โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วงการหนังสือเถื่อนในเปรู โดยเหล่าโจรสลัดที่มีเครื่องถ่ายเอกสารเป็นอาวุธ

The Momentum

อัพเดต 06 เม.ย. 2563 เวลา 12.03 น. • เผยแพร่ 06 เม.ย. 2563 เวลา 12.03 น. • การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์

In focus

  • ประเทศเปรูนับว่าขึ้นชื่อเรื่องหนังสือเถื่อนมากที่สุด แถมยังมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งบทความเรื่อง Life Among the Pirates ของแดเนียล อลาฆอน (Daniel Alarcón) นักเขียนชาวเปรู-อเมริกัน ถ่ายทอดสถานการณ์ดังกล่าวไว้ได้อย่างน่าสนใจ
  • วงการหนังสือเถื่อนในเปรูนั้นใหญ่โตและทำงานรวดเร็ว มีโรงพิมพ์เถื่อนมากมายในชุมชนแออัด มีคนที่เร่ขายหนังสือตามท้องถนน รวมถึงคนที่คอยขโมยหนังสือมาขายต่อในราคาถูก ‘โจรสลัด’ เหล่านี้มีเครื่องพิมพ์และเครื่องถ่ายเอกสารเป็นอาวุธ
  • การวัดผลว่าใครประสบความสำเร็จในอาชีพนักเขียน คือการดูว่าหนังสือของเขาถูกพิมพ์ออกมาขายแบบเถื่อนหรือยัง นักเขียนชื่อดังหลายคนถูกเอาชื่อไปใช้บนปกหนังสือที่เนื้อหาภายในไม่ใช่งานของพวกเขา แม้จะดูตลกร้ายแต่มันก็คือการตลาดอันน่าพิศวงของธุรกิจหนังสือเถื่อนในประเทศนี้ 
  • อีกสิ่งที่ทำให้วงการหนังสือเถื่อนของเปรูไม่เหมือนใคร ก็คือเหตุผลทางการเมือง ในยุคหนึ่งรัฐบาลต้องการกดดันสื่อฝ่ายตรงข้ามด้วยการสนับสนุนให้คนอ่านหนังสือต่างประเทศไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม กลายเป็นจุดเริ่มต้นของวงการหนังสือเถื่อนเปรู ไม่มีใครที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์เลยแม้แต่รายเดียว

“ถ้ามีคนขายหนังสือ ก็ต้องมีคนซื้อหนังสือ และถ้ามีคนซื้อก็ต้องมีคนที่อ่านมัน สำหรับประเทศจนๆ อย่างเปรู นี่ไม่ใช่เรื่องดีหรอกหรือ?”—แดเนียล อลาฆอน 

การละเมิดลิขสิทธิ์มีอยู่ทุกที่บนโลก นับตั้งแต่ภาพยนตร์ ดนตรี วิดีโอเกม และแน่นอนว่าหนังสือก็ไม่สามารถรอดพ้นวังวนเหล่านี้ไปได้ การละเมิดลิขสิทธิ์กลายเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายยังถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้น แม้ว่าการมองอย่างผิวเผินก็ทำให้เราสรุปได้แล้วว่าการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องไม่ชอบธรรม แต่ทำไมการละเมิดลิขสิทธิ์ยังคงดำรงอยู่ และมีทีท่าว่าจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบโต้กับกฎหมาย ซึ่งผมก็อยากจะเข้ามาถกเถียงเรื่องนี้ในมุมอื่นๆ บ้างโดยบทความนี้จะเน้นไปที่การละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือเล่มเท่านั้น ไม่รวมหนังสือประเภทอีบุ๊ค

