โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ลุคใหม่ ‘บ้านปู’ สู่เป้าหมาย Greener & Smarter 

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 16 มิ.ย. 2562 เวลา 05.35 น.

การทรานส์ฟอร์ม “บ้านปู” องค์กรพลังงานขนาดใหญ่ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และถือเป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ขณะนี้ แม่ทัพหญิง “สมฤดี ชัยมงคล” ที่ก้าวขึ้นนั่งในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) มากว่า 4 ปี บอกเลยว่า เป็นสิ่งที่ต้องทำ และทำไปแล้วเกินครึ่ง โดยทุกอย่างกำลังมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย 

การปรับเปลี่ยนที่เริ่มขึ้นจากเมกะเทรนด์ของโลก 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ความต้องการพลังงานสะอาด การนำเรื่องดิจิทัล หรือ Internet Of Things เข้ามาใช้ รวมไปถึงการบริหารห่วงโซ่อุปทาน ผ่านกระบวนการเทคโนโลนีดิจิทัล ที่ทำให้ห่วงโซ่มีความสั้นลง ต้นทุนที่ถูกลง บ้านปู จึงได้เปลี่ยนรูปโฉมธุรกิจใหม่ ด้วยกลยุทธ์ Greener & Smarter โดยการขยายธุริกจไปสู่พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว ซึ่งตอบรับกับเทรนด์ของโลก และการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาปรับใช้ 

ในกระบวนการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญ ซีอีโอผู้นำทัพ บอกว่า ต้องเริ่มจากการสอนให้คนของบ้านปู มีความกล้าคิด กล้าลงมือทำ ด้วยวัฒนธรรมของ Banpu Heart ที่เปิดกว้าง ให้พนักงานสามารถคิดได้ทุกอย่าง ถูกหรือผิดไม่เป็นไร ซึ่งตรงนี้ทำให้บ้านปูมีของใหม่ๆ ให้ได้ทดลอง ได้พัฒนา และสเกลอัพเพิ่มปริมาณ เมื่อความคิดนั้นนำมาใช้อย่างได้ผล สามารถนำมาใช้ได้จริง และสามารถพัฒนาออกสู่ตลาดได้ในที่สุด 

ความเป็น Banpu Heart ที่ประกอบด้วย Passion, Innovation และ Commitment  คือหัวใจสำคัญที่จะผลักดันองค์กรให้เดินหน้าตามเมกะเทรนด์ ที่สรุปออกมาเป็น 3 สูตร ได้แก่ สูตรที่ 1 Translate การถอดความหมายว่า เมกะเทรนด์ 3 ตัว ทำความเข้าใจ รู้ทิศทางที่จะไป ก็ไปสูตรที่ 2 คือ Transform นั่นคือ การเปลี่ยนทันที ซึ่งบ้านปูทำเมื่อ 4 ปีที่แล้ว สู่การเป็น Greener & Smarter โดยภาพของการขยายงาน การเป็น Greener บ้านปูสามารถทำได้แล้ว 100% จากการขยายงานสู่พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน ส่วนเรื่องของภาพธุรกิจดั้งเดิม เช่น พวกโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็กำลังค่อยๆ ทรานส์ฟอร์ม นำดิจิทัลมาใช้มากขึ้น ทำให้มีต้นทุนที่ลดลง มีประสิทธิภาพของงานมากขึ้น 

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งหน่วยงานใหม่ ชื่อ บ้านปู อินโนเวชั่น เวนเจอร์ส ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการคิดสิ่งใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านพลังงาน 

ความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา “สมฤดี” บอกว่า จากความชำนาญและความคุ้นเคยของทีมงาน ทำให้การต่อยอดของธุรกิจไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่สิ่งที่ท้าทาย คือ กฎระเบียบและนโยบายของแต่ละประเทศ ซึ่งบ้านปูมีการลงทุนทำธุรกิจใน 10 ประเทศ ทำให้ต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายข้อบังคับเข้ามาบริหารจัดการ ส่วนธุรกิจใหม่ที่เป็นเทคโนโลยีีด้านพลังงาน หน่วยงาน บ้านปู อินโนเวชั่น เวนเจอร์สที่ตั้งขึ้นมา คือ ตัวขับเคลื่อนสำคัญ จากอีโคซิสเต็มที่บ้านปูสร้างขึ้น จะเป็นแหล่งที่นำกลุ่มคนใหม่ๆ ที่เป็นสตาร์ตอัพ สถาบัน หรือองค์กรต่างๆ เข้ามาช่วยทำช่วยคิด ช่วยกันพัฒนา โดยบ้านปูอาจร่วมลงทุน หรือเป็นการนำเทคโนโลยีของเขามาใช้ก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม นอกจากนี้ บ้านปูยังนำผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลังงาน ทั้งจากไทยและต่างประเทศ เข้าช่วยเสริมกำลัง ทำให้การสร้างการทำงานผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มมีความเข้มแข็งมากขึ้น 

