โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

"ลิบร้า" ก้าวใหญ่ๆของเฟซบุ๊ก

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2562 เวลา 22.01 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

สร้างสตอรีได้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง เมื่อเฟซบุ๊กประกาศเปิดตัว “ลิบร้า” Libra สกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่ทำงานบนเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) รองรับผู้ใช้งานระดับพันล้านคน โดยคาดหวังให้เป็นสกุลเงินของโลก

ชื่อชั้นระดับเฟซบุ๊ก ทำอะไรย่อมต้องเป็นที่ฮือฮาเสมอ พอเปิดตัวปั๊บ สำนักข่าวก็แห่กันทำข่าว ออกบทวิเคราะห์มาให้อ่านกันไม่หวาดไม่ไหว ขณะที่หุ้นเฟซบุ๊กทะยานขึ้นไปมากกว่า 1% แม้สุดท้ายปิดตลาดสะดุดความสำเร็จ ติดลบไป 0.3%

กระนั้น บรรดานักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีทต่างกรี๊ดสลบกับแนวคิดของเฟซบุ๊ก ที่ต้องการสร้างโอกาสด้านการเงินให้กับคนกว่าพันล้านคนทั่วโลกที่เข้าไม่ถึงบริการของธนาคาร นอกจากนั้น ความทะเยอทะยานในครั้งนี้ ยังแสดงให้เห็นว่าเฟซบุ๊กต้องการขยับสู่การเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของโลก สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำการค้าออนไลน์ผ่านเงินสกุลลิบร้า และสิ่งเหล่านี้ส่งผลดีต่อราคาหุ้นทั้งสิ้น

โปรเจกต์ลิบร้าเริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายปี 2560 บนชายหาดของประเทศโดมินิกัน รีพับลิก โดยเดวิด มาร์คัส ผู้บริหารของเฟซบุ๊ก ซึ่งเดิมเคยเป็นประธานของเพย์พัล (Paypal) ธนาคารออนไลน์ ซึ่งเป็นตัวกลาง คอยรับ–ส่งเงินออนไลน์จากผู้ใช้ทั่วโลก

เดวิด มาร์คัส ซึ่งอยู่ระหว่างพักร้อนกับครอบครัว ปิ๊งไอเดียถึงการสร้างสกุลเงินที่จะเป็นหลักในการใช้จ่ายบนโลกอินเตอร์เน็ต และเป็นช่องทางชำระเงินของคนทั่วโลกที่มีมือถือ แต่ไม่มีความสามารถในการเปิดบัญชีหรือเข้าถึงระบบแบงก์ และใครเล่าที่จะทำโปรเจกต์นี้ได้ดีไปกว่าเฟซบุ๊ก ซึ่งมีทั้งเทคโนโลยี เงิน และฐานลูกค้ามากกว่า 2,000 ล้านรายทั่วโลก

มาร์คัส ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าทีม เฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ ส่งข้อความถึงมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กทันที บอกว่าถึงเวลาแล้วที่เฟซบุ๊กจะพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง โดยเขามีไอเดียที่ชัดเจน เป็นจริง และน่าเชื่อถือ ซึ่งซักเกอร์เบิร์กตอบรับทันที เพราะคู่แข่งทั้งหมดของเฟซบุ๊ก ตั้งแต่แอปเปิล วีแชท รวมทั้งกูเกิล ต่างกระโจนเข้าเป็นผู้เล่นในตลาดการ เงินโลกแล้วทั้งสิ้น

นอกจากนั้น ในฐานะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหน้าที่ของเฟซบุ๊กที่ต้องดิ้นรนสร้างโอกาสใหม่ๆ เพิ่มรายได้ ให้เป็นที่พึงพอใจของผู้ถือหุ้น เพราะฐานสมาชิกมากกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลกเริ่มเข้าใกล้จุดอิ่มตัว ขณะที่กลเม็ดเคล็ดลับสร้างรายได้ผ่านโฆษณา ถูกงัดออกมาใช้จนเริ่มหมดมุก

Wired.com รายงานเหตุผลที่เฟซบุ๊กเลือกใช้ชื่อ “ลิบร้า” ว่ามาจาก 3 เหตุผล 1.คำว่า Libra เป็นมาตรวัดในสมัยโรมัน 2.Libra เป็นจักรราศีที่หมายถึงความยุติธรรม และ 3.Libra พ้องกับ Libre ในภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่าฟรี อิสระ

