โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ล้งแสบสวมสิทธิ์ทุเรียนไทย ลอบขนจากเวียดนามส่งจีน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 20 มิ.ย. 2562 เวลา 08.02 น. • เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2562 เวลา 08.01 น.
ทุเรียน-ภาพประชาชาติIMG_4840
แฟ้มภาพ
พ่อค้าทุเรียนแสบ ลักลอบนำเข้าทุเรียนกัมพูชา-เวียดนาม “สวมสิทธิ์” ตีตราแหล่งกำเนิดไทยส่งออกจีน หวั่นเจอโรค-แมลง โดนจีนขึ้น “แบล็กลิสต์” กรมวิชาการเกษตรตรวจเข้ม ล่าสุดจับได้ใน จ.จันทบุรี 20 ตัน ชี้ปีนี้ความต้องการบริโภคทุเรียนในจีนสูง ขณะที่ทุเรียนเวียดนามถูกจีนออกกฎห้ามนำเข้าเลยทะลักเข้าไทย

แหล่งข่าวจากวงการส่งออกทุเรียนไปตลาดจีน จังหวัดจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้เกิดความไม่ชอบมาพากลขึ้นในการส่งออกทุเรียนไทยไปตลาดจีน เนื่องจากล่าสุดพบว่าพ่อค้าไทยร่วมมือกับพ่อค้าต่างชาตินำทุเรียนเวียดนาม กับทุเรียนกัมพูชา สวมสิทธิ์ทุเรียนไทย ส่งออกไปขายในตลาดเจียงหนาน มณฑลกว่างโจว โดยดัมพ์ราคาขายลงต่ำมากแค่กล่องละ 600 กว่าหยวน (18 กก./กล่อง) เทียบกับต้นทุนส่งออกทุเรียนไทยที่ 740-750 หยวน/กล่อง นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้เคยตรวจพบพ่อค้าเวียดนามก็นำทุเรียนหมอนทองของเวียดนาม และกัมพูชา บรรจุกล่องที่ระบุเป็นทุเรียนไทย ส่งไปขายในจีนเช่นเดียวกัน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางป้องกันแก้ไขปัญหา มิฉะนั้นจะกระทบชื่อเสียงภาพลักษณ์การส่งออกทุเรียนไทยทั้งระบบ

จับพิรุธส่งออกสวนทางผลผลิต

กรณีดังกล่าวเบื้องต้นพบว่าขั้นตอนทั้งหมดทำในเวียดนาม แต่ปีนี้จีนเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่ไทยได้ส่งรายชื่อโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ที่ได้มาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) ที่ขึ้นทะเบียนกับทางการไทยไปให้จีนตรวจสอบ พ่อค้าเวียดนามจึงหันมาร่วมมือกับพ่อค้าไทยและพ่อค้าจีนที่เข้ามาทำล้งในไทย นำทุเรียนหมอนทองจากกัมพูชาเข้ามาบรรจุกล่องในไทยแล้วส่งออกไปจีน หรือบางครั้งนำกล่องทุเรียนไทยไปบรรจุในกัมพูชา และส่งกลับเข้ามาประเทศไทย เพื่อส่งออกผ่านทางเวียดนามไปตลาดจีน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2562 มีรายงานข้อมูลจากด่านโย่วอี้กวน มณฑลกว่างซี ว่ามีทุเรียนไทยส่งเข้าจีนทั้งหมด 51 ตู้ ทั้งที่ในความเป็นจริงการส่งออกทุเรียนจากไทย ไม่น่าจะเกิน 29 ตู้ เพราะขณะนี้ผลผลิตทุเรียนในภาคตะวันออกเริ่มมีปริมาณลดลงแล้ว

ไร้ PC เสี่ยงจีนขึ้น “แบล็กลิสต์”

นายสมพล ช่างบุ นายด่านตรวจพืชจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาการนำเข้าทุเรียนกัมพูชา เวียดนาม เข้ามาสวมสิทธิ์เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน เนื่องจากทุเรียนในภาคตะวันออกใกล้หมดฤดูกาล และมีราคาสูงขึ้น แต่ตลาดจีนยังมีความต้องการบริโภคทุเรียนสูง โดยหน่วยตรวจสอบพืชจันทบุรีได้ตรวจพบการนำเข้าทุเรียนกัมพูชา 20 ตัน มาบรรจุกล่องที่ล้งแห่งหนึ่งบริเวณเนินสูง จ.จันทบุรี จึงส่งทุเรียนลอตนี้กลับไปกัมพูชา อย่างไรก็ตาม การลักลอบนำเข้าทุเรียนโดยไม่ผ่านการตรวจสุขอนามัย น่าเป็นห่วงเรื่องโรคพืช แมลง เพราะหากจีนสุ่มตรวจพบไม่ได้มาตรฐาน จะตรวจสอบทุเรียนไทยเข้มงวดมากขึ้น และไทยอาจเสี่ยงถูกแบล็กลิสต์ได้