ซีอีโอบ้านปู เล่าว่า บ้านปูได้ขยายห่วงโซ่ธุรกิจจากผู้ผลิตเชื้อเพลิงพลังงานเป็นผู้จัดหาพลังงานครบวงจร ครอบคลุม 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ “กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน” ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การตลาด การค้า โลจิสติกส์ และการจัดหาเชื้อเพลิง และสายส่ง “กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน’” โรงไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป และจากพลังงานทดแทน และ “กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน” ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจร ระบบจัดเก็บพลังงาน และระบบการจัดการเทคโนโลยีพลังงาน

เป้าหมายการทำธุรกิจของบ้านปูในช่วง 2-5 ปีข้างหน้า หรือระหว่างปี 2562-2566 จะเน้นการเติบโตจาก “ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ” (Gas Business) และ “พลังงานหมุนเวียน’’ สอดคล้องกับการเตรียมงบลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 15,000 ล้านบาท ที่เข้าซื้อกิจการแหล่งก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ โดยใช้เงินลงทุนไปแล้ว 520 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะลงทุนเพิ่มอีก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งในปี 2561 ได้สร้างกระแสเงินสดมาแล้ว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อลงทุนเพิ่ม ก็จะมีกระแสเงินสดเพิ่มได้อีกกว่าเท่าตัว

ผู้บริหารบ้านปู ให้ข้อมูลว่า จากธุรกิจหลักของบ้านปู ยังคงเป็นธุรกิจดั้งเดิม ที่มีสัดส่วนกระแสเงินสดประมาณ 70% ซึ่งจะนำไปเพื่อพัฒนากรีน บิสิเนสต่างๆ เช่น พลังงานทดแทน พลังงานยั่งยืน เทคโนโลยีด้านพลังงาน และก๊าซ โดยเป้าปี 2568 ธุรกิจดั้งเดิม ธุรกิจเหมืองแร่ จะลดจาก 70% เหลือ 40% ธุรกิจไฟฟ้า พลังงานพื้นฐานอยู่ที่ 20% และไฟฟ้าพลังงานทดแทน จะอยู่ที่ 20% ส่วนก๊าซ จะโตเร็วมาก จะเพิ่มจากปัจจุบัน ไปอีก 10 -15% และธุรกิจเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 0% จะขยับไปที่ 5-10% พอร์ตของธุรกิจบ้านปู จะเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาดเกินกว่า 50% ในอนาคต โดยธุรกิจดั้งเดิมไม่ขยายเพิ่ม แต่จะมีการเติบโตตามความต้องการของตลาด คือ ประมาณปีละ 4-5% ซึ่งถือว่า บ้านปูได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจมาถูกทาง เพราะเป็นไปตามเทรนด์การใช้พลังงานของโลกที่สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดจะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ  

จากการปรับเปลี่ยนตลอดระยะเวลา 4 ปี ซีอีโอ บ้านปู บอกว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดคือ การสร้างพื้นฐานธุรกิจของบ้านปู ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อให้บ้านปูเติบโตอย่างเข้มแข็งและมั่นคง ซึ่งขณะนี้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยดี โดยการสนับสนุนจากพนักงาน ผู้บริหาร และคณะกรรมการของบ้านปู รวมทั้งสถาบันภายนอก ซึ่งถือเป็นพลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนทุกอย่าง ให้เป็นไปตามนโยบายด้านความยั่งยืนของบ้านปู

“คุณชนินท์ ว่องกุศลกิจ ผู้ก่อตั้งบ้านปู เคยบอกก่อนหน้านี้ว่า เราอยากสร้างให้บ้านปูเป็นสถาบัน ที่อยู่ได้ด้วยคน วัฒนธรรมองค์กร และเติบโตไปได้ด้วยกลยุทธ์ เมื่อบ้านปู กลายเป็นสถาบันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารคนไหนเข้ามาบริหารรับช่วงต่อ บ้านปูก็จะมีทิศทางการเติบโตได้แบบยั่งยืน และยังเป็นผู้นำด้านพลังงานแบบครบวงจร ก็คิดว่าตอนนี้เราทำได้เกินครึ่งแล้ว และต้องสำเร็จก่อนเกษียณแน่นอน”

นี่คือ คำมั่นสัญญาที่ ผู้นำหญิงแห่งบ้านปู “สมฤดี ชัยมงคล” ให้ไว้ในตอนท้าย

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,478 วันที่ 13 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0