ในฐานะสกุลเงินดิจิทัล เฟซบุ๊กต้องการให้ลิบร้าเป็นเงินที่ใช้จ่ายได้อย่างอิสระบนโลกออนไลน์ ในราคายุติธรรม ขณะที่การโอนเงินภายใต้ระบบธนาคาร ยังติดกับดักทั้งเรื่องค่าธรรมเนียมและอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งผันผวนตามค่าเงินในแต่ละประเทศ เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

เฟซบุ๊กยังเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับลิบร้า ด้วยการออกแบบให้มันเป็นสกุลเงินที่มีตะกร้าเงินหนุนหลัง หรือที่เรียกกันว่า Stable Coin โดยเงินหนุนหลังเป็นสินทรัพย์ในสกุลเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งน่าจะหนีไม่พ้นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโร และเยน ต่างจากบิทคอยน์ สกุลเงินดิจิทัลในตำนาน ซึ่งมีความผันผวนสูงมาก เพราะไม่มีเงินสำรองใดๆหนุน หลัง ได้มาโดยการใช้ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ขุด หรือที่เรียกกันว่า Mining และแทนที่ จะเดินหน้าโดยลำพังให้เป็นที่กังขา จับตามอง เฟซบุ๊กยังไปชวนพันธมิตรอีก 28 รายมาร่วมลงขันในตะกร้าเงิน จัดตั้งหน่วยงานอิสระในชื่อ Libra Association สำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ มีหน้าที่กำกับ ดูแล บริหารจัดการระบบ และทำงานร่วมกับหน่วยงานกำหนดนโยบายในแต่ละประเทศ โดยพันธมิตรดังกล่าว มีตั้งแต่วีซ่า มาสเตอร์การ์ด Spotify เพย์พัล อีเบย์ โวดาโฟน อูเบอร์ และธนาคารโลกเพื่อสตรี เป็นต้น

ขณะที่กิตติวัฒน์ มโนสุทธิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ดีพเชน เทคโนโลยี จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ให้ความเห็นว่า สิ่งที่น่ากังวลก็คือ การกำกับดูแลที่อาจก้าวไม่ทันบริการทาง การเงินที่ซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะการใช้เงินดิจิทัลเป็นแหล่งในการฟอกเงินของเครือข่ายอาชญากร

กรณีของลิบร้านั้น นอกเหนือจากความสะดวกสบายและลดค่าใช้จ่ายในการโอนเงินภายใต้ระบบแบงก์แล้ว ในประเทศกำลังพัฒนาที่มีเงินเฟ้อสูงๆ หรือเงินไม่มีค่า ประชาชนอาจหันไปถือเงินลิบร้าแทน ซึ่งน่าจะเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าคนไทยจะใช้เฟซบุ๊กกันเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากปัจจุบันการโอนเงินผ่านระบบออนไลน์ของไทย ไม่มีค่าธรรมเนียมแล้ว ลิบร้าจึงอาจไม่จูงใจพอ แต่อาจเหมาะกับการใช้ซื้อสินค้าข้ามประเทศ ขณะที่ค่าเงินบาทก็ยังมีความแข็งแรง ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหันไปถือเงินสกุลอื่น การใช้เงินลิบร้าในประเทศไทย จึงน่าจะเป็นในลักษณะของการใช้ตามแฟชั่น ในฐานะของใหม่ ของแปลกมากกว่า

ส่วนการเก็งกำไร ก็ไม่ได้น่ากังวลนัก เนื่องจากเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีตะกร้าเงินรองรับ ค่าเงินจะเคลื่อนไหวเหมือนเงินสกุลหลัก ไม่ผันผวนรุนแรง ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนต่อเงินไทยจะเป็นเท่าไรนั้น ต้องรอประกาศสัดส่วนสกุลเงินที่จะใช้หนุนหลังก่อน ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานเกินรอ เพราะเฟซบุ๊กมีกำหนดเปิดตัวลิบร้า ภายในครึ่งแรกของปี 2563.

ศุภิกา ยิ้มละมัย

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0