โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วัดโปรดเกศเชษฐาราม กับจิตรกรรมไทยที่ถูกซ่อนไว้ ถูกพบได้อย่างไร

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 09 ก.ค. 2564 เวลา 17.49 น. • เผยแพร่ 09 ก.ค. 2564 เวลา 17.46 น.
ภาพปก-ภิกษุณี
(บน) ภาพจิตรกรรมที่ถูกซ่อนในซุ้มด้านตรงข้ามกับพระประธานเป็นรูปพระอัครสาวกและพระอัครสาวิกายืนพนมมือ, (ล่าง) ส่วนซุ้มด้านข้างทั้ง 2 ฝั่งของพระประธานแวดล้อมไปด้วยพระสาวิกานั่งพนมมือ

วัดโปรดเกศเชษฐาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า“วัดปากคลอง” ตำบาลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของคลองลัดหลวง

ผู้สร้างวัดนี้คือ พระยาเพชรพิไชย (เกตุ) ต้นสกุล “เกตุทัต” ซึ่งเป็นบุตรของพระยาเพชรพิไชย (หง) ต้นสกุล “หงสกุล” วัดนี้สร้างในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) แต่มาแล้วเสร็จในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)

เมื่อย้อนกลับไป 80-100 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านในละแวกนั้นรู้จักวัดแห่งนี้กันเป็นอย่างดี บ้างก็เรียกวัดนี้ว่า “วัดปากคลอง” คำบอกเล่าของชาวบ้านที่เลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาได้เล่าตรงกันถึงพระอุโบสถของวัดแห่งนี้ว่า “เป็นพระอุโบสถก่ออิฐถือปูนธรรมดาผนังฉาบด้วยปูนเรียบ” และได้ทาสีบริเวณรอบๆ ฝาผนังเพื่อลบรอยคราบน้ำฝนที่รั่วเข้ามาในพระอุโบสถอยู่หลายครั้งด้วยกัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 มีการบูรณะวัดครั้งใหญ่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากพระอุโบสถได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมากโดยเฉพาะส่วนของโครงสร้างภายในพระอุโบสถทางวัดจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อที่จะดำเนินการบูรณะและปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ซึ่งเป็นทายาทสืบตระกูลของผู้สร้างวัดแห่งนี้ เป็นประธานกรรมการ และได้ขอกองอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบการบูรณะในด้านวิศวกรรมโครงสร้างและในด้านอนุรักษ์ศิลปะให้คงอยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด

จากคำเล่าขานของชาวบ้านที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ก่อนที่ทางวัดจะมีการส่งมอบงานให้บริษัทศิวกรการช่างดำเนินการบูรณะ เกิดการร้าวของปูนบริเวณฝาผนังและมีเสียงดังเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องให้คนงานของบริษัทศิวกรการช่างได้กะเทาะผนังปูนที่ถูกฉาบปิดเอาไว้ ซึ่งพบว่าได้หมดสภาพจากการเวลา

จากการสำรวจสภาพของอิฐด้านหน้าตรงข้ามพระประธานพบร่องรอยว่าผนังชั้นในไม่ได้เป็นผนังที่ก่อด้วยอิฐและฉาบปูนอย่างที่คิดเอาไว้ แต่พบว่ามีการเจาะผนังทำเป็นช่องลึกเข้าไปในผนัง แต่มีอิฐกรุอัดไว้เต็มไปหมด จึงแจ้งนายช่างผู้ควบคุมงานและได้รายงานให้ทางคณะกรรมการบูรณะและปฏิสังขรณ์ทราบ

ช่างจึงได้ลองสำรวจผนังภายในพระอุโบสถทุกด้าน พบว่ามีช่องเป็นซุ้ม ทั้งหมด 36 ช่อง มีอิฐกรุอัดแน่นทุกด้าน โดยด้านหน้าซุ้มดังกล่าวจะอยู่เหนือระหว่างช่องประตู สูงจากพื้นประมาณ 3 เมตร รวม 3 ช่องซุ้ม และผนังทั้ง 2 ด้านก็มีซุ้มอยู่เหนือขอบหน้าต่าง เป็นช่องเล็กกว่าซุ้มที่อยู่ด้านตรงข้ามกับพระประธาน รวม 12 ช่องซุ้ม

จากนั้นได้ให้คนงานค่อยๆ สกัดอิฐที่อยู่เต็มช่องซุ้มดังกล่าวออก จึงได้พบว่ามีจิตรกรรมสีฝุ่น (Tempera) ประกอบกับมีการปิดทองประดับ เป็นรูปพระพุทธสาวิกานั่งพนมมือ และบนผนังด้านในตรงกับพระประธานเป็นภาพพระอัครสาวกและพระอัครสาวิกายืนพนมมือ มีความสมบูรณ์ของภาพถึง 60% และในบางส่วนมีการหลุดลอกของสีอยู่บ้าง

