โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วรรณกรรมเยอรมัน 10 เล่ม ที่ควรอ่านก่อนตาย

The Momentum

อัพเดต 23 ต.ค. 2561 เวลา 02.26 น. • เผยแพร่ 23 ต.ค. 2561 เวลา 02.26 น. • บุญโชค พานิชศิลป์

In focus

  • นิยายเริ่มต้นด้วยประโยคแปลกปลอม อย่างเช่น “ในเช้าวันหนึ่ง เมื่อเกรกอร์ ซัมซาตื่นขึ้นมาจากความฝันที่ซับซ้อน เขาก็พบว่าร่างของเขาที่อยู่บนเตียงนอนกำลังกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เหมือนแมลงขนาดมหึมา…”
  • ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองในโปแลนด์ ตอนอายุครบสามขวบ ออสการ์ตัดสินใจหยุดการเจริญเติบโต หลังจากพลัดตกบันไดห้องใต้ถุนบ้านเขาก็คงสภาพเป็นเด็ก ที่หอบหิ้วกลองสังกะสีติดตัวอยู่ตลอดเวลา
  • ‘มิชาเอล แบร์ก’ เด็กหนุ่มวัย 15 แอบมีสัมพันธ์รักกับผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งอายุมากกว่าเขาถึง 20 ปี กระทั่งเขากลายเป็นนักศึกษากฎหมายและมีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการไต่สวนคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมสงครามของเหล่านาซี

นิยายสิบเล่มนี้ไล่เรียงจากยุคปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงล่าสุดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีตั้งแต่หนังสือของผู้ได้รับรางวัลโนเบล หนังสือที่ถูกเผาทำลายโดยพลพรรคนาซี จนถึงวรรณกรรมคลาสสิกยุคใหม่ของเยอรมันที่ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์นานาชาติ ทั้งสิบเล่มนี้คือหนังสือและนักเขียนที่มีอิทธิพลมากที่สุดของเยอรมนี

Die Blechtrommel (The Tin Dum) / Günter Grass (1959)

งานวรรณกรรมยุคหลังสงครามชิ้นสำคัญของเยอรมนี ที่กึนเทอร์ กราสส์เล่าเรื่องราวจากมุมมองของเด็กพิเศษ ‘ออสการ์ มัตเซราต’ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองในโปแลนด์ ตอนอายุครบสามขวบ ออสการ์ตัดสินใจหยุดการเจริญเติบโต หลังจากพลัดตกบันไดห้องใต้ถุนบ้านเขาก็คงสภาพเป็นเด็ก ที่หอบหิ้วกลองสังกะสีติดตัวอยู่ตลอดเวลา หนังสือเล่มนี้นับเป็นวรรณกรรมที่ ‘สมบูรณ์ที่สุดในศตวรรษที่ 20’ ในบรรดาความงามและความหายนะ อันได้แก่ อารมณ์ ความรู้สึก ประวัติศาสตร์ และประวัติความเป็นมา

 

Der Tod in Venedig (Death in Venice) / Thomas Mann (1912)

แม้ว่าผลงานนิยายเรื่อง Buddenbrooksและ Der Zauberberg(The Magic Mountain) ของโทมาส มันน์อาจเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง แต่ ‘ความตายในเวนิซ’ ดูจะเป็นการเสพอรรถรสในงานเขียนของเขาได้ง่ายและดีกว่า ตัวละคร ‘กุสตาฟ ฟอน อาเชนบาค’ เป็นนักเขียนมีชื่อเสียงที่มักใช้เวลาช่วงฤดูร้อนเดินทางไปพักผ่อนที่เวนิซ ระหว่างอาหารค่ำวันหนึ่ง เขาสะดุดตากับเด็กหนุ่มคนหนึ่งเข้า เขารู้สึกจับใจในรูปงามนั้น จนถึงกับคอยเฝ้าติดตาม และแสร้งทำเป็นลืมเกี่ยวกับภัยร้ายที่กำลังคุกคามไปทั่วเมือง

