โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วงค์ ตาวัน | ไฟเผาบ้าน-เผาบิลลี่

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 18 พ.ย. 2562 เวลา 06.23 น. • เผยแพร่ 18 พ.ย. 2562 เวลา 06.23 น.
ดีเอสไอ บิลลี่-2

จากคดีหายตัวไปของบิลลี่ หรือนายพอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยง ตั้งแต่ 17 เมษายน 2557 ผ่านไป 5 ปีเศษ จนกระทั่ง 3 กันยายน 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษแถลงความคืบหน้าสำคัญว่าพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์และกะโหลกที่อยู่ภายในถังน้ำมัน ยืนยันว่าบิลลี่เสียชีวิตไปแล้ว โดยการถูกฆ่าและเผาอำพรางศพ

“จากนั้น 11 พฤศจิกายน 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบอนุมัติหมายจับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและพวกรวม 4 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าบิลลี่”

เป็นจุดสำคัญของคดีที่กลายเป็นที่สนใจของคนทั้งสังคม รวมทั้งเป็นที่จับตาขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

แม้แต่ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีมติตีตก การยื่นขอให้ป่าแก่งกระจานได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยระบุ 3 เหตุผล หนึ่งในนั้นคือ ความกังวลในการจัดการชุมชนพื้นที่ป่าแก่งกระจาน

นั่นก็คือเหตุการณ์ขับไล่กะเหรี่ยงบางกลอยออกมาจากผืนป่า โดยใช้วิธีดุดันเด็ดขาดแบบเจ้าหน้าที่รัฐ

เป็นเรื่องราวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554

ที่สำคัญ นี่เป็นเหตุการณ์เริ่มต้น ที่ทำให้นายชัยวัฒน์ขณะเป็นหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจาน เข้ามาเกี่ยวพันกับบิลลี่ ในฐานะเด็กหนุ่มที่มีความรู้เป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่อุทยานฯ

อันที่จริงการหายตัวไปของบิลลี่ที่ยาวนานถึง 5 ปี น่าจะเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งในการติดตามหาร่องรอยและพยานหลักฐานต่างๆ

ทั้งเมื่อดีเอสไอตามพบชิ้นส่วนกระดูกและถังน้ำมัน 200 ลิตร ที่เชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ในการเผาทำลายศพ

ถ้าเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่าเป็นสูตรสำเร็จของกระบวนการเจ้าหน้าที่รัฐในการอำพรางศพเหยื่อ ด้วยการนำมาเผาป่นในถังน้ำมัน 200 ลิตร แล้วนำไปสลายในน้ำ เพื่อไม่ให้หลงเหลือหลักฐานใดๆ

“อันเป็นวิธีการที่ไม่เคยจับกุมคลี่คลายคดีได้”

คดีนี้จึงถือได้ว่าดีเอสไอทำได้สำเร็จอย่างน่าชื่นชม สามารถยืนยันหลักฐานบ่งชี้ว่าได้ว่าบิลลี่ถูกฆ่า จนนำไปสู่การตั้งข้อกล่าวหาต่อกลุ่มคนที่พยานหลักฐานเกี่ยวพัน

กระนั้นก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังไม่อาจสรุปได้ว่านายชัยวัฒน์กับพวกมีความผิดจริง เพราะเป็นขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น

ยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา บทสรุปสุดท้ายขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาล

ก่อนจะมาถึงวันที่นายชัยวัฒน์ อดีตหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจาน ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ต้องตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นนั้น ควรต้องย้อนเรื่องราวความเป็นมาให้เห็นกันชัดๆ

เริ่มจากต้นปี 2554 ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำโดยนายชัยวัฒน์ เข้าขับไล่ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยบนออกจากผืนป่า เนื่องจากเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ แต่ชุมชนได้ต่อสู้ว่า ตั้งรกรากอยู่ตรงนี้มากว่าร้อยปี ก่อนจะประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ อีกทั้งไม่เคยมีพฤติกรรมทำลายป่า อยู่อย่างเคารพธรรมชาติ

“สุดท้ายการขับไล่รุนแรงถึงขั้นเผาทำลายบ้าน เผายุ้งฉาง เครื่องมือทางการเกษตร ทำให้ชาวกะเหรี่ยงต้องต่อสู้ตามขั้นตอนกฎหมาย”

เรื่องราวของชุมชนกะเหรี่ยงแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง โดยเฉพาะปู่คออี้ นายโคอิ มีมิ ผู้นำคนสำคัญ ที่มีความโดดเด่น โดยมีบิลลี่ผู้เป็นหลานชาย เด็กหนุ่มที่ได้มีโอกาสเข้าเรียนหนังสือ ทำให้มีความรู้ เป็นตัวตั้งตัวตีในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อใช้ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่อุทยานฯ

