โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ลึกๆ ผู้ชายสมาร์ต "ไสลเกษ" ประธานศาลฎีกาคนที่ 45 "ชีวิตไม่ต้อง 1 เลข 2 มงคล"

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 18 ม.ค. 2563 เวลา 07.13 น. • เผยแพร่ 18 ม.ค. 2563 เวลา 07.13 น.
โล่2056

สัปดาห์นี้เปลี่ยนจากความเคลื่อนไหวในยุทธจักรโล่เงิน มาทำความรู้จักคนในแวดวงตาชั่งบ้าง

ความยุติธรรมต้องไม่มีวันหยุด เป็นคำมั่นของ “ไสลเกษ วัฒนพันธุ์” ประมุขตุลาการคนที่ 45 ที่ได้ประกาศไว้เป็นนโยบายจนเกิดการเปลี่ยนเเปลงในศาลยุติธรรมว่าทุกวันจะต้องให้โอกาสมีผู้ต้องหาในการยื่นให้ศาลพิจารณาประกันได้ อันเป็นการย้ำในหลักการว่าตุลาการนั้นมีหน้าที่หลักคือคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ

ไสลเกษ ประธานศาลฎีกา ได้มีโอกาสเล่าเส้นทางชีวิตกับ “มติชนสุดสัปดาห์”

ย้อนให้ฟังถึงวัยเด็กที่แม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ว่า เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดป้อมแก้ว จนจบชั้น ป.4 ก็ย้ายไปอยู่โรงเรียนเมืองสมุทรสงครามในช่วง ป.5-ป.7 และไปต่อ ม.ศ.1-ม.ศ.5 ที่โรงเรียนศรัทธาสมุทร

“ผมเป็นคนธรรมดา แม่เป็นครูประชาบาล พ่อเป็นเสมียนศาล ในวัยเด็กเห็นพ่อทำงานแล้วก็ไม่ได้มีความคิดว่าอยากเป็นนักกฎหมายหรืออยากจะเป็นศาล แต่มีแม่เป็นครู ก็อยากรักษาหน้าแม่ ว่าต้องดูเก่งกว่าคนอื่น แต่จะเก่งและฉลาดต้องอ่านหนังสือ ต้องสู้” ไสลเกษเล่าถึงตัวเอง

“ผมเป็นคนไม่ค่อยยอมแพ้ ถ้าเรียนต้องเอาชนะเพื่อนให้ได้ มันเป็นแรงขับเคลื่อนจากการที่เป็นลูกครู การเรียนที่สมุทรสงครามไม่รู้จักคำว่าที่ 2 เป็นเด็กเรียนมาตลอด เรียนสายวิทย์ สอบเอ็นทรานซ์เลือกแพทย์แต่ทิ้งท้ายด้วยนิติศาสตร์ ในที่สุดก็สอบแพทย์ไม่ได้แม้แต่คณะเดียว แต่ขณะที่แม่ผมกลัวผมสอบได้ เพราะถ้าสอบได้หมอ แม่จะเอาเงินที่ไหนส่งเรียน สมัยนั้นก็ไม่รู้รายละเอียดว่ามีทุน ก็บอกแม่ว่าได้เลือกคณะนิติศาสตร์ไว้ด้วย”

เขาบอกว่า ช่วงวันสอบถือเป็นเด็กบ้านนอกจริงๆ แม่เอาไปฝากไว้กับเพื่อนที่มีตึกอยู่แถวเจริญผล ปรากฏว่าไม่คุ้นเคยกับสภาพกรุงเทพฯ ที่มีรถวิ่งผ่านตลอด รู้สึกมันอึกทึกครึกโครม จนปรับตัวไม่ทัน นอนไม่หลับทั้งคืน พอไปสอบ ปรากฏว่าช่วงบ่ายเกิดหลับในห้องสอบ

แต่ก็ยังโชคดีสอบได้ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

พอเข้าไปเรียนก็เจียมเนื้อเจียมตัว คนอื่นคุยเรื่องที่ตัวเองไม่รู้ เลยยิ่งรู้สึกต้องมุมานะ

