โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ลุ้นไตรมาสสามเปิดเสรีดาวเทียม

Manager Online

อัพเดต 22 เม.ย. 2562 เวลา 02.16 น. • เผยแพร่ 22 เม.ย. 2562 เวลา 02.16 น. • MGR Online

กสทช.พร้อมรับช่วงดูแลดาวเทียมเบ็ดเสร็จหลังกฎหมายกสทช.ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว เร่งร่างหลักเกณฑ์ดาวเทียมรอบด้าน คาดภายในไตรมาสสามพร้อมเปิดเสรีดาวเทียมเต็มสูบ

พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2562 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมาซึ่งสาระสำคัญใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นสำคัญ รวมทั้งมีการแก้ไขในส่วนอื่นนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนการแก้ไขให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ นั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานด้านดาวเทียมทั้งหมด ซึ่งเป็นการทำหน้าที่แทนรัฐในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ นอกจากนี้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังกำหนดให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการโดยใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติเข้ามาให้บริการในประเทศ เป็นการเปิดกว้างให้มีทางเลือกในการใช้ประโยชน์ดาวเทียมที่หลากหลาย ลดการผูกขาด ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม กสทช.ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาต และ เงื่อนไขการอนุญาต และการอนุญาตและกำกับการประกอบกิจการโดยใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ แล้ว โดยมีตนเองเป็นประธานคณะทำงาน เมื่อช่วงเดือนม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมการจัดทำใน 3 เรื่อง คือ จัดทำแผนแม่บทกิจการดาวเทียม,การออกหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตการใช้ดาวเทียม และการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ (Landing Right) ซึ่งขณะนี้ได้มีการประชุมร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) นักวิชาการ แล้ว 3 ครั้ง คาดว่าจะสามารถนำร่างหลักเกณฑ์ทั้ง 3 เรื่องจากนั้นจึงนำเสนอต่อคณะกรรมการกสทช.เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายในเดือนมิ.ย. 2562 และรอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา จากนั้นจะสามารถเปิดให้ผู้สนใจทำธุรกิจดาวเทียมเข้ามาขออนุญาตประกอบกิจการได้ภายในไตรมาสสาม

พล.อ.ท. ธนพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับสิทธิในการใช้วงโคจร (ไฟลิ่ง) ที่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จองและใช้งานอยู่ กสทช.ต้องออกบทเฉพาะกาลขึ้นมาให้ไทยคมสามารถใช้งานได้ก่อนจนกว่าจะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2564 กสทช.จะนำเฉพาะไฟลิ่งที่ว่างอยู่มาจัดสรรให้กับผู้ที่สนใจในลักษณะบิวตี้ คอนเทสต์ต่อไป ส่วนประเด็นที่ไทยคมสนใจประกอบกิจการต่อในวงโคจรเดิมหลังหมดสัมปทาน หรือ ประเด็นที่จะเปิดลักษณะ PPP โดยใช้วงโคจรเดิมให้บริษัทใหม่เข้ามาทำต่อไปได้หรือไม่นั้น ยังอยู่ในช่วงหารือกันอยู่

“ตอนนี้มีสำนักงานภายในกสทช.ที่ทำเรื่องเกี่ยวข้องกับดาวเทียม 4-5 สำนักงาน ดังนั้นหากต้องการให้การบริหารดาวเทียมเป็นแบบวันสต็อป เซอร์วิส กสทช.ก็สามารถปรับโครงสร้างภายในด้วยการตั้งสำนักงานขึ้นมาใหม่ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการกสทช.ต้องตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง” พล.อ.ท. ธนพันธุ์ กล่าว

ขณะเดียวกันกฎหมายใหม่ยังมีการกำหนดสัดส่วนการให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งต้องจัดให้มีการใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือภาคประชาชน รวมกันในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 25% ของความสามารถในการส่งสัญญาณที่จะอนุญาตในแต่ละครั้ง และยังมีการแก้ไขการถอดถอน กสทช. จากเดิมผ่านการลงมติของวุฒิสภา เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้มีหน้าที่และอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาหรือส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกด้วย

ส่วนเนื้อหาที่มีการแก้ไขในส่วนอื่นนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญฯ นั้น มีเรื่องการจัดเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้กรณีการแจ้งเหตุฉุกเฉิน ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจะไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ และหากมีการโทรศัพท์ก่อกวนจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อรองรับการหลอมรวมทางเทคโนโลยี ทำให้เกิด การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และโทรคมนาคม ซึ่งต่อไปคลื่นความถี่จะสามารถนำมาใช้ข้ามอุตสาหกรรมได้ ไม่จำเป็นเฉพาะเจาะจงว่าเป็นคลื่นที่ประมูลมาเพื่อใช้ในกิจการใดกิจการหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว หากคลื่นความถี่นั้นถูกกำหนดในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ให้สามารถใช้งานได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะเริ่มแรกยังไม่มีผลใช้บังคับ จนกว่า กสทช. จะเสนอพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีผลใช้บังคับใช้ต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0