“ต่อมา 10 กันยายน 2554 นายทัศน์กมล โอบอ้อม หรืออาจารย์ป๊อด นักการเมืองสังกัดพรรคเพื่อไทยเพชรบุรี ที่เข้าร่วมกับชาวกะเหรี่ยงในการฟ้องร้องอุทยานฯ ได้ถูกมือปืนกระหน่ำยิงขณะขับรถบนถนนเพชรเกษม เขต จ.เพชรบุรี จนถึงแก่ความตาย เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วจับกุมนายชัยวัฒน์กับพวกรวม 5 คน ฐานร่วมกันฆ่าอาจารย์ป๊อด แต่สุดท้ายศาลยกฟ้องนายชัยวัฒน์กับพวก”

นั่นเป็นอีกเหตุการณ์สำคัญ ที่มีคนเกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องเรื่องนี้ถูกฆ่าตาย

รวมถึงบิลลี่ เป็นรายต่อมา โดยหายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 หลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แก่งกระจานควบคุมตัวฐานครอบครองน้ำผึ้งป่า แล้วนายชัยวัฒน์ก็ขับรถมารับตัวบิลลี่ไปด้วยตัวเอง ก่อนจะอ้างว่าได้ปล่อยตัวในเวลาต่อมา หลังจากว่ากล่าวตักเตือน แต่ก็ไม่ได้กลับมาพบลูกเมียและญาติมิตรอีกเลย

“โดยนายชัยวัฒน์ยืนยันว่าปล่อยตัวไปแล้ว และในภายหลังยังอ้างว่ามีคนพบเห็นบิลลี่ไปเดินซื้อของแถวชะอำ”

ระหว่างนั้น ตำรวจเข้าสืบสวนสอบสวนจนได้เบาะแสบางอย่าง แต่ไม่อาจสรุปได้ว่าบิลลี่อยู่หรือตาย

เบาะแสเบื้องต้นดังกล่าว นำไปสู่การยื่นร้องต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ปปท. ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบของนายชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ กรณีไม่นำตัวนายบิลลี่ส่งให้ตำรวจดำเนินคดีลักลอบเก็บของป่า แต่กลับปล่อยตัวไป จนเป็นเหตุให้นายบิลลี่หายตัวไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2557

ด้วยสำนวนของ ปปท.ในกรณีปฏิบัติหน้าที่มิชอบของนายชัยวัฒน์นี่เอง จึงเป็นสำนวนตั้งต้นที่เชื่อมต่อกับสำนวนของดีเอสไอ ที่สรุปในภายหลังว่าเป็นคดีฆาตกรรม

ทำให้ดีเอสไอนำคดีนี้ขึ้นสู่ศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งเป็นศาลที่รับคดีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง เพื่อลดความหนาแน่นคดีในศาลอาญา

โดยกระบวนการสืบพยานหลักฐานคดีฆาตกรรมนี้ ทำเหมือนกระบวนการในศาลอาญาทุกประการ

จากคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ควบคุมบิลลี่ไว้ข้อหามีน้ำผึ้งป่า แต่ไม่ส่งพนักงานสอบสวนตำรวจตามขั้นตอน จนต่อมาคดียกระดับเป็นคดีฆาตกรรม โดยจุดสำคัญของคดีนี้ก็คือ

“กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ระดมหลายฝ่ายร่วมกันคลี่คลาย โดยแต่งตั้งพนักงานอัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ และร่วมมือกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กระทั่งเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 และเมื่อวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2562 ได้ใช้เครื่องยานยนต์สำรวจใต้น้ำจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนักประดาน้ำจากกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ตชด. ตรวจหาพยานหลักฐานที่พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน

“จนพบชิ้นส่วนกระดูก ถังน้ำมัน 200 ลิตร เหล็กเส้น 2 เส้น ส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจน์ พบว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ มีรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูกจากการถูกความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200-300 องศาเซลเซียส ตรวจพบสารพันธุกรรมตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ แม่ของบิลลี่”

ต่อมาเดือนสิงหาคม นักประดาน้ำจาก ตชด. พบกระดูกเพิ่มอีก 20 ชิ้น

เป็นจุดสำคัญที่นำมาสู่ข้อสรุปว่า บิลลี่ถูกฆ่าและนำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี

“เป็นกระบวนการค้นหาพยานหลักฐาน ที่มีหลายหน่วยงาน รวมทั้งสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมมือกัน ยิ่งช่วยยืนยันถึงการทำงานที่ตรวจสอบได้ ลดข้อครหาสร้างพยานหลักฐานเพื่อใส่ร้ายกลั่นแกล้งได้อีกด้วย!”

วันนี้นายชัยวัฒน์และพวกยังแค่ถูกกล่าวหา ยังต้องขึ้นกับกระบวนการต่อสู้ในศาล และสุดท้ายคำพิพากษาจึงเป็นบทสรุป

แต่ความพยายามและการทุ่มเทของดีเอสไอรวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่ร่วมกันจนเกิดความคืบหน้าในระดับหนึ่งแล้วนั้น เป็นที่ชื่นชมอย่างมาก

จะช่วยฟื้นความเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไทย

รวมทั้งการรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวชาติพันธุ์ที่องค์กรระดับโลกเฝ้าดูอยู่!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0