ในไทยเองเราไม่ค่อยได้เห็นการละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือเป็นเล่มกันสักเท่าไหร่ แต่ก็ยังพอมีให้เห็นบ้างถ้าย้อนไปหลายสิบปีก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะหนังสือแปลที่ไม่ได้ขอลิขสิทธิ์มาอย่างถูกต้อง หรือมังหงะญี่ปุ่นที่ทำออกมาขายกันจนเป็นล่ำเป็นสัน เพราะฉะนั้นการประทับตราว่า ‘ลิขสิทธิ์ถูกต้อง’ บนหน้าปกหนังสือการ์ตูนจึงเป็นเรื่องจำเป็น เหมือนกับเป็นการแสดงให้เห็นว่าการพิมพ์การ์ตูนเหล่านี้นั้นไม่ได้ ‘ขโมย’ แต่ได้สิทธิ์มาอย่างถูกต้องชอบธรรม ขณะที่ปัจจุบันนี้เราแทบไม่เห็นหนังสือเถื่อนกันแล้ว เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ทั่วโลกเข้มงวดขึ้นมาก ส่วนมังหงะญี่ปุ่นก็ไปอยู่บนอินเทอร์เน็ตแทน อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

หนังสือผิดลิขสิทธิ์ (ต่อไปนี้ขอเรียกว่าหนังสือเถื่อน) กลับเป็นเรื่องปกติในประเทศเพื่อนบ้านเรา ถ้าคุณเดินเข้าร้านหนังสือภาษาอังกฤษมือสองในไทย ก็จะได้พบเจอกับหนังสือประเภทนี้ได้ไม่ยาก มันมาในรูปแบบของหนังสือถ่ายเอกสาร ที่ดูเพียงพริบตาเดียวก็รู้ว่าปลอม หนังสือปลอมเหล่านี้มีอยู่มากในประเทศข้างเคียง เช่นลาว เวียดนาม กัมพูชา สาเหตุที่มันเข้ามาในไทยได้ก็คือการที่นักท่องเที่ยวเอามาขายต่อให้กับร้านหนังสือ 

แน่นอนว่าถ้าไม่ติดใจเรื่องลิขสิทธิ์และรูปลักษณ์ภายนอกของมันแล้ว หนังสือเหล่านี้ก็เหมือนหนังสือทั่วไป เนื้อหาครบถ้วน อ่านได้เป็นปกติ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมร้านหนังสือต่างๆ ถึงรับซื้อไป เพราะมันก็ยังขายในราคาถูกได้อยู่นั้นเอง (ร้านผมก็มีหนังสือแบบนี้อยู่บ้าง) เมื่อครั้งที่ผมไปเวียดนามและมีโอกาสได้เข้าร้านหนังสือมือสอง ก็พบว่าหนังสือปลอมนั้นมีมากกว่าในไทยเสียอีก ซึ่งเจ้าของร้านตอบผมเพียงสั้นๆ ว่า มันเป็นเรื่องปกติของแถวนี้ เมื่อคุณหาหนังสือเล่มจริงไม่ได้ ทางเลือกสุดท้ายก็คือพิมพ์ออกมาขายเองซะเลย

หนังสือเถื่อนในเปรู

ข้ามน้ำข้ามทะเลไปที่อเมริกาใต้ ประเทศเปรูเป็นหนึ่งในดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องหนังสือเถื่อนมากที่สุด แถมยังมีความเฉพาะตัวที่ไม่มีประเทศไหนเหมือน โอกาสนี้ผมจะพาคุณไปสำรวจวงการหนังสือเถื่อนของเปรู โดยอ้างอิงมาจากบทความเรื่อง ชีวิตท่ามกลางโจรสลัด(Life Among the Pirates) ของแดเนียล อลาฆอน (Daniel Alarcón) นักเขียนชาวเปรู-อเมริกัน ที่ถ่ายทอดสถานการณ์ดังกล่าวไว้ได้อย่างน่าสนใจ

อลาฆอนเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์หนึ่งในวงการหนังสือเปรู คือผลงานชิ้นล่าสุดของเปาโล โคเอลโย (Paulo Coelho) นักเขียนชื่อดังชาวบราซิล ถูกวางจำหน่ายตามท้องถนนในเปรูก่อนใครเพื่อนถึงสี่เดือน แน่นอนว่าเป็นหนังสือเถื่อน นี่ไม่ใช่เรื่องที่แฟนคลับของโคเอลโยจะยอมรับกันได้ง่ายๆ มีการส่งหนังสือร้องเรียนมาที่สำนักพิมพ์ในเปรูให้เก็บหนังสือเหล่านั้นให้หมด ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือฉบับที่พิมพ์ออกมาเป็นฉบับที่ถูกแปลเป็นภาษาสเปนเรียบร้อยแล้ว ทั้งที่ยังไม่มีการแปลอย่างเป็นทางการออกมาเลย 

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าวงการหนังสือเถื่อนในเปรูนั้นใหญ่โตและทำงานรวดเร็วมาก จากสถิติพบว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องทำงานอยู่ในแวดวงนี้มากกว่าสำนักพิมพ์แบบถูกลิขสิทธิ์เสียอีกมีทั้งโรงพิมพ์เถื่อนมากมายในชุมชนแออัด ทั้งคนที่ตระเวนขายหนังสือตามท้องถนนราวกับเด็กขายพวงมาลัย ทั้งคนที่คอยขโมยหนังสือมาขายต่อในราคาถูก ‘โจรสลัด’ เหล่านี้มีจำนวนมหาศาล พวกเขามีเครื่องพิมพ์และเครื่องถ่ายเอกสารเป็นอาวุธแทนที่จะเป็นปืนหรือดาบ สำนักพิมพ์หลายแห่งในเปรูต้องพบกับจุดจบ รายที่รอดมาได้ก็ล้วนแต่เจ็บช้ำเจียนตาย

อย่างที่บอกไปตอนแรกครับว่าถ้ามองอย่างผิวเผิน ธุรกิจเหล่านี้ย่อมไม่ชอบธรรม แล้วสาเหตุอะไรล่ะที่หนังสือเถื่อนในเปรูถึงเฟื่องฟูขนาดนี้? อลาฆอนบอกว่ามันมีหลายสาเหตุด้วยกัน เริ่มตั้งแต่เหตุผลที่เรียบง่ายแต่ชวนขบคิด ก็คือการที่หนังสือในเปรูนั้นมีราคาแพงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะหาซื้อมาครอบครองได้ 

อย่าลืมนะครับว่าเปรูเป็นประเทศกำลังพัฒนา คนส่วนมากก็ยังมีรายได้น้อย หนังสือจึงกลายเป็นสิ่งที่แสนจะฟุ่มเฟือย การทำหนังสือเถื่อนออกมาขายจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าประหลาดใจเลย ยิ่งไปกว่านั้นคือร้านหนังสือ (แบบถูกลิขสิทธิ์) ในเปรูมีน้อยมากๆ ในเมืองหลวงอย่าลิมาเองก็มีไม่กี่ร้าน แถมตั้งอยู่แต่ในย่านคนรวย ไม่ต้องไปพูดถึงเมืองเล็กๆ เมืองอื่นที่ไม่มีร้านหนังสือเลยแม้แต่ร้านเดียว มันเป็นความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงทรัพยากรที่ประเทศกำลังพัฒนาล้วนพบเจอ 

ในเมื่อการกระจายสินค้ามักถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ หนังสือเถื่อนจึงเข้ามามีบทบาทอย่างมาก เพราะชาวเปรูเขาก็อยากอ่านหนังสือกันแต่ไม่มีเงินซื้อหรือหาซื้อไม่ได้ อัตราการรู้หนังสือของคนในประเทศก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นเป็นอุปสงค์ชั้นยอดที่เหล่าโจรสลัดมองเห็นโอกาสตรงนี้ และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี 