มีการติวกวดวิชากัน ก็ไปนั่งห้องสมุดอ่านหนังสือ พอทำข้อสอบได้ ความมั่นใจก็มีมากขึ้น คะแนนก็ค่อนข้างดี

พอขึ้นปี 2-3 มีความรู้สึกว่าเกียรตินิยมน่าจะได้ จึงยิ่งตั้งใจเพราะมีเป้าหมายของชีวิตแล้ว

ในที่สุด “ไสลเกษ” ได้เกียรตินิยมอันดับ 2 ซึ่งในรุ่นมีคนดังที่เป็นที่รู้จักคือ ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อ.นิติศาสตร์ มธ. ที่เป็นตัวแทนคนตาบอด ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ในรุ่น

“พอเรียนจบ ได้ข่าวเพื่อนไปเรียนต่างประเทศก็คิด อย่างเรานี่จะไปเรียนบ้างได้หรือไม่ สมัยนั้นภาษาอังกฤษถ้าผ่านวิชาบังคับปี 1 ไปแล้วต่อไปจะเรียนหรือไม่ก็ได้ ก็เลยทิ้งไป ก็เลยต้องรื้อฟื้น ซื้อสติวเดนต์วีกลี่มาอ่าน และก็ยกระดับไปเดอะเนชั่น และบางกอกโพสต์”

ตอนนั้นเขาเล่าว่า อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอย่างคุ้มค่ามาก อ่านทุกคอลัมน์ ตอนนั้นทำงานเป็นนิติกรกรมแรงงานไปด้วย

เจ้าตัวเล่าถึงเคล็ดลับเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ดีด้วยว่า “มีเพื่อนฝรั่งมาสอนว่า หลักการเรียนภาษาอังกฤษให้เก่งต้องเลือกสิ่งที่เราชอบ ก็เลยเอาเพลย์บอยมาให้อ่าน ภาษาอังกฤษก็เก่งเร็วขึ้น เพราะมันมีความตื่นเต้นในการอ่าน เลยมีแรงจูงใจ”

พอปีต่อไปสอบเนติบัณฑิตได้ใน 1 ปี แต่สมัยนั้นยังสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาไม่ได้เพราะอายุไม่ถึง 25 ปี อายุขณะนั้นประมาณ 23 ปี 

“ครั้นพอเราเรียนกฎหมายมาแล้ว เส้นทางที่เราหวังไม่ศาลก็ต้องอัยการ แต่ถ้าให้เทียบระหว่างศาลกับอัยการ เลือกศาลมากกว่า พออายุถึงก็สอบ สอบติดเลย มันคงเป็นเรื่องชะตาชีวิต ที่ปีนั้นมีสอบชิงทุน ก.พ. สอบอยู่ 2 ครั้ง ประกาศผลออกมาเป็นตัวสำรองอันดับ 2 เป็นทุนของกระทรวงยุติธรรม ทางด้านอาชญาวิทยาที่สหรัฐอเมริกา พอดีสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ก็เข้ามาอบรม ระหว่างอบรมได้ครึ่งปี คนที่สอบทุน ก.พ.ได้ที่ 1 สละสิทธิ์เพราะไม่อยากกลับมารับราชการ เลยมีหนังสือมาถามว่าผมจะรับทุนหรือไม่ ก็ตอบว่ายินดีรับทุน แต่ต่อรองว่าต้องให้อบรมผู้ช่วยฯ จนได้โปรดเกล้าฯ ก่อน ที่ต้องต่อรองก็ตอนนั้นจบปริญญาโทยังได้เงินเดือนน้อยกว่าศาล แต่ ก.พ.ก็ยอม”

ไสลเกษบอกว่า “ตอนนั้นรู้สึกว่าชีวิตที่เริ่มต้นของการประกอบอาชีพและการเรียนเลข 2 นี่เป็นมงคลมาก ผมสอบทุนได้ที่ 2 สอบผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ที่ 2 ก็เลยมีความรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเลข 1 ก็ได้ เลข 2 ก็ทำอะไรได้เยอะ”

