โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วัดสะพานหิน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กับ พระอัฏฐารศ พ่อขุนรามฯ ทรงช้างไปไหว้

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 16 ต.ค. 2566 เวลา 02.49 น. • เผยแพร่ 12 ต.ค. 2566 เวลา 17.23 น.
ภาพปก - วัดสะพานหิน
วัดสะพานหิน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย (ภาพถ่ายโดย ธวัชชัย รามนัฏ)

วัดสะพานหิน เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนเนินภูเขาลูกเตี้ยๆ ทางทิศตะวันตกของ เมืองสุโขทัย ชื่อวัดเรียกตามลักษณะทางขึ้นที่ปูลาดด้วยหินจากตีนเขาขึ้นไป จนถึงบริเวณลานวัดบนภูเขา

ที่แห่งนี้มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ น่าจะตรงกับที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงเมืองสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหงว่า “…ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันณึ่งมนใหญ่สูงงามแก่กม มีพระอัฎฐารศอันณึ่งลุกยืน…” ซึ่ง “พระอัฏฐารศ” ที่ปรากฏในศิลาจารึกนั้น เข้าใจว่าหมายถึง พระพุทธรูปยืนปางประธานอภัยที่วัดสะพานหินนี่เอง และน่าจะเป็นวัดที่พ่อขุนรามคำแหงทรงช้างเผือกชื่อ “รูจาคีรี” เพื่อไปนบพระในวัดนี้ทุกวันข้างขึ้นและแรม 15 ค่ำ ดังปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักเดียวกันนี้ว่า

“…วันเดือนดับเดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือกกระพัดลยาง เที้ยรย่อมทองงา…ขวา ชื่อรูจาครี พ่อขุนรามคำแหง ขึ้นขี่ไปนบพระ(เถิง) อรัญญิกแล้วเข้ามา…”

บริเวณลาน วัดสะพานหิน เมืองสุโขทัย มีกลุ่มโบราณสถานประกอบด้วย

1. ฐานวิหาร 5 ห้อง ก่ออิฐ เสาทำด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนฐานกว้าง 20 เมตร ยาว 26 เมตร ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นยืน ปางประทานอภัย ยกพระหัตถ์ขวา สูง 12.50 เมตร เรียกว่า “พระอัฏฐารศ”

2. ฐานเจดีย์ขนาดเล็ก 6 ฐาน กระจายทั่วไปบนลานวัด มีอยู่องค์หนึ่งมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ฐานกว้าง 4×4 เมตร อยู่ตรงเชิงบันไดด้านทิศตะวันออก

3. สะพานหิน ที่เป็นทางขึ้นอยู่ด้านทิศตะวันออก ทอดยาวจากถนนเชิงภูเขาจนถึงลานวัด ปูด้วยหิน ยาวประมาณ 300 เมตร นอกจากนี้ ทางด้านทิศเหนือมีทางขึ้นอ้อมเขา เข้าใจว่าน่าจะเป็นทางช้างขึ้น

[ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กรกฎาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0