 

Der Vorleser (The Reader) / Bernhard Schlink (1995)

ช่วงปลายทศวรรษ 1950s ‘มิชาเอล แบร์ก’ เด็กหนุ่มวัย 15 แอบมีสัมพันธ์รักกับผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งอายุมากกว่าเขาถึง 20 ปี และไม่เคยลืม กระทั่งเขากลายเป็นนักศึกษากฎหมายในหลายปีต่อมา มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการไต่สวนคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมสงครามของเหล่านาซี และภายในศาล เขาสามารถจดจำผู้หญิงที่เขาเคยมีความสัมพันธ์ด้วยได้ นิยายของแบร์นฮาร์ด ชลิงค์เรื่องนี้ กลายเป็นที่รู้จักของนักอ่านทั่วโลกเมื่อมันได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ และเป็นหนังสือนิยายจากเยอรมนีเล่มแรกที่ติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ของนิวยอร์ก ไทม์ส ส่วนเคท วินสเล็ต (Kate Winslet) ก็ได้รับรางวัลออสการ์ในปี 2008 ฐานะนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่องนี้

 

Im Westen Nichts Neues (All Quiet on the Western Front) / Erich Maria Remarque (1929)

เป็นหนึ่งในหนังสือเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง นิยายเล่มนี้ของเอริค มาเรีย เรอมาร์ก เล่าเรื่องราวของทหารเยอรมัน ‘พอล บอยเมอร์’ ที่มีมุมมองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ต่อสงครามในยุโรประหว่างปี 1914-1918 เป็นเรื่องราวชีวิตประจำวันของทหารคนหนึ่ง มีรายละเอียดทั้งความรุนแรงของการสู้รบ และชีวิตความเป็นอยู่ของแนวหน้า นิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ในปี 1929 และได้รับความสนใจจากนานาชาติอย่างรวดเร็ว จนได้รับการแปลมากถึง 22 ภาษา ยอดขายสูงถึง 2.5 ล้านเล่มภายในเวลา 18 เดือน และเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่นาซีสั่งเผาทำลาย

 

Das Parfum (Perfume) / Patrick Süskind (1985)

เรื่องราวการเดินทางของเด็กหนุ่มผู้มีสัมผัสพิเศษในเรื่องของกลิ่น ที่ชักนำเขาไปสู่การกระทำที่น่าสยดสยอง นิยายของพาทริค ซึสคินด์พาผู้อ่านกลับไปในฝรั่งเศสยุคศตวรรษที่ 18 และเผยให้เห็นความหายนะที่เกิดขึ้นในกรุงปารีส เมื่อครั้งที่นิยายเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1985 มันกลายเป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์ในเยอรมนีทันที และติดอันดับหนังสือขายดีของนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ แดร์ สปีเกล นานถึง 8 ปี ก่อนประสบความสำเร็จในต่างประเทศ

Die verlorene Ehre der Katharina Blum (The Lost Honour of Katharina Blum) / Heinrich Böll(1974)

‘คาทารินา บลูม’ ตัวละครของไฮน์ริช เบิลล์ เป็นผู้หญิงสามัญชนคนธรรมดา ที่ใครได้รู้จักแล้วจะเชื่อว่า เธอไม่ใช่คนชั่วร้ายหรือคิดทำร้ายใครได้ แต่เมื่อวันหนึ่งเธอไปมีความสัมพันธ์และให้ความช่วยเหลืออาชญากรซึ่งเป็นหนุ่มหนีภาระทางการทหาร เธอจึงตกเป็นเป้าของสื่อหัวสี ที่พยายามเกาะติดและขุดคุ้ยเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของเธอ นิยายเรื่องนี้ เบิลล์สะท้อนให้เห็นภาพสังคมและอิทธิพลของสื่อเยอรมันในยุคหลังสงคราม และระหว่างที่ประเทศกำลังพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน

 