ในเปรู การจะวัดผลว่าใครประสบความสำเร็จในอาชีพนักเขียน คือการดูว่ามีหนังสือของเขาถูกพิมพ์ออกมาขายแบบเถื่อนหรือยัง นักเขียนชื่อดังหลายคนถูกเอาชื่อไปใช้บนปกหนังสือที่เนื้อหาภายในไม่ใช่งานของพวกเขา แม้จะดูตลกร้ายแต่มันก็คือการตลาดอันน่าพิศวงของธุรกิจหนังสือเถื่อนในประเทศนี้ 

สาเหตุต่อมาซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้วงการหนังสือเถื่อนของเปรูมีความเฉพาะไม่เหมือนใคร ก็คือเหตุผลทางด้านการเมืองในประเทศ ย้อนกลับไปเมื่อราวปี 1990 มาริโอ บาร์กัส ยอซาร์ (Mario Vargas Llosa) นักเขียนผู้มีชื่อเสียงของเปรู (รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2010) ได้ลงเล่นการเมืองและพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับ อัลแบโต ฟูจิโมริ (Alberto Fujimori) 

ภายหลังศึกเลือกตั้งไม่นานฟูจิโมริก็ออกมาประกาศยุบสภาและพยายามเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ทำให้ยอซาร์ที่เงียบมานานเลือกที่จะออกมาเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์ฟูจิโมริอย่างรุนแรง ด้วยการกล่าวหาว่าเขาเป็นเผด็จการ และเป็นภัยต่อประชาธิปไตย รวมไปถึงการเรียกร้องให้นานาชาติเข้ามาให้ความสนใจต่อสถานการณ์ดังกล่าว ฝ่ายฟูจิโมริไม่พอใจและทำการโต้กลับด้วยสื่อที่อยู่ฝ่ายเดียวกับเขา นั่นคือการทำลายชื่อเสียงของยอซาร์ให้ย่อยยับ ตราหน้าว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ 

บรรดาสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นศัตรูกับรัฐบาลต่างถูกกดดัน โจมตี จนถึงขั้นมีการลักพาตัวบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นทางรัฐบาลก็ออกนโยบายนำเข้าสิ่งพิมพ์จากต่างประเทศและทำการควบคุมสื่อเหล่านั้น ขายในราคาถูกเพื่อให้คนมาซื้อไปอ่าน ช่วงนี้เองที่ทำให้เหล่าโจรสลัดเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรัฐบาลก็ไม่ได้จะมาจับกุมลงโทษแต่อย่างใด กลายเป็นจุดเริ่มต้นของวงการหนังสือเปรู ไม่มีใครที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์เลยแม้แต่รายเดียว แน่นอนว่าเหล่านักเขียนย่อมได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดเพราะขาดรายได้ไปจากการถูกละเมิดลิขสิทธิ์นั่นเอง

สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ โจรสลัดเพิ่มจำนวนขึ้นมหาศาล ทุกมุมถนน ทุกทางเท้า ทุกย่านการค้า ทุกสถานที่ล้วนมีหนังสือเถื่อนให้เห็นและเลือกซื้อ เรื่องที่น่าเศร้าคือ แทนที่คนรายได้น้อยจะมีสิทธิ์เข้าถึงหนังสือราคาถูกมากขึ้น กลายเป็นว่าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางหรือผู้มีรายได้สูง กลุ่มคนเหล่านี้มีเงินเพียงพอที่จะซื้อหนังสือถูกลิขสิทธิ์ ในเมื่อมีลูกค้าจำนวนมาก คนขายหนังสือเถื่อนหลายคนจึงมีฐานะที่ดีขึ้นแบบผิดหูผิดตา พวกเขาดำเนินธุรกิจไม่ต่างไปจากขบวนการค้ายาเสพติด ทั้งการกำหนดราคาหนังสือ การกระจายหนังสือออกไปให้มากที่สุด การติดสินบนตำรวจ สิ่งเหล่านี้คือสาเหตุที่ทำให้การขายหนังสือเถื่อนไม่เคยหายไปจากเปรู ถ้าเจ้าไหนล้มไป ก็จะมีเจ้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเสมอ เพราะมันคือแหล่งทำเงินชั้นยอดนั่นเอง

ในเมื่อการพิมพ์และขายหนังสือเถื่อนเป็นเรื่องผิดกฎหมายชัดเจน แต่ทำไมถึงไม่มีมาตรการในการควบคุมหรือดำเนินคดีผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง? 

