โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วงค์ ตาวัน | คนหนีคดีไปต่างประเทศ

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 08 ก.ค. 2563 เวลา 05.51 น. • เผยแพร่ 08 ก.ค. 2563 เวลา 05.51 น.
วง2081

มีคนไทยที่หลบหนีคดีออกจากประเทศไปอยู่เมืองนอกมากมายหลายคน ทั้งที่โด่งดังระดับอดีตนายกรัฐมนตรี ระดับอดีตรัฐมนตรี ไปจนถึงมหาเศรษฐี พระก็มี รวมทั้งนักคิดนักเขียน นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง

หนีไปด้วยเหตุผลมากมายหลายประการ ตามแต่ปัญหาของแต่ละราย ซึ่งหลายรายผู้คนก็เรียกร้องให้ล่าตัวมาให้ได้ แต่หลายรายก็มีความเห็นอกเห็นใจเช่นกัน

เมื่อไม่นานมานี้ มีเรื่องราวที่กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง สำหรับคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา อายุ 35 ปี ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังระดับโลก ซึ่งหลบหนีไป หลังจากตกเป็นผู้ต้องหาซิ่งรถเก๋งสปอร์ตเฟอร์รารี่ชนดาบตำรวจสังกัด สน.ทองหล่อ จนถึงแก่ความตาย

เป็นอีกคดีที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์กันอื้ออึงว่าคงจะลอยนวลอยู่ในต่างประเทศจนกว่าคดีจะหมดอายุความ สงสัยจะสามารถรอดพ้นคุกตะรางไปได้ในที่สุด ตอกย้ำเรื่องคนจนคนรวยและระบบยุติธรรมไทย

ในท่ามกลางข้อสงสัยถึงขั้นตอนการดำเนินคดีและการติดตามตัวทายาทเครื่องดื่มชูกำลังคนดังรายนี้

“นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ออกมาอธิบายรายละเอียดได้อย่างครบถ้วน เน้นย้ำว่าคดีนี้ยังดำเนินต่อไป และมีเวลาอีก 7 ปีก่อนจะหมดอายุความ!”

โดยระบุว่า สำนวนคดีของนายวรยุทธนี้ อัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งฟ้องในข้อหา “ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี

มีอายุความในการติดตามตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีเพื่อยื่นฟ้องศาลภายใน 15 ปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 ดังนั้น คดีจึงจะครบกำหนดในวันที่ 3 กันยายน 2570 เท่ากับนับจากนี้จึงมีเวลา 7 ปีที่จะติดตามตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาลตามคำสั่งฟ้องของอัยการดังกล่าว

“โดยเมื่ออัยการได้มีคำสั่งฟ้องแล้ว แต่ตัวของนายวรยุทธหรือบอสได้หลบหนี ขณะที่คดีมีหมายจับที่ศาลได้ออกไว้แล้ว เมื่อหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศก็ต้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งประเทศไทยเองก็มีหลักเกณฑ์นี้อยู่ใน พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551”

คือ 1. การจะขอให้ต่างประเทศที่ได้พบตัวนายวรยุทธผู้ต้องหาที่เราต้องการนำกลับมาดำเนินคดีนั้น ประเทศไทยจะเป็นผู้ร้องขอ

2. ต้องเป็นลักษณะความผิดอาญาของทั้ง 2 ประเทศ สำหรับความผิดฐานขับรถประมาทชนคนตาย เป็นความผิดอาญาของกฎหมายทุกประเทศทั่วโลก ดังนั้น ในประเด็นนี้จึงไม่มีปัญหา และความผิดที่จะร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นจะต้องมีอัตราโทษประหารชีวิต หรือจำคุกอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป ซึ่งความผิดที่ได้สั่งฟ้องนายวรยุทธกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีอยู่แล้ว ถือเป็นอัตราโทษที่เข้าเกณฑ์

“3. ความผิดที่ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นจะต้องไม่ใช่คดีความผิดเกี่ยวกับการเมือง หรือความผิดเกี่ยวกับทหาร ที่เขาจะไม่ส่งให้กัน ซึ่งคดีของนายวรยุทธก็ไม่เข้าทั้ง 2 กรณีนี้ จึงสามารถร้องขอให้ส่งตัวได้”

4. ตำรวจไทยเอง หรือด้วยความร่วมมือกับตำรวจสากลหรืออินเตอร์โปลก็ได้ จะต้องสืบให้ได้ก่อนว่านายวรยุทธผู้ต้องหา พำนักอยู่ประเทศไหน

5. เมื่อรู้ว่าผู้ต้องหาพำนักอยู่ประเทศใดแล้ว ถ้าประเทศนั้นกับไทยมีสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ตกลงกันไว้ตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน

โดยให้ตำรวจรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมด ส่งให้อัยการสูงสุดของประเทศไทย ในฐานะผู้ประสานงานกลางตามกฎหมาย และอัยการสูงสุดก็จะจ่ายงานให้กับอธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ติดต่อประสานงานกับประเทศปลายทางขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่หากเป็นกรณีที่ประเทศปลายทางไม่มีสนธิสัญญากับไทย ก็จะไปสู่การปฏิบัติตามหลักการวิถีทางการทูต ซึ่งผู้ที่จะเดินเรื่องนี้ก็คือกระทรวงการต่างประเทศของไทย โดยประเทศไทยจะต้องแสดงเจตนาให้ชัดเจนว่า ภายหน้าในอนาคตหากมีคนของประเทศนั้นหนีมาอยู่ในประเทศไทย ถ้าเขาขอมาเราก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเช่นกันในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างกัน

นายประยุทธ เพชรคุณ ย้ำว่า ทั้งหมดนี้ต้องดำเนินการภายในอายุความของคดี นั่นก็คือ เหลืออีก 7 ปี!