Die Verwandlung (Metamorphosis) / Franz Kafka (1915)

ฟรานซ์ คาฟกา เกิดที่ปรากเมื่อปี 1883 ในขณะนั้นปรากยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสโตร-ฮังกาเรียน และคาฟกาใช้ภาษาเยอรมัน ผลงานของเขามีอิทธิพลต่อนักเขียนในยุคศตวรรษที่ 20 กระทั่งมีการบัญญัติคำศัพท์อย่าง Kafkaesque ขึ้นมา นิยายเรื่องนี้น่าจะเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา และคล้ายกับหลายๆ เรื่องที่เขามักเริ่มต้นด้วยประโยคแปลกปลอม อย่างเช่น “ในเช้าวันหนึ่ง เมื่อเกรกอร์ ซัมซาตื่นขึ้นมาจากความฝันที่ซับซ้อน เขาก็พบว่าร่างของเขาที่อยู่บนเตียงนอนกำลังกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เหมือนแมลงขนาดมหึมา…”

Berlin Alexanderplatz / Alfred Döblin(1929)

ในปี 1929 ที่นิยายเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ สาธารณรัฐไวมาร์กำลังถึงจุดพีค ก่อนที่เศรษฐกิจจะพังทลายในเวลาต่อมา เบอร์ลินในช่วงปลายทศวรรษ 1920s แตกต่างจากเมืองไหนๆ ในโลกตรงที่มีความหลากหลาย เสรี และคึกคักตลอดเวลา ตัวเอกของเรื่องคือ ‘ฟรานซ์ บีเบอร์คอฟ’ ชายหนุ่มที่เพิ่งพ้นโทษจากคุก สาบานกับตัวเองว่าต่อไปจะมีชีวิตที่มั่นคงและมีคุณค่า แต่แล้วไม่ช้าเขาก็หวนกลับเข้าสู่โลกใต้ดินอีกครั้ง นิยายของอัลเฟรด เดอบลินได้รับการโหวตให้เป็นหนึ่งใน ‘The Top 100 Books of All Time’ ในปี 2002 ของหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน

Imperium (Imperium: A Fiction of the South Seas) / Christian Kracht (2012)

หนุ่มนูดิสต์กินมังฯ จากเมืองนูเร็มเบิร์ก ล่องเรือเดินทางไปยังเกาะในแปซิฟิกใต้ เพื่อก่อตั้งศาสนาบูชามะพร้าวและดวงอาทิตย์ ฟังดูคล้ายนิยายเซอร์ แต่จริงๆ แล้ว Imperium นั้นมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง ที่ถูกปรุงแต่งด้วยอารมณ์ขัน คริสเตียน คราคต์จัดเป็นนักเขียนวรรณกรรมเยอรมันรุ่นใหม่ ที่เล่าเรื่องราวอะไรได้มากกว่าความประหลาดและความจริง ผ่านตัวละครที่ดูสุดโต่งของเขา นอกจากจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเคลื่อนไหว ‘หัวรุนแรง’ แห่งศตวรรษที่ 20 แล้ว เขายังนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจอื่นๆ ด้วย

Effi Briest / Theodor Fontane (1896)

หนังสือเล่มนี้เทโอดอร์ ฟอนทาเนเขียนขึ้นเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 เล่าเรื่องราววิถีชีวิตที่ผ่านมาและกำลังเป็นไปของผู้คนในเยอรมนีในยุคสมัยที่ความศิวิไลซ์เริ่มรุกคืบ ‘เอฟฟี บรีสต์’ เป็นหญิงสาวสูงศักดิ์จากปรัสเซีย แต่งงานกับนายทหารวัยสูงกว่า แต่แล้วปัญหาใหญ่ก็มีตามมา เมื่อผู้สามีเริ่มรักภรรยาน้อยลง นิยายเรื่องนี้จัดเป็นวรรณกรรมเยอรมันแนวเรียลิสติกชิ้นสำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นความงดงามและโศกนาฏกรรมของคนในยุคสมัยนั้น