เรื่องนี้ซับซ้อนและไม่ง่ายที่จะอธิบาย เรารู้กันอยู่แล้วว่าเหล่าโจรสลัดนั้นมีมหาศาล การบุกจับกุมพวกเขาหนึ่งครั้งเท่ากับว่าจะต้องพบผู้ทำความผิดจำนวนมาก ถ้าต้องดำเนินคดีและจับพวกเขาเหล่านั้นเข้าคุก ก็เท่ากับว่าคุกในเปรูจะล้นทะลักอย่างไม่ต้องสงสัย และในเมื่อยังมีอาชญากรรมอื่นๆ อีกมากมายให้ตามกวาดล้าง เช่นพวกค้ายาเสพติด หรือแก๊งลักพาตัว คดีเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ขายหนังสือเถื่อนจึงกลายเป็นเรื่องรองไปโดยปริยาย 

ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายที่สุดคือมันไม่ร้ายแรงเท่าอาชญากรรมอื่นๆ ในประเทศ และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือพวกคนขายหนังสือติดสินบนเพื่อให้ธุรกิจของพวกเขาดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น แม้แต่การถูกดำเนินคดีก็สามารถจ่ายเงินเพื่อให้เรื่องจบ หนังสือเถื่อนที่ถูกยึดเป็นของกลางก็จะกลับไปสู่ตลาดภายในเวลาไม่นาน

เรื่องราวในบันทึกความทรงจำของอลาฆอนจบลงอย่างตลกร้าย เมื่อเขาเห็นหนังสือของตัวเองถูกหาบเอามาขายในท้องถนนของเมืองหลวงลิมา (นึกภาพคนขายพวงมาลัยตอนรถติดไฟแดงนะครับ) อลาฆอนตัดสินใจเรียกพ่อค้าหนังสือคนนั้นเข้ามา อายุน่าจะยังอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้น จากนั้นชี้ไปที่หนังสือที่เขาเป็นคนเขียนแล้วถามว่าราคาเท่าไหร่

“12 โซลครับ” เด็กหนุ่มคนนั้นตอบ“10 ได้ไหม” อลาฆอนต่อราคา“อย่างกไปหน่อยเลย นี่เพิ่งออกมาใหม่ๆ เลยนะ”“ผมรู้ว่าหนังสือใหม่ ก็ผมเป็นคนเขียนเอง”

เด็กหนุ่มคนนั้นอึ้งไปสักพัก อลาฆอนยื่นบัตรประชนของเขาออกมา เพื่อยืนยันว่าไม่ได้ล้อเล่น เด็กหนุ่มมองรูปในบัตรสลับกับใบหน้าของอลาฆอนซ้ำไปซ้ำมา จนตระหนักได้ว่าคนที่อยู่ตรงหน้าคือเจ้าของผลงานหนังสือเถื่อนที่เขากำลังเดินเร่ขาย เขายื่นหนังสือเล่มนั้นให้อลาฆอนพิจารณา ซึ่งดูแวบเดียวก็รู้ว่ามันเป็นของปลอม ปกหนังสือที่ใช้เวลาคิดออกแบบมาอย่างยากลำบาก กลับกลายเป็นแค่การถ่ายเอกสารอย่างลวกๆ

“คุณควรจะเอาหนังสือเล่มนี้ให้ผมฟรีๆ” อลาฆอนพูด ทำให้เด็กหนุ่มคนนั้นมีสีหน้ากังวลอย่างชัดเจน “รู้ไหมว่าคุณขโมยผลงานของผมไป”“รู้ครับ” เด็กหนุ่มพยักหน้า “แต่ผมเป็นพวกรายย่อย”เสียงของเขาแทบจะโดนกลบจากเสียงรถบนท้องถนน ยืนเหมือนคนหมดแรง มีแผงหนังสือวางพิงอยู่ที่ขา

