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ให้ประกาศห้ามเผาโดยทันที

นอกจากนี้ต้องจัดระเบียบการเผาอย่างเป็นระบบ ให้ทยอยเผาในปริมาณที่ฝุ่นละอองไม่เกินมาตรฐาน และสั่งการไปถึงระดับตำบล โดยเฉพาะตำบลเสี่ยงเผาซ้ำซาก ให้นายอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่อย่างใกล้ชิด

ในส่วนของกระทรวงกลาโหมสนับสนุนการลาดตระเวนและดับไฟทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศอย่างเต็มที่ และหารือในกรอบความร่วมมือคณะกรรมการชายแดน เพื่อให้ความร่วมมือและกำชับให้ควบคุมการเผาบริเวณชายแดนอย่างเคร่งครัด

สำหรับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องลดจุดความร้อน (hotspot) ในพื้นที่ป่าให้เป็นศูนย์ ในระหว่างวันที่ 15 มีนาคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 พร้อมกับระดมกำลัง อุปกรณ์ เครื่องมือจากนอกพื้นที่ มาเสริมการลาดตระเวน เฝ้าระวัง และดับไฟป่า ไม่ให้เกิดการลุกลามของไฟจนไม่สามารถควบคุมได้ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือ และร่วมมือกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนตามกลไกอาเซียนอย่างจริงจัง

ในส่วนกระทรวงคมนาคม ให้กวดขันไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ริมทางหลวงโดยเด็ดขาด และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เร่งเปลี่ยนพื้นที่เกษตรทั้งหมดใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ไปสู่การเป็นเกษตรปลอดการเผาภายใน 3 ปี

พร้อมกำกับเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” งดสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตร ที่มาจากการ “บุกรุกป่า” อย่างเด็ดขาด และเตรียมพร้อมการทำฝนหลวงในช่วงวิกฤต

ฟัง ๆ ดูแล้ว แผนงานคล้ายกับหลายปีที่ผ่านมา แถมตบท้ายด้วยการบอกว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้ 9 จังหวัดภาคเหนือ จังหวัดละ 1 ล้านบาทในการเตรียมความพร้อมป้องกันปัญหาหมอกควันปี 2563 ซึ่งสะท้อนใจว่า เงิน 1 ล้านบาท จะเพียงพอกับปัญหาใหญ่ที่เผชิญอยู่เบื้องหน้าหรือไม่

งานนี้คงต้องวัดใจรัฐบาล จะมัวแต่ใช้เงินจำนวนมากไปแจกจ่าย เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจฉาบฉวยเฉพาะหน้า หรือคิดจะนำเงินงบประมาณไปใช้แก้ปัญหาระยะยาวอย่างเป็นระบบในทุก ๆ เรื่อง เพื่อให้ประเทศไทยเติบโตไปอย่างยั่งยืน ต้องติดตามกันต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0