“อย่างในรุ่นที่ผมได้เป็นประธานศาลฎีกา เพราะคนที่สอบได้ที่ 1 อายุเยอะกว่า แล้วก็ช่วงวิกฤตตุลาการได้ลาออกไป ส่วนอันดับ 2 ที่ได้คู่กันอายุมากกว่าเกษียณไปก่อน คือมันต้องมีดวงนะ โชคชะตาฟ้าลิขิต”

นอกจากนี้ยังเล่าถึงชีวิตนักเรียนนอกว่า “ตอนเรียนที่นิวยอร์ก รู้เลยว่าชีวิตจากคนที่มีความมั่นใจ สู้ได้ทุกเรื่อง พอชีวิตจริงมันไม่ใช่ คือ พื้นฐานภาษาอังกฤษไม่แน่นจริง สอบได้เพราะซื้อคู่มืออ่าน ผมฟังอาจารย์ฝรั่งพูดไม่รู้เรื่องเลย แต่ถอยไม่ได้ เพราะนักเรียนทุนถ้าเรียนไม่จบ ถือว่าเสียคน ถอยไม่ได้ก็ต้องสู้ ก็หาเพื่อนที่เป็นคนอเมริกัน ทั้งเล็กเชอร์และช่วยหลายอย่าง เกือบตก แต่ก็รอดมาได้ ตอนอยู่ที่นั่น มีคนเตือนว่าอย่าไปเล่นสเก๊ตน้ำแข็ง แต่เพื่อนฝรั่งที่ดูแลเราก็คะยั้นคะยอ สุดท้ายล้มกระดูกขาร้าวต้องใส่เฝือก ฤดูหนาวอุณหภูมิ -30 ต้องใช้ไม้ค้ำยันนั่งรถเมล์ไปเรียน ก็ได้ประสบการณ์ที่ไม่มีใครมี ก็ 2 ปีจบก็กลับมาทำงาน”

ส่วนแรงบันดาลใจในชีวิตจากผู้ชายคนนี้ เขาบอกว่า “แม่คือแรงบันดาลใจ เป็นต้นแบบของชีวิต แม่เป็นครูเงินเดือนไม่เยอะแต่เก็บหอมรอมริบส่งลูก 3 คนเรียนหนังสือจนจบ แม่ประหยัด พ่อกับแม่ไม่ค่อยได้สอนเชิงคุณธรรม แต่ว่าพ่อ-แม่มีวัตรปฏิบัติที่ไม่เบียดเบียนใคร หลายอย่างที่เราเห็น ทำให้รู้สึกว่าเราต้องสู้”

ส่วนสิ่งศักดิ์สิทธิที่นับถือนั้น เจ้าตัวบอก “เด็กทุกคนที่เกิดที่แม่กลองจะนับถือหลวงพ่อบ้านแหลม ผมก็พกติดตัวมาจนถึงปัจจุบันนี้”

และได้สะท้อนถึงสิ่งที่เป็นแง่คิดว่า “ธรรมศาสตร์ยุคที่ผมเรียนเต็มไปด้วยเสรีภาพ เรียกร้องความเสมอภาค คนจน คนรวย รุ่นพี่บอกว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” มันก็มีผลกับเรา เวลาเราทำงาน รู้สึกเลยว่าอย่าไปสร้างความเดือดร้อนชาวบ้าน เพราะเขาทุกข์เดือดร้อนกว่าเรามาก สมัยนั้นเพื่อนผมที่รักความเป็นธรรมแล้วทนอยู่ไม่ได้ก็เข้าป่า ตรงนี้น่าเห็นใจ และมีอิทธิพลต่อการทำงานเราพอสมควร”

“ความรู้สึกมีตำแหน่งยศแล้วจะทำตัวเหนือชาวบ้านเป็นข้อเตือนใจ ว่าใหญ่โตอย่าข่มเหงชาวบ้าน อันนี้ธรรมศาสตร์สอนไว้” ประธานศาลฎีกากล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0