ฟังคำชี้แจงของรองโฆษกสำนักอัยการสูงสุด เท่ากับยืนยันว่าคดีนี้ยังไม่ได้ล้ม ยังต้องดำเนินการต่อไป ภายในอายุความที่เหลือ เพียงแต่ในสายตาชาวบ้าน การที่ผู้ต้องหาเป็นระดับมหาเศรษฐี มีกำลังสำหรับหลบหนีไปไหนก็ได้ทั่วโลกอย่างสบายๆ และคงมีที่พักพิงหรูหรา แน่นหนา ยากจะสอดส่องหาตัวพบ

คงไม่ใช่เรื่องจะตามหาตัวเพื่อร้องขอให้นำกลับมาดำเนินคดีได้ง่ายๆ

แต่จากพฤติกรรมการกระทำผิด ทำให้ทั้งสังคมปรารถนาจะให้ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายได้ปรากฏ

“ไม่เช่นนั้นก็คงเป็นอีกคดีที่กระบวนการยุติธรรมไทยจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปอีกยาวนาน”

อีกทั้งที่น่าสนใจจากคำแถลงของอัยการก็คือ

ข้อหาขับรถประมาทชนคนตายนั้น ไม่ใช่กรณีที่ทั่วโลกจะละเว้น

“แต่ถ้าเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับการเมืองหรือการทหาร เขาจะไม่ส่งตัวให้กัน!!”

ทำให้ต้องนึกถึง 2 อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แม้จะโดนคดีทุจริตคดโกง มีหมายจับ มีการประสานไปยังตำรวจสากลชัดเจน

แต่ไม่เคยมีประเทศไหนในโลกที่ร่วมมือจับตัวส่งกลับมาให้ไทยดำเนินคดี

นั่นเพราะทั่วโลกตีความว่า เป็นการถูกโค่นล้มและไล่ล่าในทางการเมือง ไม่มองว่าเป็นคดีทุจริตตามที่ถูกกล่าวหาในไทยแต่อย่างใด

ทั้งทักษิณและยิ่งลักษณ์มีที่พักพิงในต่างประเทศอย่างเปิดเผย ไปไหนมาไหน ไปเที่ยวช้อปปิ้ง นัดลูกหลานไปเฉลิมฉลอง ก็มีภาพถ่าย มีคลิปให้เห็นในโลกออนไลน์อยู่เสมอๆ ทั้งยังได้รับเชิญไปร่วมเสวนา ไปปาฐกถา ไปอภิปราย ในเรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ เป็นข่าวตามสื่อทั่วโลก

เป็นกรณีที่ตำรวจไทยและตำรวจสากลไม่ต้องไปตามสืบเลย

แต่ก็ไม่มีใครร่วมมือจับตัวส่งมาให้

“นั่นเพราะกระบวนการในการล้มทักษิณและยิ่งลักษณ์ ไม่ยึดหลักประชาธิปไตย ไม่เป็นไปตามการตัดสินใจโดยประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง กลับใช้วิธีการรัฐประหาร ซึ่งประเทศที่เจริญทางปัญญาแล้วทั่วโลก ไม่มีประเทศไหนยอมรับวิถีทางนี้”

ยิ่งเมื่อมีการยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนไปตัดสินใจ กลับใช้ม็อบไปขัดขวางเลือกตั้ง พร้อมสร้างวาทกรรมต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เลือกตั้ง ทำให้เข้าทางตัน เพื่อให้เกิดรัฐประหาร

กระบวนการทั้งหมดนี้ จึงทำให้ทักษิณและยิ่งลักษณ์กลายเป็นผู้ถูกกระทำอย่างไม่ชอบธรรมในทางการเมือง

“ดังนั้น จะไปตั้งข้อหาทุจริตคดโกงมากมายขนาดไหน ก็ไม่มีประเทศไหนรับฟัง!”

ชะตากรรมของทักษิณและยิ่งลักษณ์นั้น ถ้ากระทำผิด ถ้ามีการคอร์รัปชั่นมากมายจริง หากมีการดำเนินคดีภายใต้สถานการณ์การเมืองปกติ ประเทศชาติเป็นประชาธิปไตยที่ทั่วโลกยอมรับ

“แล้วถ้าหลบหนีคดีในลักษณะเช่นนี้ มีแต่จะต้องหลบกบดาน ไม่ปรากฏตัวให้เห็น และทุกประเทศก็พร้อมจะช่วยจับตัวส่งกลับมาให้ไทยได้ดำเนินคดี”

ความชอบธรรมของคนหลบหนีคดีกับฝ่ายตามล่าตัวให้มาดำเนินคดี

ไม่ควรกลับข้างกัน ถ้าไม่เกิดการโค่นล้มทางการเมืองโดยใช้ท็อปบู๊ตและรถถัง!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0