โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วัดราชประดิษฐ วัดที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างเพื่อเป็น “ที่มั่น” ของคณะสงฆ์ธรรมยุติ

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 30 ก.ค. 2565 เวลา 17.32 น. • เผยแพร่ 30 ก.ค. 2565 เวลา 17.31 น.
ภาพพิมพ์ วัดราชประดิษฐ พระราชอุทยานฯ
ภาพพิมพ์ลายเส้นฝีมือชาวตะวันสมัยรัชกาลที่ 5 “THE ROYAL GARDEN,SIAM” หรือพระราชอุทยานสราญรมย์ ในภาพจะเห็นวัดราชประดิษฐติดกับพระราชอุทยานฯ ทางด้านทิศใต้ปรากฏพระหารหลวง ปาสาณเจดีย์ พระปรางค์เขมร ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) และหมู่กุฏิของวัด (ภาพจาก The Living Rules of Mankind 1902, p. 244)

ในบรรดาพระมหากษัตริย์ของไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชยาวนานที่สุดคือ 27 พรรษา (พ.ศ. 2367-94) และใน พ.ศ. 2373 ทรงสถาปนาคณะสงฆ์ธรรมยุตขึ้น พระองค์จึงทรงมีพระสงฆ์หลายรูปเป็น “สหาย”, “ลูกศิษย์” ฯลฯ และทรงมีความผูกพันกับศาสนจักรอยู่มาก ปลายรัชกาลจึงทรงซื้อที่ดินแปลงหนึ่งสำหรับสร้าง “วัดราชประดิษฐ”

เรื่องราวการวัดราชประดิษฐนี้ พิญชา สุ่มจินดา เขียนไว้ใน “ราชประดิษฐพิพิธทรรศนา” ซึ่งมีทั้งเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างครบถ้วน จึงขอนำบางช่วงบางตอนมาเสนอแก่ท่านผู้อ่าน

เริ่มจากทรงซื้อที่ดินสร้างวัด ว่ากันตามจริง เมื่อพระองค์ทรงเป็น “พระเจ้าแผ่นดิน” ทรงเป็นประธานของที่ดินทั่วพระราชอาณาจักร หากมีพระราชประสงค์ที่ดินใดมาใช้สอย ย่อมสามารถใช้พระราชอำนาจ “เวนคืน” ได้

แต่พระองค์ทรงเห็นว่า ทรัพยสิทธิของแผ่นดินเป็นของกลาง ไม่ใช่ของส่วนพระองค์ ไม่ควรจะยกมาเป็นประโยชน์ต่อคณะสงฆ์ธรรมยุตโดยพลการให้เสียประโยชน์ของส่วนรวม จึงทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,098 บาท ซื้อที่ดิน 2 ไร่ 298 ตารางวา บริเวณทิศเหนือของพระราชวังสราญรมย์ ซึ่งเคยเป็นสวนกาแฟในสมัยรัชกาลที่ 3

แล้วทำไมพระองค์ต้องทรงสร้างวัดขึ้นใหม่

ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นวัดราชประดิษฐ ที่จะสร้างขึ้นใหม่นี้ เป็น “ที่มั่น” ของคณะสงฆ์ธรรมยุต ด้วยวัดหลวงธรรมยุตส่วนใหญ่เคยเป็นพระอารามหลวงมหานิกายมาก่อน ทรงห่วงใย “ศิษย์หลวงเดิม” หรือบรรดาพระสงฆ์ธรรมยุตที่พระองค์ทรงสอนมาจะไม่มีที่อาศัย

เพราะเมื่อทรงครองราชสมบัติแล้ว ศิษย์หลวงเดิมยังมิได้รับพระราชทานส่วนพระราชทรัพย์ เหมือนข้าหลวงเดิมที่เคยยรับใช้เมื่อยังทรงดำรงสมณเพศ ด้วยทรงเกรงว่า หากมีการนำเงินที่ได้สึกออกไปมีภรรยา ซื้อสุรา เล่นพนัน ฯลฯ เป็นการเสื่อมเสียพระราชศรัทธา จึงพระราชทานที่ดินที่ทรงซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้เป็นวิสุงคามสีมาวัดราชประดิษฐ เพื่อเป็น “ที่มั่น” ของคณะสงฆ์ธรรมยุต

ที่ดินผืนนี้ไม่ทรงยินยอมให้สงฆ์ที่มิใช่ธรรมยุตเข้ามาอาศัยเป็นเจ้าของ แม้แต่สงฆ์ธรรมยุตเองหากกลับใจไม่เดินตามแนวทางธรรมยุต หรือเปลี่ยนศาสนาก็ไม่ทรงยินยอมให้อาศัยในวัดราชประดิษฐเช่นกัน หากไม่มีคณะสงฆ์ธรรมยุตในโลกนี้ ก็ทรงยกที่ดินของวัดราชประดิษฐให้เป็นของพระพุทธองค์ที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน

หรือหากในอนาคตพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดทรงมีพระราชประสงค์ดินของวัดราชประดิษฐ หรือจะให้คณะสงฆ์อื่นที่ไม่ใช่ธรรมยุตมาอาศัย จะต้องทรงซื้อที่ดินพื้นที่เท่ากันหรือใหญ่กว่าในราคาไม่น้อยกว่าที่พระองค์ทรงซื้อ (อยู่ในบริเวณที่ชุมชนรังเกียจ) มาแลกกับที่ดินของวัดราชประดอิษฐ มิเช่นนั้นจะทรงเป็น “ปสัยหาวหารอทินนาทาน” โจรกรรมโดยใช้อำนาจกรรโชกหรือลักทรัพย์

ด้วยทำเลของวัดราชประดิษฐอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง เมื่อวัดสร้างเรียบร้อย หากพระองค์ทรงว่างจากพระราชกิจจะเสด็จทรงพระแคร่คนหามมาวัดราชประดิษฐ เมื่อทรงสนทนาธรรมกับสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) อยู่ที่กุฏิท่านครั้งละนานๆ จนบางคราวถึงลงบรรทมคว่ำคุยกัน

ข้อมูลจาก :

พิชญา สุ่มจินดา. ราชประดิษฐพิพิธทรรศนา, วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม. ตุลาคม 2555

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0