ปกติการนำทุเรียนผลสดจากกัมพูชา และเวียดนาม เข้ามาประเทศไทยสามารถทำได้ แต่ต้องผ่านพิธีการศุลกากร การตรวจสอบโรคเพื่อออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (phytosanitary certificate : PC) และต้องนำเข้าตามช่องทางที่ถูกต้อง คือ จุดผ่านด่านถาวรบ้านผักกาด และบ้านแหลม แต่ผู้ลักลอบนำเข้ามักเลี่ยงไปใช้จุดผ่อนปรน 3-4 จุด ที่ไม่มีหน่วยงานศุลกากร หน่วยตรวจสอบพืชประจำอยู่ ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาก็มีปัญหาการลักลอบนำเข้าทุเรียน เพราะพื้นที่ชายแดนมีช่องทางธรรมชาติหลายช่องทาง

ผิด กม.ศุลกากร-กักพืช

ประกอบกับปีนี้ จีนไม่อนุญาตให้นำเข้าทุเรียนเวียดนาม พ่อค้าจึงลักลอบนำมาบรรจุในไทยจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ตรวจพืชได้สอดส่องโดยตรวจสอบล้งในจันทบุรี เพื่อดูว่ามีทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาหรือไม่ เพราะมีความแตกต่างกันชัดเจนขั้นตอนการลงโทษการนำเข้าทุเรียนโดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายไทย จะต้องกล่าวโทษและส่งเรื่องให้

เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ยื่นฟ้องร้องต่อศาล เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาหาตัวผู้กระทำผิด ไม่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ทันที สำหรับโทษตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2551 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 4,000 บาท ไม่มีโทษจำคุก เนื่องจากทุเรียนไม่ได้เป็นพืชต้องห้าม

ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ผู้ใดนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของ รวมอากร หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ริบของนั้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

จี้ตั้งกฎทุเรียนสดห้ามนำเข้า

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แม้การนำเข้าทุเรียนผลสดจากกัมพูชา เวียดนาม สามารถทำได้อย่างถูกต้องตาม พ.ร.บ.กักพืช แต่ปัญหาขณะนี้คือการลักลอบนำเข้าโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร และไม่ผ่านการตรวจสอบโรคและแมลง ไม่มีใบรับรอง PC บางรายนำเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นทุเรียนไทยส่งออกไปจีน ส่วนการนำเข้าเป็นสินค้าส่งกลับ (reexport) สามารถทำได้ แต่ควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ และปกป้องชาวสวนทุเรียนไทย

“อนาคตอีก 2-3 ปี ถ้าปัญหาสวมสิทธิ์ทุเรียนกัมพูชา เวียดนามยังมีอยู่ จะกระทบต่อทุเรียนไทยแน่ ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหาทำได้โดยกรมวิชาการเกษตร ควรออกประกาศกำหนดให้ทุเรียนผลสดเป็น “สิ่งต้องห้ามนำเข้า” ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน แจ้งเวียนประเทศสมาชิก IPPC ภายใต้ WTO จากนั้นให้ผู้ประสงค์นำเข้าทุเรียนผลสดยื่นคำขอต่อกรมวิชาการเกษตร เพื่อขอให้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช ใช้เวลา 2-5 เดือน จากนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงประกาศเงื่อนไขการนำเข้าสิ่งต้องห้ามที่ผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงแล้ว ซึ่งมีข้อกำหนดพื้นฐาน คือ การขออนุญาตนำเข้า มีใบรับรอง PC ไม่มีศัตรูพืชกักกันของไทย ระบุแหล่งที่ปลูกประเทศนั้น ๆ นอกจากนี้ ก่อนการอนุญาตนำเข้าให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรไปตรวจระบบการส่งออกทุเรียน ระบุประเทศที่นำเข้าด้วย เช่นเดียวกับประกาศให้นำเข้ามะพร้าวจากเวียดนาม จึงจะนำเข้าได้

สวมสิทธิ์โทษจิ๊บจ๊อย

ขณะที่บทลงโทษกรณีตรวจพบผู้ส่งออก หรือล้งที่ได้ขึ้นทะเบียนได้รับ GMP มีทุเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน และระบุแหล่งกำเนิดสินค้าไม่ตรงตามจริง มีขั้นตอนการลงโทษ 3 ขั้นตอน คือ การแจ้งเตือน การพักใบอนุญาต และยกเลิกใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม ส่วนนี้เป็นมาตรการที่เป็นข้อตกลงโดยความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับใช้ตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมามีการแจ้งเตือนและพักใบอนุญาตทุกปี

ด้านนายภานุวัฒน์ ไหมแก้ว นายกสมาคมประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวว่า ปัญหาการนำทุเรียนเวียดนาม กัมพูชา สวมสิทธิ์ทุเรียนไทย ส่วนหนึ่งมาจากทุเรียนไทยมีราคาแพง 140-150 บาท/กก. ขณะที่ทุเรียนเพื่อนบ้านราคา 80-90 บาท/กก. และทุเรียนภาคตะวันออกเริ่มน้อยลง ในขณะที่ตลาดจีนยังมีความต้องการสูง แม้จะมีทุเรียนทางอุตรดิตถ์ ศรีสะเกษเริ่มทยอยออกมา แต่ราคายังสูงเช่นเดียวกัน สมาคมจึงได้ขอความร่วมมือสมาชิก 200 กว่าราย ให้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตลาดทุเรียนไทยในอนาคต หากจีนตรวจพบโรค แมลง และมีการตรวจเข้มทุเรียนไทย ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงราคาทุเรียนในตลาดด้วย

คลิกอ่านเพิ่มเติม… รุกนวัตกรรม “ทุเรียน” หนีบทเรียนซ้ำรอย

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0