อลาฆอนหยิบเงินออกมายื่นให้เขา 10 โซล เด็กหนุ่มคนนั้นยิ้ม การแลกเปลี่ยนเป็นอันเสร็จสิ้น และเรื่องราวก็จบลงตรงนี้

หนังสือเถื่อนในเปรูยังคงเป็นเรื่องแสนปกติสำหรับคนที่นั่น และไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักเขียนจะพบเจอหนังสือของตัวเองถูกพิมพ์ออกมาแบบผิดลิขสิทธิ์ และหนังสือที่พวกเขาแจกลายเซ็นก็มีแต่หนังสือเถื่อนเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าฟูจิโมริ ประธานาธิบดีผู้ที่ทำให้วงการนี้เฟื่องฟูจะลงจากอำนาจไปแล้ว แต่หนังสือเถื่อนก็ไม่เคยหายไปจากประเทศนี้ 

ในฐานะที่ผมเป็นคนขายหนังสือ ผมจึงพอเข้าใจว่าทำไมคนถึงอยากอ่านหนังสือ ยิ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยแล้ว คนก็ยิ่งไขว่คว้าหาความรู้กันมากขึ้น ผมเชื่อว่าหนังสือสามารถมอบพลังให้กับคนอ่านได้ เพราะในเมื่อผู้มีอำนาจก็ล้วนใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการปกครอง การที่เราจะสู้หรือต่อต้านคนเหล่านั้นได้ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ความรู้ ที่เป็นเหมือนอาวุธทางปัญญา การได้อ่านบทความของอลาฆอนจึงทำให้ผมเข้าใจอะไรมากขึ้นเกี่ยวกับประเด็นนี้ และเชื่อว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องปกติในสังคมที่ความรู้เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยที่ต้องจ่ายเงินในการเข้าถึงมัน 

อย่างนั้นก็ต้องมาตั้งคำถามว่า ประเทศไทยมีแหล่งความรู้สาธารณะเพียงพอหรือยัง? คนต้องจ่ายเงินมากเท่าไหร่ในการเข้าถึงความรู้? สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ด้วยการจัดกิจกรรมรักการอ่านเพียงอย่างเดียว เพราะมันเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำเชิงทรัพยากร คนบางกลุ่มมีโอกาสน้อยกว่าคนกลุ่มอื่นๆ และดูเหมือนว่ายังไม่เคยมีการพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แล้วถ้าหนังสือเถื่อนทำให้คนได้อ่านมากขึ้น มันก็ควรจะเป็นเรื่องดีไม่ใช่หรือ?

เราจะมองเรื่องลิขสิทธิ์กันอย่างไรดี?

มันเหมือนเป็นสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เราต้องมาย้อนคิดดูเสียก่อนว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ส่งผลอะไรบ้างต่อคนสร้างสรรค์ผลงาน 

ที่ชัดเจนก็คือทำให้พวกเขาถูกแย่งชิงรายได้ที่ควรจะเป็นของพวกเขา รวมไปถึงสำนักพิมพ์ บุคลากรคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหนังสือก็ได้รับผลกระทบไปเป็นทอดๆ ดังที่สำนักพิมพ์ในเปรูเกือบจะล่มสลายเพราะเหล่าโจรสลัด แต่ในอีกทางหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเหล่าโจรสลัดคือตัวกลางที่แพร่กระจายผลงานออกไปในวงกว้าง นักเขียนโนเนมหลายคนจำยอมที่จะให้มีการพิมพ์หนังสือของเขาแบบผิดลิขสิทธิ์ เพื่อที่จะให้คนที่อยู่ในชนบทได้อ่าน (เพราะที่นั่นไม่มีหนังสือของเขาวางขาย) 