ต่อมาได้ให้คนงานลองสกัดผนังปูนที่อยู่ด้านหลังขององค์พระประธานดูเพราะคาดว่าน่าจะมีจิตรกรรมที่ถูกซ่อนไว้อีกเช่นกัน เมื่อช่างได้สกัดปูนจึงพบว่ามีซุ้มซ่อนอยู่อีก 5 ซุ้ม แต่คราวนี้ไม่ได้เป็นจิตรกรรมภาพเขียนทั้งหมดเหมือนกับผนังทั้ง 3 ด้านที่ผ่านมา มีอยู่ 4 ซุ้มที่เป็นภาพประติมากรรมในรูปแบบที่เรียกกันว่าภาพนูนสูง (High relief) เป็นรูปพระพุทธสาวกยืนพนมมือผินหน้าไปหาพระประธานประกอบกับระบายสีฝุ่นในลักษณะของเทคนิคการเขียนสีภาพปูนเปียกในส่วนที่เป็นผ้าจีวรและมีการปิดทองในส่วนผิวขององค์พระพุทธสาวก แต่อีกซุ้มตรงกลางหลังพระประธานเป็นภาพเขียนสีรูปดอกไม้ร่วง

ภาพจิตรกรรมที่ถูกซ่อนนี้เข้าใจว่าน่าจะเป็นฝีมือชั้นครูในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สังเกตได้จากการตัดเส้น (Outline) และการลงรายละเอียดไม่ว่าจะเป็น ปาก คาง คิ้ว และการเขียนอิริยาบถต่างๆ เพราะการตัดเส้นเป็นแนวเส้นที่แสดงให้เห็นถึงความเด็ดขาดมั่นใจ และอ่อนไหวในลักษณะอิสระและไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพาดมือจับพู่กันสอดเข้าไปเขียนและระบายสีที่พื้นของผนังที่ลึกเข้าจากระนาบของพื้นผนังกว่า 10 นิ้ว

ในการบูรณะครั้งนี้ได้ขอความร่วมมือจากกรมศิลปากร ให้ส่งช่างอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมมาดำเนินการอนุรักษ์ในส่วนที่สมบูรณ์พร้อมทั้งเขียนซ่อมใน่วนที่ชำรุดให้เหมือนของเดิมได้มากที่สุดและได้ลงน้ำยารักษาสภาพเพื่อให้คงทนต่อไป

ข้อสันนิษฐานเพิ่มเติม ภาพจิตรกรรมที่ถูกซ่อน

1. จากคำบอกเล่าจากท่านผู้รู้หลายๆ ท่านสันนิษฐานตรงกันว่า เหตุที่มีการฉาบปูนปิดภาพจิตรกรรมนั้นเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงผนวชมาเป็นระยะเวลานานถึง 27 พรรษา พระองค์ได้ทรงศึกษาและค้นคว้าภาษาบาลีและพระไตรปิฎกอย่างแตกฉาน จึงเล็งเห็นว่าดินแดนสุวรรณภูมิไม่เคยมีพระภิกษุณีเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีเพียงพระอรหันต์ 2 รูป ที่เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ ในความเข้าใจของผู้รู้หลายท่าน จึงกล่าวว่า

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ไม่ทรงต้องพระราชประสงค์ให้มีรูปภาพภิกษุณี จึงได้ให้มีการฉาบปูนปิดภาพของพระภิกษุณีไว้ แล้วพระราชทานภาพวาดจิตรกรรมแบบตะวันตกของขรัวอินโข่งมาประดับแทนภาพภิกษุรีเหล่านั้นที่ได้ฉาบปิดไว้”

2. อาจเกิดจากรอยร้าวของตัวอาคารพระอุโบสถที่จะต้องรับน้ำหนักมากเนื่องจากเครื่องมุงหลังคาเป็นกระเบื้องดินเผา สันนิษฐานว่าเมื่อเกิดรอยร้าวขึ้นพระผู้ดูแลพระอุโบสถในขณะนั้น จึงได้ให้นำอิฐมาอัดในช่องว่างเหนือช่องของประตูและหน้าต่าง เพื่อช่วยเสริมให้ผนังแข็งแรงขึ้น จากนั้นจึงได้ฉาบปูนด้านนอกให้เรียบเสมอกับผนังเดิมที่มีอยู่

 

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0