 

อ้างอิง:

  • http://www.literaturtipps.de/topthema/thema/weltliteratur-was-muss-ich-gelesen-haben.html
  • https://www.die-besten-aller-zeiten.de/buecher/100-besten-zdf/

Fact Box

กึนเทอร์ กราสส์(1927-2015) เป็นนักเขียนเยอรมันยุคปัจจุบันที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง จากผลงานทั้งหมดส่งให้เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เมื่อปี 1999 The Tin Drumเป็นผลงานชิ้นสำคัญ และเป็นนิยายเรื่องแรกของเขาที่กลายเป็นหนึ่งในวรรณกรรมของโลก

โทมาส มันน์(1875-1955) ประสบความสำเร็จตั้งแต่ Buddenbrooksนิยายเรื่องแรกของเขา และทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมในปี 1929 ตอนนั้นเขาอายุ 54 ปี และเพิ่งมีผลงานหนังสือเพียง 20 เล่ม ปี 1938 เขาต้องลี้ภัยไปสหรัฐอเมริกา และได้เป็นพลเมืองอเมริกันในปี 1944

แบร์นฮาร์ด ชลิงค์เกิดเมื่อปี 1944 มีอาชีพเป็นนักกฎหมายและนักเขียน มีชื่อเสียงขึ้นจากผลงานหนังสือ The Readerปัจจุบันใช้ชีวิตเทียวไปเทียวมาระหว่างนิวยอร์กและเบอร์ลิน

ไฮน์ริช เบิลล์(1917-1985) ต้องพักการเรียนเยอรมันศึกษาและปรัชญาในปี 1939 เนื่องจากถูกเกณฑ์ไปสงคราม ในปี 1945 เดินทางกลับมายังเมืองโคโลญน์อีกครั้งในฐานะเชลยสงครามของทหารอเมริกัน แล้วเริ่มเข้าเรียนใหม่ เขาเป็นนักเขียนเยอรมันยุคหลังสงครามที่มีชื่อเสียง และเคยได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมเมื่อปี 1972

ฟรานซ์ คาฟกา(1883-1924) เจ้าของผลงานหนังสือหลายเล่ม ที่ส่วนใหญ่ มักซ์ โบรด (Max Brod) เพื่อนสนิทและคนที่ไว้วางใจ นำออกมาตีพิมพ์ภายหลังจากที่คาฟกาเสียชีวิตไปแล้ว และค้านกับความประสงค์ของคาฟกา แต่สุดท้ายผลงานของคาฟกาก็กลายเป็นสิ่งมีค่าสำหรับแวดวงวรรณกรรมโลก

อัลเฟรด เดอบลิน(1878-1957) นักเขียนจากครอบครัวชาวยิว เจ้าของผลงานวรรณกรรมสมัยใหม่ ในรูปแบบของนิยาย เรื่องสั้น และบทละครวิทยุ ต้องลี้ภัยออกจากเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และยื่นขอสัญชาติฝรั่งเศสในปี 1936

คริสเตียน คราคต์เกิดเมื่อปี 1966 เป็นนักเขียนจากสวิตเซอร์แลนด์ ที่โลดแล่นอยู่ในแวดวงสื่อและวรรณกรรมของเยอรมนี ช่วงปลายทศวรรษ 1990s เขาเคยใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ นานหลายปี และเขียนบทความให้กับสื่อเยอรมันหลายฉบับ

เทโอดอร์ ฟานทาเน(1819-1898) นักเขียนจากครอบครัวเภสัชกร มีผลงานนิยายขนาดสั้นเรื่องแรกในปี 1839 ครั้นเข้าไปทำงานในร้านขายยาของครอบครัวแล้ว เขาก็เริ่มเขียนบทกวี ต่อเมื่อมีช่องทางเข้าสู่แวดวงวรรณกรรม เขาก็หันเหมายึดอาชีพเป็นนักเขียนแทน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0