หรือมาดูตัวอย่างคนที่มีชื่อเสียงขึ้นมาอีกหน่อยก็ได้ เวอร์เนอร์ เฮอร์โซก (Werner Herzog) ผู้กำกับสารคดีชาวเยอรมันเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “การละเมิดลิขสิทธิ์คือรูปแบบในการกระจายผลงานที่มีประสิทธิภาพที่สุด ถ้าคุณไม่เจอหนัง (ที่คุณอยากดู) ในเน็ตฟลิกซ์ หรือรายการทีวี คุณก็ต้องไปโหลดเถื่อนมา…เอาตรงๆ ผมไม่ได้ชอบใจนักหรอกกับอะไรแบบนี้ เพราะมันทำให้ผมสูญเสียรายได้ แต่ถ้าคุณจะไปโหลดหนังผมจากอินเทอร์เน็ตมาดู มันก็ไม่เป็นไรนะ อยากทำอะไรก็ทำเลย” 

หรือแม้แต่ เดฟ โกรล (Dave Grohl) สมาชิกวงฟูไฟเตอร์ส์ ก็ออกมาแสดงความเห็นว่าเขาไม่แยแสกับการที่เพลงของตัวเองถูกปล่อยให้ฟังบนอินเทอร์เน็ต “ผมว่ามันเป็นความคิดที่ดีนะ ก็แค่คนมาแลกเพลงกันฟัง ไม่เกี่ยวอะไรกับอุตสาหกรรมเพลงหรือเรื่องรายได้เลย ก็เหมือนคนเปิดวิทยุฟังอ่ะ มันไม่ใช่อาชญากรรมสักหน่อย โอเคแหละว่าผลกระทบมันก็มีบ้าง แต่ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น” 

ส่วน ทอม ยอร์ค (Thom Yorke) ให้ความเห็นสั้นๆ ว่า “พวกเขาแค่อยากฟังเพลงดีๆ แต่วิทยุแม่งเปิดแต่เพลงห่วยๆ การโหลดเถื่อนเลยเป็นทางเลือกหนึ่งไง”

หลายคนอาจจะมองว่าศิลปินพวกนี้ไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะว่ามีรายได้มหาศาลอยู่แล้ว แต่จุดสำคัญที่ผมอยากให้ชวนให้ลองคิดก็คือ ข้อถกเถียงเหล่านี้มันเป็นเรื่องของการกระจายผลงานด้วย ศิลปินหน้าใหม่หลายคนก็เลือกที่จะปล่อยผลงานของตัวเองออกมาฟรีๆ เพราะอยากให้คนเข้าถึงผลงานของตัวเองได้มากที่สุด และเมื่อเขามีแฟนคลับมากพอแล้ว การทำเงินก็อาจจะง่ายขึ้นตามไปด้วย สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ แพลทฟอร์มแบบไหนที่จะทำให้ทั้งคนฟังและศิลปินได้รับประโยชน์ และยุติธรรมสำหรับทั้งสองฝ่าย

ดังนั้นแล้ว การถกเถียงเรื่องลิขสิทธิ์จึงไม่ควรวนเวียนอยู่กับความคิดที่ว่ามันคือการขโมยเพียงอย่างเดียว เพราะมันจะทำให้มิติอื่นๆ ของการละเมิดลิขสิทธิ์ถูกละเลยไป ผมไม่ได้บอกว่าการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรมร้อยเปอร์เซ็น แต่การพิจารณาอย่างรอบด้านต่างหากที่จะทำให้เราพัฒนาอะไรใหม่ๆ ให้เป็นประโยชน์กับทั้งตัวเจ้าของผลงานและผู้บริโภค โดยเฉพาะคนที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรเหล่านั้นด้วย

อ้างอิง:

https://granta.com/life-among-the-pirates/ https://www.upvenue.com/article/1590-musician-stances-on-music-piracy.html https://www.screendaily.com/news/piracy-is-the-most-successful-form-of-distribution-says-werner-herzog-/5138586.article 

 

ที่มาภาพปก: granta.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0